ความเข้าใจผิดเรื่องนวัตกรรมจีน

ความเข้าใจผิดเรื่องนวัตกรรมจีน

เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้พบผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านชื่นชมวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์

อุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนมากๆ (ท่านต้องการให้ไทยลอกยุทธศาสตร์จีนมาอัพเกรดตัวเองเป็น 4.0), ท่านยังเชื่อว่าฝรั่งจะลำบากเพราะเริ่มพ่ายแพ้แก่ธุรกิจจีน, และท่านเห็นว่านวัตกรรมจีนมีวันนี้ได้เพราะการทุ่มลงทุน R&D ทางวิทยาศาสตร์

ผิด ผิด และ ผิด ครับ (ซึ่งผมได้กราบเรียนท่านไปอย่างสุภาพ)

ความเข้าใจผิดข้อแรกคือ ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของจีนประสบความสำเร็จในการยกระดับนวัตกรรม ซึ่งไม่จริงครับ

เพิ่งมีหนังสือออกใหม่ชื่อ “China as an Innovation Nation” พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ในหนังสือเล่มนั้น ทีมนักวิจัยที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับนวัตกรรมจีนวิเคราะห์ว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลจีนที่เน้นอุดหนุนรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ให้เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่รัฐบาลเลือกสรรนั้น สุดท้ายแล้วล้มเหลวเอาเสียมาก

ที่พอสำเร็จ เห็นจะมีแต่เฉพาะยุทธศาสตร์ในการสร้างอุตสาหกรรมรถไฟความเร็วสูง ส่วนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่เหลือล้มเหลวเกือบทั้งหมด

ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนล้มเหลวในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งมีการแข่งขันที่ร้อนแรงจากบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของตะวันตก และมีการยกระดับเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็ว

นอกจากนั้น ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลจีนยังล้มเหลวในภาคอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก แม้ว่าการขับเคลื่อนของรัฐบาลจะทำให้จีนเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมโซลาเซลล์และอุตสาหกรรมพลังงานลมขึ้นมาจนเป็นรูปเป็นร่าง แต่สุดท้ายกลับส่งผลให้มีกำลังการผลิตเกินตัว (ผลิตของมากเกินความต้องการของตลาด) จนลามเป็นวิกฤติในภาคธุรกิจนี้ทั่วโลก และบริษัทโซลาเซลล์ของจีนหลายแห่งมีหนี้ท่วมตัว

ตรงกันข้าม ในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจีนค่อนข้างประสบความสำเร็จในเรื่องเทคโนโลยีและนวัตกรรม บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของจีน เช่น Tencent, Alibaba, Baidu, Huawei ล้วนเป็นบริษัทเอกชนที่ไม่ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากรัฐทั้งสิ้น บริษัทเหล่านี้จำเป็นต้องรีบพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีของตนเอง เพื่อปรับตัวและยืนหยัดต่อสู้กับการแข่งขันที่ร้อนแรงทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ไม่มีใครปฏิเสธหรอกครับว่าในช่วงที่ผ่านมา จีนสามารถยกระดับนวัตกรรมภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว แต่ทีมวิจัยได้สรุปในหนังสือว่า ความสำเร็จด้านนวัตกรรมของจีนไม่ได้มาจากยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาล แต่มาจากกลไกตลาด และความริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการที่ต้องรับมือกับการแข่งขันที่ร้อนแรงในตลาด, ส่วนสิ่งที่รัฐบาลจีนทำได้ยอดเยี่ยมก็คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน (ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและช่วยสร้าง ecosystem ที่ดีให้กับนิคมอุตสาหกรรมในจีน) และการลงทุนด้านการศึกษา (ผลิตแรงงานที่มีฝีมือและผลิตนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรจำนวนมหาศาล)

ความสำเร็จด้านนวัตกรรมของจีน จึงไม่ได้มาจากการสั่งการจากเบื้องบน แต่มาจากการสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดพลังสร้างสรรค์นวัตกรรมจากฐานล่างมากกว่า

ความเข้าใจผิดข้อที่สอง คือความเชื่อว่า ฝรั่งจะแพ้แก่ธุรกิจจีน ซึ่งไม่เป็นความจริงครับ

ความจริงก็คือ ฝรั่งยังครองตลาดบน (สินค้าพรีเมี่ยม) ในจีนในเกือบทุกอุตสาหกรรม ขณะที่บริษัทจีนส่วนใหญ่มีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ตลาดระดับล่างและกลางมากกว่า

บริษัทจีนเรียนรู้และไล่ทันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเก่าๆ ของฝรั่ง แต่บริษัทฝรั่งยังคงบุกเบิกเทรนด์ใหม่ๆ และสร้างมาตรฐานสินค้าที่สูงขึ้น

นอกจากนั้น บริษัทฝรั่งยังมีโอกาสพาร์ตเนอร์กับบริษัทจีนและ “Win-Win” ร่วมกัน ตัวอย่างเช่น บริษัทจีนขึ้นชื่อเรื่องความเชี่ยวชาญในการประกอบชิ้นส่วน บริษัทจีนหลายแห่งยังคงซื้อชิ้นส่วนและเทคโนโลยีระบบการผลิตของฝรั่งมาใช้ประกอบสินค้าใหม่ๆ เพราะฉะนั้น ความสำเร็จของบริษัทจีนก็จะช่วยขยายตลาดให้กับบริษัทฝรั่งที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหรือเป็นเจ้าของเทคโนโลยีระบบการผลิตด้วย

ความเข้าใจผิดข้อสุดท้าย คือจีนมีวันนี้ได้เพราะทุ่ม R&D ด้านวิทยาศาสตร์

จีนในวันนี้ทุ่มงบด้าน R&D วิทยาศาสตร์มหาศาลจริงครับ แต่ R&D วิทยาศาสตร์ไม่ใช่แนวทางในการพัฒนานวัตกรรมในช่วงแรกของจีน, ย้อนกลับไปในช่วงแรกสุดนั้น จีนเน้นนำเข้าและเรียนรู้เทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จแล้วจากฝรั่ง เพราะจีนมองว่ามีต้นทุนที่ถูกกว่าการลองผิดลองถูกด้วยการทำ R&D เองตั้งแต่ต้น

ที่สำคัญ เวลาเราพูดถึง นวัตกรรม เราไม่ควรคิดถึงแต่นวัตกรรมวิทยาศาสตร์ที่ “บุกเบิก” ของใหม่ แต่เราควรต้องคิดถึงนวัตกรรมที่ “ปรับปรุง” ของเดิมให้ดีขึ้นด้วย ในรายงานชื่อ The China Effect on Global Innovation ที่รวบรวมข้อมูลโดยบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ได้แบ่งประเภท “นวัตกรรม ไว้ 4 อย่าง คือ

1. นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค

2. นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

3. นวัตกรรมจากเทคนิควิศวกรรม และ

4. นวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์, สองอย่างแรกเน้นที่การ “ปรับปรุง” ของเก่า ส่วนสองอย่างหลังจึงเน้นการ “บุกเบิก” สิ่งใหม่

รายงานพบว่า จีนยังทำได้ไม่ค่อยดีในเรื่องนวัตกรรมจากเทคนิควิศวกรรมและนวัตกรรมจากวิทยาศาสตร์ เช่น ในอุตสาหกรรมยาและรถยนต์ แต่นวัตกรรมที่จีนมีความโดดเด่น ก็คือ นวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค และนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (ทั้งสองอย่างเป็นการต่อยอดและปรับปรุงเทคโนโลยีของฝรั่งให้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน) จีนเองทำได้ดีเพราะมีความได้เปรียบในเรื่องตลาดผู้บริโภคขนาดมหึมา และมี ecosystem ของระบบอุตสาหกรรมที่พร้อมและครบวงจร

แน่นอนครับว่า ตอนนี้จีนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับ R&D ด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพื่อ บุกเบิกสินค้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ ในอนาคต แต่เราต้องไม่ลืมว่า ความสำเร็จด้านนวัตกรรมที่ผ่านมาของจีนส่วนใหญ่มาจากการเอาสินค้าและเทคโนโลยีที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศตะวันตกมา “ปรับปรุง” ให้ดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคจีนหรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต

เวลาเรามองความสำเร็จด้านนวัตกรรมของจีน จึงต้องมองด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องครับ เพราะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายของไทยเองด้วย

แทนที่เราจะลอกยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมจีน เราน่าจะเรียนรู้ตัวอย่างในการลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องการศึกษา และการให้ความสำคัญกับกลไกตลาดและความริเริ่มสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการ

แทนที่จะมองว่าจีนกับฝรั่งใครจะอยู่ใครจะตาย เราต้องดูว่าเขาร่วมมือและ “Win-Win” ร่วมกันอย่างไร มีตรงไหนที่ไทยเราเข้าไปร่วมพาร์ตเนอร์ด้วยได้ หรือดึงเอาจีนและฝรั่งมาพาร์ตเนอร์กับเราได้

และสุดท้าย นอกจากจะให้ความสำคัญกับ R&D ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมแล้ว เรายังควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเข้า เรียนรู้ และปรับปรุงเทคโนโลยีที่มีใช้อยู่แล้วในประเทศอื่น ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมของเราเองที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีขึ้นหรือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งการพัฒนานวัตกรรมเหล่านี้ง่ายและมีต้นทุนถูกกว่าการสร้างนวัตกรรมใหม่ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมครับ