ปล่อยนก บุญหรือบาป

ปล่อยนก บุญหรือบาป

“ปล่อยนกปล่อยปลา” เป็นสำนวนไทยซึ่งหมายถึงการปล่อยให้เป็นอิสระ พ้นจากการผูกมัด

หรือการไม่ถือสาหาความ ไม่เอาผิด คำพูดนี้มาจากสิ่งที่ชาวพุทธกระทำกันมาช้านานในการปล่อยนกปล่อยปลาเพื่อเป็นการทำบุญ โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำเช่นนั้นโดยแท้จริงแล้ว เท่ากับเป็นการทำบาปเพราะก่อกรรมทำเข็ญสัตว์

ในสองสามอาทิตย์ที่ผ่านมานี้คลิปสั้น “ปล่อยนก บุญหรือบาป” แพร่กระจายในโลกโซเชียลมีเดียอย่างหนัก ผู้เขียนได้ดูแล้วชอบมากเพราะมันตรงกับความคิดเห็นส่วนตัวที่มีมานาน คลิปนี้มีประโยชน์เพราะจะทำให้คนไทยตระหนักว่าผลที่เกิดขึ้นนั้นมันตรงข้ามกับสิ่งที่เราตั้งใจอย่างน่าตกใจ

คลิปสั้นๆ นี้ถามว่าการให้อิสระภาพแก่นกที่ถูกจับมาเพื่อให้คน (จ่ายเงิน) ปล่อยนั้นคือการให้ซึ่งเสมือนการได้บุญหรือไม่ คำตอบก็คือมันมิได้เป็นการให้ หากเป็นการสร้างความทุกข์ทรมาน ทำให้ชีวิตพลัดพราก เกิดความตาย และนั่นคือบาป ถ้าไม่มีพิธีกรรมปล่อยนกกันก็ไม่มีใครจับนกมาใส่กรง ให้ปล่อย และบาปก็ไม่เกิดขึ้น

ผู้ทำคลิปนี้คือ สมาคมต่อต้านการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย ซึ่งมี คุณธีระพงศ์ ปังศรีวงศ์ นักธุรกิจใหญ่ใจบุญเป็นนายกสมาคม ซึ่งสมาคมนี้ประสบความสำเร็จในการผลักดันให้มีพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ 2557

การปล่อยนกปล่อยปลาในสังคมพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไม่ว่าไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา ฯลฯ โยงใยกับเรื่องเล่าถึงผลบุญจากการให้ชีวิตของสามเณร ติสสะ ศิษย์ของพระสารีบุตร ผู้มีชะตาถึงฆาตใน 7 วัน แต่ด้วยอานิสงส์จากการช่วยปลาในสระน้ำที่แห้งขอดกับการปล่อยเก้งจากแร้วของนายพราน จึงทำให้หลุดพ้นจากชะตากรรม

การให้ชีวิตในสังคมพุทธศาสนาฝ่ายมหายานก็มีเช่นกัน โดยผูกโยงกับพระสูตรสุวรรณประภาสสูตรหรือกิมกวงเม้งเก็ง ซึ่งเริ่มปรากฎในแผ่นดินจีนสมัยราชวงศ์เหลียงฝ่ายเหนือ (ค.ศ.412-427) ดังนั้นการปล่อยนก ปล่อยปลาปล่อยเต่า ฯลฯ ในวัฒนธรรมจีนจึงมีการทำกันอย่างกว้างขวาง

สังคมปล่อยนกปล่อยปลา ฃึ่งมีความสุขอิ่มอกอิ่มใจในผลบุญจากการปล่อยให้สัตว์เป็นอิสระ เป็นมาอย่างช้านาน จนเริ่มมีเสียงวิพากวิจารณ์จากกลุ่มผู้รักสัตว์ในโลกตะวันตก ในปี 2012 นิตยสาร Scientific American อันมีชื่อเสียงมีบทความเรื่องพิธีกรรมของชาวพุทธในเอเชีย ในการปล่อยนกที่ทำร้ายชีวิตสัตว์ตามธรรมชาติ

ข้อเขียนนี้บรรยายถึงชีวิตของชาวพุทธที่ชอบปล่อยนกยามเมื่อมีคนเจ็บไข้ มีทุกข์ มีเคราะห์หรือสะสมบุญกุศลการกระทำนี้เรียกว่า “merit releases” (การปล่อยเพื่อให้ได้บุญ) ผู้เขียนได้ติดตามการปล่อยนกในกรุงพนมเปญอยู่ 13 เดือน จนได้ตัวเลขว่า ในแต่ละปีมีสัตว์ที่ผ่านการค้าเพื่อปล่อยในระดับท้องถิ่นนี้ไม่ต่ำกว่า 700,000 ตัว อีกทั้งพบว่ามีนก 57 พันธุ์ที่ถูกจับอยู่ในกรง หลายพันธุ์อยู่ในรายการที่ใกล้สูญพันธุ์นี่เป็นเพียงสถิติจากเมืองเดียวเท่านั้น

สำหรับฮ่องกงมีคนประเมินไว้ว่าในวัดพุทธที่ฮ่องกงทั้งหมดมีการปล่อยนกไม่ต่ำกว่าปีละ 580,000 ตัว ตัวเลขของเอเชียทั้งหมดไม่มีใครศึกษาไว้ว่ามีจำนวนเท่าใดแต่คาดว่าน่าจะเกิน 5-10 ล้านตัว ต่อปี ในบ้านเรานั้นมีอยู่ดาษดื่นในเกือบทุกวัดใหญ่ ๆ ที่มีงานบุญ ตัวเลขน่าจะเป็นนับล้านตัว ต่อปี หากใช้ตัวเลขจากพนมเปญเป็นฐาน

ในบ้านเรากลุ่มนกกระติ๊ด (คล้ายนกกระจาบ) ซึ่งเป็นนกตัวเล็กเป็นที่นิยมมาก เพราะสามารถจับได้ครั้งละเป็นร้อยเป็นพัน ไม่กินพื้นที่กรง ถึงแม้จะตายง่ายสักหน่อยวิธีจับก็คือ ใช้แหทอดในทุ่งนาตอนกลางคืน ที่นกเหล่านี้นอนรวมกลุ่มกันบนพื้น เมื่อติดแหไนล่อนก็ต้องปลดแกะออก จำนวนหนึ่งก็จะตาย เมื่อขนส่งก็ตายอีก และเมื่อใส่กรงรอคนปล่อยก็ตายอีก เคยมีการคำนวณของสมาคมหนึ่งของไทยว่าจาก 100 ตัว ที่ถูกจับมานั้นที่ได้รับอิสรภาพกลับคืนไปมีประมาณ 10 ตัว

The Institute of Supervising Animal Epidemic Control of Guangzhou ในจีนประมาณว่าร้อย 90 ของนกที่ใช้ใน meritreleases ตาย

ประการสำคัญก็คือ การจับและฃื้อขายนกกระติ๊ดนั้นผิดกฎหมายอาญา เพราะเป็นสัตว์คุ้มครองทั้งผู้จับและผู้ค้ามีโทษทั้งปรับและจำ แต่เราก็เห็นการลักลอบทำธุรกิจนี้ซึ่งมีกำไรงดงาม ตัวหนึ่งได้ราคาปล่อยถึงตัวละ 30-50 บาท ต้นทุนตกประมาณ 5-10 บาท

การ ทำบุญ” เช่นนี้จึงเป็นการทำลายสัตว์ตามธรรมชาติ รบกวนวงจรชีวิตและความสงบสุขของมันเป็นการทารุณสัตว์อย่างมิต้องสงสัย และสำหรับนกนั้นอาจก่อให้เกิดการแพร่กระจายของไวรัสสารพัดชนิดได้ (ที่ร้ายแรงคือไข้หวัดนก H5N1 )

สัตว์อื่นที่ปล่อย เช่นเต่า หอยขม ปลาไหล ฯลฯ ก็อาจมิใช่การทำบุญเช่นกัน เพราะหากปล่อยเต่าในน้ำเชี่ยวที่ไม่มีตลิ่งให้เกาะก็จะตาย หอยขมต้องอยู่ในที่ชื้นแฉะเช่นบึงคลองไม่ใช่แม่น้ำ ปลาไหลอยู่ไม่รอดในน้ำไหลแรง และปลาที่ซื้อจากตลาดและปล่อยในแม่น้ำก็ต้องระวังเช่นกัน เพราะอาจช็อกในน้ำที่มีอุณหภูมิและสิ่งแวดล้อมแตกต่างจากที่เคยเติบโตมาได้

ถ้าไม่มีการซื้อ (จ่ายเงินเพื่อปล่อย) สัตว์ที่ถูกจับเหล่านี้มาก็จะไม่มีการจับมาเสนอขายอย่างแน่นอน เข้าทำนองดีมานด์สร้างสัพพลาย ลองจินตนาการว่าถ้าชาวพุทธทุกคนกระทำ merit releases ในรูปแบบอื่น (ปลดปล่อยอารมณ์โกรธ โลภ หลง หรือไม่บริโภคเนื้อสัตว์แทนการปล่อยสัตว์ที่ถูกจับมา) เราก็จะไม่เห็นการทารุณสัตว์ในวัดอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างแน่นอน

การไถ่ชีวิตโคกระบือราคาสูงที่นิยมทำกันอย่างกว้างขวางก็เช่นกัน ผู้ที่รู้สึกอิ่มเอิบในบุญว่าได้ไถ่ชีวิตสัตว์แล้วนั้นเคยติดตาม ถามไถ่หรือไปดูให้รู้แน่แก่ใจหลังจากนั้นหรือไม่ว่ายังมีชีวิตอยู่จริง อยู่ที่ไหนและมีความเป็นอยู่อย่างไร การได้ความอิ่มใจ เพราะได้ไถ่ชีวิตโคกระบือแล้ว โดยไม่ดูตอนจบนั้นไม่น่าถือว่าเป็นการทำบุญอย่างแท้จริง

พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) ได้สรุปเรื่องการทำบุญปล่อยชีวิตสัตว์ไว้อย่างเหมาะสมยิ่ง ดังข้อความต่อไปนี้

“...หากพิจารณาในเรื่องของบุญบาปตามหลักพุทธศาสนา เคยบอกว่าการทำบุญปล่อยชีวิตสัตว์ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กหรือสัตว์ใหญ่ ต้องทำด้วยจิตมุ่งเป็นกุศลจริงๆ แต่ถ้านำสัตว์มาปล่อยแล้วอธิษฐานว่าสาธุ ขอให้การปล่อยนี้ ขอให้อายุยืน ขอให้ถูกหวย ขอให้หายซวย สิ่งนี้ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์เพราะมีเจตนาเคลือบแฝง เป็นการปล่อยเขาเพื่ออยากให้เราดีขึ้น เพื่ออยากให้เราหายทุกข์ หายโศก หายซวย อย่างนี้มันไม่ใช่การทำบุญ แต่เป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นการลงทุนทางจิตวิญญาณก็ได้ เพราะเจตนาจริงๆ ไม่ได้ต้องการช่วยเหลือเขา แต่ต้องการช่วยตัวเองต่างหากโดยยืมชีวิตเขามาเป็นเครื่องมือ

ถ้าท่านเมตตาจริงๆ นะ ปล่อยให้นกอยู่บนฟ้าปล่อยให้ปลาอยู่ในน้ำนั่นคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ปล่อยให้สัตว์ได้อยู่อย่างสัตว์ นั่นแหละคือการปล่อยนกปล่อยปลาที่แท้จริง...