หนังสือภูมิปัญญาแห่งศตวรรษ (Uncommon Wisdom)

หนังสือภูมิปัญญาแห่งศตวรรษ (Uncommon Wisdom)

หนังสือโดย ฟริตจอฟ คาปรา (1939-) นักฟิสิกส์และนักปรัชญาสังคมชาวออสเตรีย ผู้เขียนหนังสือชื่อ เต๋าแห่งฟิสิกส์, จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ ที่โด่งดัง

เขาเสนอให้เปลี่ยนวิธีคิด วิธีมองแบบกลไกแยกส่วน มามองเรื่องฟิสิกส์ ชีววิทยา สุขภาพอนามัย จิตวิทยา เศรษฐกิจ ระบบนิเวศ สิทธิสตรี ฯลฯ อย่างสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวม ประสานวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่เน้นเหตุผลเข้ากับปรัชญาตะวันออก เช่น เต๋า พุทธ ฯลฯ ที่ให้ความสำคัญต่อปรีชาญาณหยั่งรู้ (Intuition) เพื่อหาความเข้าใจเรื่องธรรมชาติ ชีวิตสังคม ฯลฯ อย่างลึกซึ้ง

มีชื่อรองว่า “บทสนทนากับคนที่เด่นเป็นพิเศษ” เป็นการบันทึก เล่าเรื่อง สรุปการค้นคว้าวิจัยของคาปรา เพื่อเขียนหนังสือเรื่อง The Turning Point (จุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ) ผู้อ่านจะได้เห็นวิธีทำงานวิจัยเพื่อเขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่ใช้เวลาหลายปี ด้วยการติดตามอ่านและฟัง การนัดหมายสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับนักฟิสิกส์ คาร์ล ไฮเซ็นแบร์ก นักปรัชญา เจกฤษณะมูรติ นักจิตวิทยา อารดี แลง ผู้เยียวยาสุขภาพทางเลือก – คาร์ล ไซมอนตัน นักเศรษฐศาสตร์ทั้งทางเลือก อีเอฟ ชูมาคเคอร์ และเฮเซล เฮ็นเดอรสัน รวมทั้ง อินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีสตรีของอินเดีย

คาปรา เป็นหนุ่มในยุคบุปผาชน/ฮิปปี้ ที่คนหนุ่มสาวประท้วงสงครามเวียดนามและสังคมแบบทุนนิยม บริโภคนิยม เขาสนใจปรัชญาตะวันออก วิเคราะห์เรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเชื่อมโยงกับชีวิตและสังคม เช่นการรู้ว่าแสงมีคุณสมบัติเป็นทั้งอนุภาคและคลื่นได้ในสถานะการณ์ต่างๆ และสัมพันธ์กับมุมมองของมนุษย์ด้วย ทำให้เขามองข้ามกับดักของการคิดแบบแยกส่วน 2 ขั้วสุดโต่ง ว่าต้องเป็นขาวหรือดำอย่างใดอย่างหนึ่ง ไปสู่การมองเรื่องความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนของสิ่งต่างๆ อย่างเป็น เช่น สุขภาพทางร่างกาย ขึ้นอยู่กับสุขภาพความคิดจิตใจอย่างมาก เรื่องเศรษฐกิจสัมพันธ์กับชีวิตที่ดีและระบบนิเวศ เรื่องสิทธิสตรีที่คำนึงถึงสังคมที่สมดุลและสร้างสรรค์มากกว่าสังคมแบบผู้ชายเป็นใหญ่ ที่มีลักษณะกดขี่เอาเปรียบทำลายล้าง

อารดี แลง นักจิตวิทยามองว่าแทนที่จะมองอย่างง่ายๆ ว่าจิตเภทหรือโรคจิตรูปแบบอื่นๆ ว่าเป็นโรคภัย เราอาจมองว่ามันคือวิธีการพิเศษที่คนเราสร้างขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดในสถานการณ์ของสังคมที่มีปัญหา การเยียวยาหรือปฏิบัติต่อคนที่แตกต่างไปจากคนอื่น จึงเป็นเรื่องที่ต้องการความเข้าใจในเรื่องความสัมพันธ์ของคนในสังคมวัฒนธรรมนั้นๆ ด้วย

เรื่องการแพทย์ตะวันตกมีวิธีการมองแบบแยกส่วนเหมือนมนุษย์เป็นนาฬิกาที่ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ที่เมื่อชิ้นไหนเสียก็ซ่อมชิ้นนั้น ทำให้มีการพึ่งพาโรงพยาบาลและการใช้ยามากเกินไปจนสร้างปัญหา ต้องกลับมามองวิธีการเยียวยาในเชิงป้องกันรักษาร่างกายและจิตใจให้สมดุลแข็งแรงอย่างเชื่อมโยงเป็นระบบองค์รวมมากขึ้น ซึ่งการแพทย์จีนและอินเดียดั้งเดิมก็ศึกษามาในแนวนี้

คาร์ล ไซมอนตัน ผู้ศึกษาเรื่องโรคมะเร็ง ได้ทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็งแบบวิจัยไปด้วย และพบว่าการดูแลความคิดจิตใจของผู้ป่วยให้เข้มแข็ง ไม่เครียด วิตกังวล ทำให้คนๆ นั้นสร้างภูมิต้านทานเซลล์ผิดปกติได้ดีขึ้น ลดการขยายตัวของมะเร็ง และทำให้ชีวิตผู้ป่วยยืนยาวขึ้น

จากเรื่องสุขภาพ คาปรา มองต่อไปว่าเกษตรกรแบบเคมีมีผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศสำคัญ รวมทั้งเห็นว่าอุตสาหกรรมเภสัชและระบบคุณค่าในระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่คือตัวปัญหาที่เราต้องกลับไปศึกษาเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ ในเชิงระบบนิเวศและระบบสังคมมากขึ้น คาปราไม่ใช้คำว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม เพราะเขาเรียนมาและเติบโตมาในแนวเสรีนิยม แต่ประเด็นปัญหาระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เขาวิจารณ์ก็คือ ตัวระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมนั้นเอง

คาร์ล ไซมอนตัน เห็นว่าเรื่องความคิด จิตใจ อารมณ์ เชื่อมโยงกับสุขภาพร่างกายด้วย และเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพของสังคมด้วย พฤติกรรมต่อต้านสังคม ความรุนแรง อาชญากรรม ยาเสพติด คือสุขภาพของสังคมที่เราต้องคำนึงถึงเวลาเราพูดเรื่องสุขภาพ เพราะถึงอดีตการเจ็บป่วยจะลดน้อยลง หรือคนมีสุขภาพดีขึ้น อายุยืนขึ้น แต่ถ้าอัตราการเจ็บป่วยทางจิตและอาชญากรรมสูงขึ้น ก็เท่ากับเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อทำให้สุขภาพของสังคมดีขึ้นเลย

อีเอฟ ชูมาร์กเกอร์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Small is Beutiful (แปลเป็นไทยแล้วชื่อ จิ๋วแต่แจ๋ว) เสนอว่าระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่เน้นการเติบโตของผลผลิตมีวิธีคิดแบบล้าสมัย มองแบบแยกส่วน จำกัดตัวเองอยู่ในการวิเคราะห์ทางปริมาณ ปฏิเสธที่จะมองเข้าไปในธรรมชาติแท้ของสรรพสิ่ง ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีลักษณะแบกส่วนและแปลกแยก กีดกั้นประชาชนจากการทำงานที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ สร้างความพอใจ

เขาได้พัฒนาแนวคิดเศรษฐศาสตร์ชาวพุทธจากประสบการณ์การไปทำงานที่ประเทศพม่า เขาเห็นว่าเศรษฐศาสตร์ควรยึดถือความสุขความพอใจของคนเป็นสำคัญ ควรใช้เทคโนโลยีขนาดเล็กที่เหมาะสม ที่ประชาชนทำได้เอง และเข้ากับระบบธรรมชาติ ระบบนิเวศ มากกว่าเทคโนโลยีขนาดใหญ่ นั่นก็คือเขาเรียกร้องให้พัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปสู่ลักษณะที่เป็น “อินทรีย์ (Organic) ที่อ่อนโยน ไม่รุนแรง เฉียบคม และงดงาม”

คาปรายังได้แนวคิดจากเรื่องสิทธิสตรี และระบบนิเวศ เกี่ยวกับการมองและพัฒนาชีวิตสังคมที่สมดุล เสมอภาค สร้างสรรค์ ยั่งยืนด้วย เฮเซล เฮ็นเดอร์สัน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “ผลกำไรของเอกชนถูกทำให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยต้นทุนของภาคสาธารณะ จากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตโดยทั่วไป พวกเขาบอกเราเรื่องถ้วยโถโอชามและเสื้อผ้าที่งามระยิบระยับ แต่ลืมบอกเราเรื่องการสูญเสียไปของแม่น้ำ ทะเลสาบที่เคยเป็นประกายแวววาว”

ติดต่อได้ที่ เฟซบุ๊ค: มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม โทร/ไลน์ 094-2037475