พลังของหุ้นปันผล

พลังของหุ้นปันผล

พลังของหุ้นปันผล

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่าน วันนี้ผมอยากเขียนถึงเรื่องของการลงทุน และเหมือนที่ผ่าน ๆ มาที่ผมจะเน้นในการลงทุนระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนเพื่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุ หรือเพื่อการวางแผนการศึกษาให้แก่ครอบครัว ถามว่าระยะยาวน่ะยาวแค่ไหน คำตอบคือยาวมากครับ อาจจะมากกว่าสิบปี ยี่สิบปี สามสิบปี ก็ได้ ส่วนหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ที่ผมจะเน้นในคราวนี้ คือ สินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่มีการจ่ายเงินปันผล หรือให้ผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าก็ได้

หลักการที่สำคัญคือ 1) อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลหรือค่าเช่านั้นต้องมีอัตราที่สูงพอสมควร นั่นคือ มากกว่าเงินฝาก หรือดอกเบี้ยจากพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ภาคเอกชน ยิ่งได้มากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี 2) สินทรัพย์หรือหลักทรัพย์นั้นต้องมีอายุที่ยาว และมีความมั่นคงของกิจการที่ดี ซึ่งประการนี้เราสามารถศึกษาได้จากลักษณะของธุรกิจ ผู้บริหาร กำไร และแนวโน้มของธุรกิจ และ 3) แนวโน้มการเติบโตของผลกำไร ซึ่งเป็นการมองไปข้างหน้าเช่นเดียวกับข้อที่สองที่ผ่านมา สิ่งที่ใช้เป็นเช็คลิสต์ คือ การเติบโตของกำไร ต้องมากกว่าเงินเฟ้อ และการเติบโตนั้นยิ่งมากยิ่งดีก็ตาม แต่ควรเน้นที่ความสม่ำเสมอและความแน่นอนของการเติบโตมากกว่า

นอกเหนือจากหลักการใหญ่ๆ 3 ข้อดังกล่าวในการคัดเลือกสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่เราจะตัสินใจลงทุนแล้วนั้น เราอาจพิจารณาเพิ่มเติมถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น 1) ราคาขายต่อในอนาคต ซึ่งแน่นอนว่าใครๆก็คงอยากเลือกลงทุนในอะไรที่สามารถให้ราคาขายต่อที่สูงขึ้น ซึ่งก็หมายถึงกำไร แต่ที่สำคัญคือการเติบโตของมูลค่าของความมั่งคั่งของพอร์ตการลงทุนของเรา 2) สภาพคล่องของสินทรัพย์นั้น ซึ่งปัจจัยข้อนี้ก็มีความสำคัญแม้ว่าการลงทุนของเราจะเป็นการลงทุนระยะยาวก็ตาม เพราะว่าในอนาคตภาวะเศรษฐกิจหรือการเมืองอาจมีการเปลี่ยนแปลง หรือตัวกิจการที่เราลงทุนอาจมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หรือเรามีความจำเป็นที่ต้องใช้เงินทำให้ต้องมีการขายสินทรัพย์บางส่วนออกไป ดังนั้น ถ้าสินทรัพย์ที่เราลงทุนขาดสภาพคล่อง เราอาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ทัน หรืออาจต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าที่ควรได้รับ

ทีนี้ผมจะลองยกตัวอย่างพอร์ตการลงทุนในเบื้องต้นเพื่อเป็นกรณีศึกษาและให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น สมมติว่า ในปี 2007 เราเกษียณอายุและได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินจากการขายกองทุน LTF/RMF เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 7 ล้านบาท และเราเลือกที่จะนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีการจ่ายเงินปันผลโดยคาดหวังว่า เราสามารถนำเงินปันผลที่ได้รับมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิตหลังเกษียณได้ โดยอย่างน้อยเราอยากได้รายรับต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 35,000 บาท

ในตัวอย่างนี้ผมจะแบ่งพอร์ตการลงทุนเป็นสองส่วนหลักคือ 6 ล้านบาทนำไปลงทุนในหุ้นปันผล อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดี และมีการเติบโตของกำไรที่ดี ส่วนอีก 1 ล้านบาทลงทุนในเงินฝากหรือกองทุนตราสารการเงินเพื่อเป็นสภาพคล่อง ในส่วนของหุ้นนั้น เราเลือกลงทุนใน 5 หุ้นในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน คือ หุ้นละ 1,2000,000 บาท โดยกระจายการลงทุนใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มสื่อสาร ลงทุนในหุ้น ADVANC กลุ่มวัสดุก่อสร้าง SCC กลุ่มการเงิน KKP และ ASK กลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ SPALI และถือยาวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในตารางข้างล่างผมได้นำผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลที่ได้รับในแต่ละปีนำมาแสดงให้ดู ซึ่งผมอยากชี้ให้เห็นสิ่งสำคัญ 3 ประการคือ 1) เงินปันผลที่ได้ในแต่ละปีนั้นสามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เราระบุเอาไว้ในเบื้องต้นคือ 35,000 บาทต่อเดือนได้ (อันนี้ต้องอย่าลืมว่าหุ้นที่เราลงทุนไม่ได้จ่ายปันผลกันทุกเดือน ดังนั้น ต้องมีการวางแผนการใช้จ่ายเงินและเงินปันผลที่จะได้รับกันให้ดี ซึ่งส่วนที่เราลงทุนในเงินฝาก หรือกองทุนมันนี่มาร์เก็ต สามารถชดเชยส่วนนี้ได้) 2) เมื่อเราลงทุนนานขึ้นเงินปันผลที่เราได้รับก็ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนนี้เป็นผลจากการที่บริษัทที่เราลงทุนมีการเติบโตของผลกำไรในแต่ละปี โดยแรกเริ่มเราได้รับเงินปันผลเฉลี่ยต่อเดือนที่ 37,800 บาท ในปี 2008 เป็น 91,249 บาท ในปี 2016 ที่ผ่านมา 3) เมื่อปี 2008 ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงอย่างรุนแรง แต่เมื่อเราไม่ได้ขายหุ้นออกไป เราก็ยังได้รับเงินปันผลอยู่ และสุดท้ายเมื่อถึงสิ้นปีที่ผ่านมา มูลค่าของพอร์ตของเราซึ่งดูจากราคาหุ้นล่าสุดปรับเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านขึ้นมาเป็น 21 ล้านบาท นั่นคือ ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเงินปันผลที่เราได้รับเพื่อนำไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว

ครับตัวอย่างที่นำมาแสดงนั้นเพื่อเป็นการชี้ให้เห็นถึงพลังของเงินปันผล และเมื่อนำมารวมกับการเติบโตของปันผลที่เราได้รับจะยิ่งทำให้เราสามารถตอบโจทย์การลงทุนของเราได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านสามารถนำไปเป็นแนวทางในการพิจารณาเพิ่มเติมต่อไป ท้ายสุดนี้ขอให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านโชคดีกับการลงทุนครับ