ปลาทับทิม เกี่ยวอะไรกับฟลอริด้าและโอเมก้า

ปลาทับทิม เกี่ยวอะไรกับฟลอริด้าและโอเมก้า

ผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังถึงตำนานย่อๆของ “ปลาทับทิม” แล้วว่าเป็นการพัฒนาสายพันธุ์ปลา โดย

ภาคเอกชน ซึ่งก็คือซีพีเอฟ ที่ใช้วิธีธรรมชาติ ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม โดยการนำปลานิลแดงมาผสมข้ามสายพันธุ์กับปลานิลแดงที่มีลักษณะเด่นมากในด้านต่างๆจากหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล และไต้หวัน กระทั่งได้ปลาเนื้อพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะภายนอกโดดเด่นคือ สีของเกล็ดและตัวปลามีสีแดงอมชมพู สามารถเลี้ยงให้เติบโตได้ดีทั้งในน้ำจืดและน้ำที่มีความเค็ม

ในระหว่างการพัฒนาข้ามสายพันธุ์และทดลองเลี้ยงในน้ำเค็มนี่เองที่มีผู้สนใจถามไถ่เพิ่มเติม เมื่อสบโอกาสได้พบ น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ผู้บริหารระดับสูงของซีพีเอฟที่บุกเบิกและพัฒนาพันธุ์ปลาทับทิม จึงอดไม่ได้ที่จะขอให้เล่าถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ก่อนที่เราจะมีปลาทับทิมรับประทานกันในวันนี้

คุณหมอเริ่มต้นด้วยการแนะนำให้รู้จักเกาะเล็กๆที่ชื่อ LEE-Stocking Island ในบาฮามาส ฟลอริด้าก่อน โดยระบุว่าเกาะนี้มีขนาดเล็กมากเหมือนโขดหินโผล่ในทะเลเท่านั้น รัฐบาลสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองเกาะ ก็ประสงค์จะให้คนบนเกาะมีอาชีพและมีปลาสำหรับบริโภค จึงสนับสนุนการวิจัยปลาน้ำจืด เพื่อให้สามารถเลี้ยงในน้ำเค็มได้ (เพราะเกาะนี้มีน้ำจืดจำกัดมาก) โดยใช้วิธีผสมข้ามสายพันธุ์กัน-คัดพันธุ์ กระทั่งได้ปลาสีแดงทนเค็มทึ่เรียกกันว่า “Red Florida” จัดเป็นกลุ่มเดียวกันกับปลานิล (Tilapia) ส่วนปลานิลที่มีสีแดงก็จะเรียกกันตามสีของผิวปลาว่า ปลานิลแดง (Red Tilapia)

ตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย... สมัยนั้นการเลี้ยงกุ้งในระบบปิด มีการระบาดของโรคหัวเหลืองตัวแดง ซึ่งต้องแก้ไขโดยการเลี้ยงในระบบน้ำหมุนเวียน โดยน้ำที่จะหมุนเวียนมาใช้ใหม่นี้ต้องผ่านการบำบัดอย่างเป็นธรรมชาติ วิธีหนึ่งก็คือเอาปลามาเลี้ยงร่วมในระบบเดียวกับกุ้ง เพื่อให้ปลากินขี้กุ้งและตะกอนในน้ำ อันจะส่งผลให้น้ำมีคุณภาพดีขึ้น แต่เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งจะเลี้ยงในน้ำเค็ม ทำให้การคัดเลือกประเภทปลาที่จะนำมาใช้เลี้ยงคู่กับกุ้งได้อย่างเหมาะสมนั้นมีเพียงปลาหมอเทศเท่านั้น

ในเชิงเศรษฐศาสตร์ ปลาหมอเทศมีราคาถูกมากไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค ขณะที่การทำธุรกิจควรจะสามารถต่อยอดให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อปลาที่นำมาเลี้ยงคู่กับกุ้งด้วย ...จุดนี้เองที่เป็นจุดปิ๊งไอเดียความคิด... ทำให้ต้องสรรหาปลาสายพันธุ์ใหม่ที่สามารถเลี้ยงในเค็มได้ และต้องสามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจได้ด้วย

“Red Florida” จากเกาะ LEE-Stocking Island จึงถูกนำเข้ามายังประเทศไทยเพื่อการนี้โดยเฉพาะ ทำให้ในขณะนั้นประเทศไทยเรา จึงมีทั้ง ปลานิลแดงของกรมประมง มีทั้ง “Red Florida” จากเกาะ LEE-Stocking Island

จากนั้นก็เกิดการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ปลาอย่างต่อเนื่อง และตามหลักการผสมพันธุ์คือต้องให้มีความหลากหลายทางพันธุกรรมให้สายพันธุ์ปลาที่จะได้ใหม่มีความแข็งแรง และเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหา เลือดชิด” อันจะทำให้มีการเกิดยีนด้อย (ไม่ต่างกับมนุษย์เราที่มีมักจะไม่ให้พี่น้องหรือญาติแต่งงานกันนั่นเอง) ดังนั้น จึงมีการนำเข้าปลานิลแดงที่มีลักษณะเด่นมากๆจากหลายแห่ง อาทิ ไต้หวันและอิสราเอลเข้ามาผสม กระทั่งได้สายพันธุ์ที่นิ่ง คือมีสีแดงสม่ำเสมอ สุขภาพแข็งแรง ต้านทานโรคดี และทนความเค็มได้สูง ซึ่งทั้งหมดกินเวลาไม่น้อยกว่า 5-6 ปีจึงสำเร็จและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานชื่อ “ปลาทับทิม” ในเวลาต่อมา... กระทั่งกลายเป็นปลาเศรษฐกิจยอดนิยมของคนไทยในปัจจุบัน

โดยปกติ ปลาทะเลจะมีคุณสมบัติพิเศษคือ ไขมันในตัวปลาจะมีโอเมก้า 3 สูง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ความที่ปลาทับทิมเลี้ยงและเจริญเติบโตได้ดีในน้ำเค็ม จึงทำให้ปลาทับทิมมีโอเมก้า 3 สูงกว่าปลาน้ำจืดทั่วไป หรือกล่าวได้ว่า ปลาทับทิม เป็นปลาที่เพาะเลี้ยงง่ายแบบปลาน้ำจืด แต่ให้คุณค่าทางอาหารแบบปลาทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเลี้ยงในทะเลด้วยอาหารคุณภาพดี ก็จะพบปริมาณโอเมก้า 3 สูงถึง 182 mg/เนื้อปลา 100 g เลยทีเดียว

ข้อควรรู้อีกข้อคือ ปลานิลแดง (Red Tilapia) เป็นชื่อทั่วไปที่ใช้เรียกปลานิลที่มีสีแดง ซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์มาก บางสายพันธุ์เลี้ยงได้เฉพาะในน้ำจืด บางสายพันธุ์เลี้ยงได้ในน้ำกร่อย ขณะที่บางสายพันธุ์อย่างปลาทับทิมซีพีเลี้ยงได้ในน้ำเค็ม ทำให้คุณค่าทางโภชนาการของปลาจึงแตกต่างกันออกไปตามแหล่งน้ำและสถานที่เลี้ยง สายพันธุ์ที่เลี้ยงในน้ำเค็มได้ คุณค่าทางโภชนาการก็จะมีแนวโน้มไปทางปลาทะเล ส่วนที่ทนเค็มไม่ได้ ต้องเลี้ยงเฉพาะในน้ำจืดก็จะมีคุณค่าทางโภชนาการไปทางปลาน้ำจืด แต่อย่างไรก็ตาม “ปลา” จัดเป็นโปรตีนย่อยง่าย การรับประทานเนื้อปลาจึงส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคทั้งสิ้น ... ว่าแล้ววันนี้คุณทานปลารึยัง?

--------------------

ปกรณ์ ธาราธาร