คนวัย 50 เป็น “ลุง และ “แม่เฒ่า” จริงหรือ?

คนวัย 50 เป็น “ลุง และ “แม่เฒ่า” จริงหรือ?

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวที่ทำร้ายจิตใจคนวัย 50 ปีขึ้นไป ทั้งการเรียกวิศวกรวัย 50 ว่า “ลุง”

หรือ สุภาพสตรีวัย 52 ว่า “แม่เฒ่า รุ่นพี่ที่ผมรู้จักหลายท่านต่างออกมาคร่ำครวญผ่านทางสื่อออนไลน์ว่าตนเองยังไม่สมควรถูกเรียกเป็นลุงหรือแม่เฒ่า ทำให้ผมเองก็อยากจะรู้คำตอบว่าคนวัย 50 นั้นสมควรถูกว่าลุงและแม่เฒ่าหรือยัง?

ได้ไปอ่านทั้งบทความและงานวิจัยหลายๆ ชิ้น ที่ชี้ตรงกันว่าจุ ดเริ่มต้นที่จะเรียกคนว่า “สูงวัย” นั้นแตกต่างไปจากในอดีต เนื่องจากในอดีตเราไม่ค่อยได้ดูแลสุขภาพ และยังมีการสูบบุหรีและดื่มเหล้ากันค่อนข้างมาก 

ทำให้เมื่ออายุเริ่มย่างเข้า 50 ก็มีปัญหาเรื่องสุขภาพกันแล้ว แต่ในปัจจุบันที่คนดูแลสุขภาพมากขึ้นทำให้คนที่อายุ 50 ในปัจจุบันมีสุขภาพที่ดีกว่าผู้ที่อายุ 50 เมื่อ 50 ปีที่แล้ว จนกระทั่งเริ่มมีคำกล่าวแล้วว่า“50 is the new 30”

คำถามต่อมาคือ แล้วเมื่อไรถึงจะเริ่มนับว่าคนเข้าสู่ยุค สูงวัย” ถ้าไปสอบถามคนแต่ละช่วงอายุก็จะให้คำตอบไม่เหมือนกัน มีงานวิจัยที่ไปสอบถามคนช่วงอายุ 20, 30, 40, 50, 60 ว่าที่อายุเท่าไรถึงจะนับว่า “สูงวัย” ปรากฎว่าคำตอบที่ได้มานั้นไม่เหมือนกัน และที่น่าสนใจก็คือยิ่งผู้ตอบอายุมากขึ้นคำตอบที่ได้รับก็จะแสดงอายุที่สูงขึ้นไปด้วย

งานวิจัยที่แตกต่างกัน นิยามจุดเริ่มต้นของความ “สูงวัย” ที่แตกต่างกัน (ถึงแม้จะใกล้เคียงกัน) ในอดีตเคยมีงานวิจัยที่พบว่าคนจะรับรู้ว่าเข้าสู่ช่วง “สูงวัย” เมื่ออายุพ้นเลข 68 แต่ล่าสุดผลการสำรวจความคิดเห็นชาวอังกฤษกว่า 2,000 คนพบว่าความ “สูงวัย” นั้นเริ่มต้นที่ 80 ในขณะเดียวกัน มีรายงานจากสถาบันวิจัยแห่งหนึ่งในกรุงเวียนนาที่ระบุว่า ความ “สูงวัย” นั้นเริ่มที่อายุ 74 โดยพิจารณาว่าการจะ “สูงวัย” ได้นั้น ให้พิจารณาว่าคนยังมีอายุขัยเหลืออีกเท่าไร และจะถือว่า “สูงวัย” ได้ก็คือคนจะต้องมีอายุขัยเหลืออีก 15 ถึงจะเริ่มนับได้ว่าสูงวัย

ดังนั้น ถ้าเราจะยึดที่เลข 74 หรือ เลข 80 ว่าเริ่มต้นเข้าสู่ความสูงวัย ก็แสดงให้เห็นว่าช่วงความเป็นวัยกลางคนนั้นกว้างมากและถูกขยายมาถึง 74 หรือ 80 ปีเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ยังได้พบว่าเริ่มมีรายงานจากหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้วที่องค์กรหรือบริษัทต่างๆ หันกลับมาพึ่งพาผู้สูงอายุในการเติมเต็มตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจากอัตราการเกิดของประเทศต่างๆ ที่ลดลง ทำให้การขาดแคลนคนทำงานที่มีฝืมือ ทำให้องค์กรต้องหันกลับมาพึ่งพาผู้ที่เกษียณไปแล้วที่วัย 60 หรือ 65 ปีขึ้นไปให้กลับมาช่วยทำงาน

ที่น่าสนใจขึ้นไปอีกคือ เราเคยมีความเชื่อว่าบุคคลที่อายุมากขึ้นจะทำงานสู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ แต่ปรากฎว่ามีการศึกษาในปี 2010 ที่นำคนรุ่นใหม่อายุ 20-31 มาทดสอบและทำงานในด้านต่างๆ สู้กับผู้ใหญ่อายุ 65-80 เป็นระยะเวลา 100 วัน โดยทดสอบทั้งในด้าน การคิด ความจำ ความเร็วในการทำงาน ปรากฎว่าจากผลการทดสอบกลุ่มคนสูงอายุทำงานได้สม่ำเสมอกว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ผลการทำงานในแต่ละวันจะผันแปรและแตกต่างกัน

นอกจากนี้ ผลการทำงานโดยรวมก็ออกมาดีกว่าคนรุ่นใหม่ เพราะถึงแม้ความสามารถในการจำ การเรียนรู้ หรือความเร็วในการคิดของผู้สูงอายุจะลดน้อยลง แต่สิ่งที่ทดแทนได้คือประสบการณ์ และประสบการณ์ช่วยทำให้ผู้สูงอายุเรียนรู้วิธีการที่จะจดจำได้ดีขึ้น เรียนรู้ และทำงานได้เร็วขึ้น

แม้กระทั่งในบรรดา Startups ทั้งหลาย ในอเมริกาก็เริ่มมีแนวโน้มของ Silver Startups ที่เริ่มต้นทำธุรกิจใหม่เมื่ออายุเลยเลข 50 ไปแล้ว ในปี 2015 ประมาณหนึ่งในสี่ของผู้ประกอบการใหม่ที่เริ่มต้นธุรกิจนั้นอายุอยู่ระหว่างช่วง 55-64 ซึ่งสูงขึ้นกว่าในอดีต

สรุปคือเราไม่สมควรเรียกคนวัย 50 ว่า ลุงหรือ แม่เฒ่านะครับ เนื่องจากคนวัยนี้เพิ่งก้าวพ้นช่วงวัยรุ่นตอนปลายเข้าสู่วัยกลางคนเองครับ