เอกสารต่างชาติระบุชัดแจ้ง ไฉนคนรับสินบินยังลอยนวล?

เอกสารต่างชาติระบุชัดแจ้ง ไฉนคนรับสินบินยังลอยนวล?

จากกรณีโรลส์-รอยซ์ ถึงสายเคเบิลและย้อนไปถึงดีเอจิโอ (เหล้าฝรั่ง)... ล้วนเป็นการจ่ายสินบน

ให้ข้าราชการและนักการเมืองไทย ที่ช่วยวิ่งเต้นให้ธุรกิจตนได้ประโยชน์ทั้งๆ ที่รู้ว่าผิดกฎหมาย

ทั้งสามรายสารภาพว่าได้กระทำผิด ยอมจ่ายค่าปรับเพื่อแลกกับการไม่ต้องถูกดำเนินคดี หน่วยปราบปรามคอร์รัปชันของอังกฤษคือ Serious Fraud Office (SFO) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Department of Justice, DoJ) และ กลต. สหรัฐ (US Securities and Exchange หรือ SEC) บันทึกรายละเอียดคำให้การของเจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนที่กระทำผิดเป็นหลักฐาน

รายงานที่ว่าเหล่านี้เป็นเอกสารเปิดเผย เพราะเขาเชื่อในความโปร่งใส และเคารพในสิทธิของสาธารณชนที่จะรับรู้ข้อมูลเหล่านี้

เอกสารที่ผมได้มาก็ไม่ต่างไปจากที่หน่วยป้องกันและปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ จึงมีคำถามว่าเหตุไฉนหากมีรายละเอียดขนาดนี้แล้ว การดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในประเทศไทย จึงยังไม่ปรากฏความก้าวหน้าชัดเจน ที่จะรายงานให้ประชาชนคนไทยได้รับทราบ

กรณีของบริษัท Diageo Moet Hennessy Thailand (DT) ในเอกสารทางการของ กลต. สหรัฐ บอกชัดว่าได้กระทำผิดกฎหมายต่อต้านคอร์รัปชันต่างประเทศของเขา ที่เรียกเป็นทางการว่า Foreign Corrupt Practices Act ซึ่งเป็นกฎหมายจับผิดบริษัทสหรัฐที่ให้สินบนหรือกระทำการฉ้อฉลในต่างประเทศ

ของไทยเราไม่มีกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ สำหรับบริษัทไทยในต่างประเทศ มิหนำซ้ำแม้เมื่อต่างชาติจับได้ว่าบริษัทของเขาให้สินบนข้าราชการและนักการเมืองไทย ก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับให้หน่วยงานไทย ต้องถือเป็นความผิดที่ต้องสอบสวนทันที และถือเอาคำสารภาพของบริษัทที่จ่ายสินบนนั้น เป็นหลักฐานเอาผิดกับคนไทยที่เกี่ยวข้องได้

กระบวนการที่เห็นอยู่ขณะนี้คือหน่วยงานเกี่ยว กับการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันของไทยต้องตั้งเรื่องใหม่ และต้องให้หน่วยงานต่างชาติให้ข้อมูลทุกประเด็นมาจึงจะทำให้เรื่องนี้ “มีมูล” พอที่จะเดินเรื่องต่อได้

ที่น่าประหลาดกว่านั้นก็คือว่าไฉนเรื่องฉาวโฉ่เช่นนี้ กลไกเมืองนอกเขาจับได้ แต่ในเมืองไทยเรากลับไม่มีข่าวคราว จากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย

เอกสารของ SEC สหรัฐ ในกรณีนี้ระบุเลยว่าระหว่างปี 2004-2008 DT จ่ายเงินให้ “เจ้าหน้าที่รัฐบาลไทยและพรรคการเมืองหนึ่ง” เพื่อให้ “บริการที่ปรึกษา” เพื่อช่วยให้บริษัทเหล้าแห่งนี้ได้ประโยชน์จากกรณีพิพาทเรื่องภาษี

เขาต้องมีใบเสร็จชัดเจน เพราะสามารถระบุว่าจ่ายเป็นเงิน “ประมาณเดือนละ $12,000 ต่อเนื่องกัน 49 เดือน เป็นยอดเงินทั้งสิ้น $599,322

ไม่แต่เท่านั้น เอกสารนี้ยังบอกต่อว่า “เจ้าหน้าที่รัฐ” คนนี้มีตำแหน่งในช่วงเวลานั้นเป็น “รองเลขาฯนายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย”

อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในกรรมการของพรรคการเมืองใหญ่ เป็นกรรมการและ/หรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคหลายแห่ง

เขารู้ด้วยว่าเจ้าหน้าที่คนนี้เป็นพี่น้องกับผู้บริหารคนหนึ่งของ DT

เอกสารนั้นระบุต่อว่าเขาคนนี้ได้ประสานให้ผู้บริหารของ DT ไปพบกับผู้ใหญ่ของรัฐบาลไทยหลายรอบ “รวมถึงการได้พบกับนายกรัฐมนตรีไทยขณะนั้น สองครั้งในเดือนเม.ย และพ..2005”

และในเดือนพ.ค.2005 หลังจากที่ได้พบกับผู้บริหารของ DT ไม่นาน นายกรัฐมนตรีไทยก็ได้พูดในรายการวิทยุสนับสนุนจุดยืนของ DT ในประเด็นเรื่องวิธีการเสียภาษีสรรพสามิต

หากเขียนชัดขนาดนี้แล้วยังไม่ช่วยให้การสืบสวนสอบสวน ของหน่วยงานปราบคอร์รัปชันของไทย ดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับการรับสินบนในกรณีนี้ ก็ต้องตั้งข้อสงสัยว่ามีความ “ไม่ปกติ” ในกระบวนการทำงานขององค์กรต่างๆ ของประเทศไทยแน่นอน