นิลวรรณ ปิ่นทอง: บุกเบิกให้ข่าวสารเป็นบริการสาธารณะ

นิลวรรณ ปิ่นทอง: บุกเบิกให้ข่าวสารเป็นบริการสาธารณะ

ในวัย 46 ปี นางสาวนิลวรรณ ปิ่นทองได้รับรางวัลรามอน แมกไซไซสาขาบริการสาธารณะ

(Public Service) พ.ศ.๒๕๐๔ นับเป็นคนไทยคนแรกได้รับรางวัลนี้ ในคำประกาศเกียรติคุณมีความตอนหนึ่งว่า

ด้วยเธอไม่มีทุนทรัพย์ที่จะอุดหนุนกิจการงานเพื่อสาธารณะ เธอจึงได้อุทิศทั้งแรงกายและเวลาให้อย่างเต็มที่ ได้จากบ้านมาพำนักอยู่ที่ห้องเล็กๆห้องหนึ่งติดกับสำนักงาน เพื่อจะได้ดูแลเอาใจใส่การงานทุกขณะที่จำเป็น การอุทิศตนอย่างนี้เป็นการหล่อเลี้ยงคนรอบข้างให้เกิดความสมัครใจที่จะทำงานรับใช้ผู้อื่น

นับแต่เริ่มทำงาน พ.ศ.2482 สำนักงานโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) นางสาวนิลวรรณหลังจากเพิ่งลาออกงานครูที่ทำได้ปีกว่าๆ เป็นหนึ่งในน้อยคนผู้ได้เริ่มทำงานในสื่อหลายชนิดทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุและโทรทัศน์ตั้งแต่แรกมีในราชการเพื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณชนในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นการปกครองโดยพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ บัณฑิตสตรีอักษรศาสตร์ รุ่น 3 (พ.ศ.2480) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้นี้ ได้ใช้ความสามารถหลายด้าน อักษรศาสตร์ คุรุศาสตร์ ภาษาต่างประเทศคือ อังกฤษ ฝรั่งเศสและเยอรมัน ตลอดจนเสริมสร้างทักษะใหม่ๆทางนิเทศศาสตร์ บรรณรักษ์ศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์โดยหน้าที่การงาน ในขณะรับราชการ ไม่ว่างานใดเพื่อเป็นบริการสาธารณะที่เธอมีจิตอาสารับทำ โดยเฉพาะเพื่อตั้งกลุ่มองค์กรสมาคมต่างๆด้วยจุดประสงค์บริการสาธารณะตามที่กฎหมายเพิ่งเปิดโอกาสให้แก่พลเมือง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิเช่น สมาคมสตรีอุดมศึกษา สภาสตรีแห่งชาติ ที่เธอได้เริ่มโครงการสโมสรตรอกจันทน์เพื่อเยาวสตรี สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ทั้งงานเลขานุการและงานปฏิคมที่เป็นงานหนักมักไม่มีค่าตอบแทน และงานต้องใช้ความรู้ความสามารถ เธอได้ทำงานอย่างอุทิศตนและเวลาด้วยสติปัญญาความสามารถหลายด้าน หาได้ยากยิ่งในหมู่บุรุษสตรีแห่งยุคสมัย

จนเมื่อปลายทศวรรษ 2490 แห่งความหวังในอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยในช่วงสั้นๆหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก่อนที่รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยทรุดหนักอีกยาวนานอย่างคาดไม่ถึง นางสาวนิลวรรณได้ลาออกจากกรมโฆษณาการ ตำแหน่งหัวหน้าแผนกหนังสือพิมพ์ กองการต่างประเทศ อย่างไม่เสียดายความมั่นคงในราชการ เพื่อมารับงานบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สตรีรายปักษ์ สตรีสาร ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 พ.ศ.2493 ที่ได้ร่วมก่อตั้งกับคณะที่มีทั้งบุรุษและสตรี

ในวัยเกษียณเธอมองย้อนหลังช่วงนั้นว่า “...รู้สึกสับสน ดิฉันมีพื้นฐานการเมืองไม่พอ ช่วงนั้นกรมโฆษณาการนิยมแนวการประชาสัมพันธ์แบบอิตาลีที่รัยกว่าโปรปะกันดา ผู้ใหญ่ที่กรมชื่นชมกับอิตาลีและเยอรมัน เป็นยุคสร้างผู้นำเอาอย่างเขา...”

กระนั้น ณ จุดนี้เอง นางสาวนิลวรรณได้เริ่มสร้างตำนาน 48 ปี ของสตรีสาร ซึ่งต่อมาออกรายสัปดาห์ เพราะไม่เคยมีมาก่อนที่นิตยสารสิ่งพิมพ์ซึ่งมีจำหน่ายตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 จะอยู่มาได้นานเกือบครึ่งศตวรรษโดยมีผู้ซื้ออ่าน ยิ่งนิตยสารสตรีด้วยแล้ว แทบทั้งหมดออกไม่นานก็ปิดตัวลง

ในช่วงหนึ่ง นางสาวนิลวรรณ ได้ออกดรุณสาร เพื่อเยาวชน และนิตยสารข่าวสัปดาห์สาร ซึ่งแม้อยู่ได้ไม่นาน นิตยสารทั้งสองได้มีชีวิตใหม่ในสตรีสาร ภาคเด็ก และสัปดาห์ปริทัศน์ ที่เสนอทั้งข่าวภายในประเทศและข่าวต่างประเทศประจำสัปดาห์ โดยเฉพาะข่าวสารที่สตรีควรรู้ ด้วยบรรณาธิการเชื่อมานานว่า “...ข่าวคือความรู้ ความรู้ทำให้เกิดความเชื่อมั่น เป็นเครื่องช่วยความสามารถในกิจการงาน...” มีหลักคือให้แยกเนื้อข่าวออกจากความเห็น เสนอข่าวสารการเมืองอย่างไม่เข้าพวกใคร (non-partisan) ในการเติมเต็มความจำเป็นทางด้านการเป็นพลเมือง โดยเฉพาะผู้รู้น้อยมีกำลังทรัพย์น้อยซี่งส่วนมากคือผู้หญิงและเด็ก นอกจากให้ข่าวสารข้อมูลสตรีสาร เป็นเวทีวรรณกรรมมีชื่อเสียง โดยเฉพาะภาคเด็กที่แยกซื้อได้ในราคาถูกพอเป็นค่ากระดาษค่าพิมพ์ สตรีสารและบรรณาธิการ ได้รับรางวัลและการยกย่องต่างๆมากมาย สิ่งพิมพ์อื่นใดตลอดจนกิจใดที่นางสาวนิลวรรณรับทำ ล้วนแสดงถึงจิตอาสาเสนอข่าวสารข้อมูลความรู้เพื่อบริการสาธารณะ มีอุดมคติคู่ขนานการพาณิชย์ ไม่ค้ากำไรสูงสุด

สตรีสารทำให้เธอแทบ “...จากบ้าน...”มาอยู่สำนักงาน รับเงินเดือนตำแหน่งเดียวในงาน ๓ ตำแหน่ง คือบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ผู้โฆษณาและกรรมการจัดการบริษัทการพิมพ์สตรีสารจำกัดที่เป็นธุรกิจเลี้ยงตนกับพนักงาน 40 กว่าคน ตอบแทนทั้งค่าเรื่องและค่าแรงอย่างยุติธรรม ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานและจัดสวัสดิการอย่างล้ำหน้ากฎหมายแรงงานไม่ว่าคณะปฏิวัติจะยกเลิกกฎหมายแรงงานกี่ครั้งก็ตาม จึงสามารถผูกใจไมตรีจิต หล่อเลี้ยงความรักเคารพนับถือเป็นแบบอย่างไว้ได้กับคนรอบข้าง ทุกคนทุกเพศทุกวัยที่ได้ทำงานด้วยและรู้จักเธอในสถานภาพต่างๆกัน ได้รับพระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์จตุตถจุลจอมเกล้า มีสิทธิใช้คำนำหน้าว่า”คุณ”

ในวัยชราภาพ ทำงานบริการสาธารณะสร้างห้องอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาตน ในโครงการกิจกรรม เวลาเป็นของมีค่า ณ มูลนิธิสตรีอุดมศึกษาฯ เขตสวนหลวง กทม. คล้ายๆกับสมัยเริ่มสมาคมสตรีอุดมศึกษาและก่อตั้งสตรีสาร ใช้ร้านร้านพวงร้อย อาคารราชดำเนินเป็นสถานที่ตั้งและทำห้องสมุดบริการสมาชิกด้วย

นางสาวนิลวรรณ ถือกำเนิดกับแม่แจ้ง 6 ธันวาคม 2458 เสียแม่ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ผู้เลี้ยงดูให้การศึกษาคือบิดา นายเวช ปิ่นทอง ข้าราชการชั้นผู้น้อย ทำงานยึดหลัก “ไม่เป็นข้าจ้าวบ่าวนายใคร” ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งบุตรสาวรับมาเป็นแบบอย่างในการทำงานและครองตนมาตลอดชีวิต นิยมทำตนให้ง่ายเป็นภาระน้อยที่สุด เป็นที่นับถือของญาติมิตรและผู้อภิบาล คณะแพทย์พยาบาลอย่างยิ่ง ความเป็นผู้มีวิสัยทัศน์ด้านข่าวสารและการครองตนดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจอย่างยิ่งว่า คนเราสามารถทำงานสร้างผลเปลี่ยนแปลงทำให้ชีวิตผู้อื่นดีขึ้นได้

มรณกรรมของนางสาวนิลวรรณ ปิ่นทอง 7 กุมภาพันธ์ 2560 อายุ 101 ปี 2 เดือน 1 วัน เป็นความสูญเสียอย่างยิ่งแก่ญาติมิตรและสาธารณชน