ห้องเรียนเพศวิถี ปัจเจก ชุมชนและสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้

ห้องเรียนเพศวิถี ปัจเจก ชุมชนและสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้

สัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดประเด็นข้อถกเถียงที่อ่อนไหวซึ่งเกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนใต้ปรากฏ

ในสื่อสังคมออนไลน์ สืบเนื่องมาจากรายการสารคดี ก(ล)างเมือง ตอน ห้องเรียนเพศวิถี ซึ่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 7 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยกิจกรรม ห้องเรียนเพศวิถีและสิทธิมนุษยชน ร้านหนังสือบูคู” หรือ Buku Classroom นั้น มีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์เพื่อ สร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเพศสภาวะ (gender) และเพศวิถี (sexuality) สำหรับผู้สนใจทั่วไปที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งรุนแรงซึ่งปัญหาเกี่ยวกับสุขภาวะและความรุนแรงทางเพศถูกละเลยและกลายเป็นสิ่งที่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้พรมมายาวนาน เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องนี้พร้อมกับสนับสนุนการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนที่มีเพศวิถีที่แตกต่างหลากหลาย”

กิจกรรมห้องเรียนเพศวิถีดังกล่าวถูกกล่าวหาว่า สอนให้รักร่วมเพศที่ปาตานี จนนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างรุนแรงของนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกพื้นที่ มีการใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง รวมถึงการข่มขู่ว่าจะใช้กำลังทำร้ายผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว

ประเด็นข้อถกเถียงหลักๆ คือ ด้านหนึ่งผู้จัดกิจกรรมห้องเรียนเพศวิถีอาศัยฐานคิดของสิทธิมนุษยชนสากลและแนวคิดแบบสตรีนิยม ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกเป็นหรือไม่เป็นตามที่เขาต้องการ ในขณะที่กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับกิจกรรมดังกล่าวอาศัยเหตุผลทางศาสนาที่มีข้อห้ามเรื่องการรักร่วมเพศของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นกลุ่มชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ และเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง

ข้อถกเถียงนี้เป็นการคิดบนฐานของคุณค่าที่แตกต่างกันซึ่งในบางครั้งหนุนเสริมซึ่งกันและกัน แต่ในบางคราวก็ขัดแย้งกันจนกระทั่งหาจุดร่วมกันได้ยาก คุณค่าที่แตกต่างกันนี้คือ ปัจเจกชน (Individual) กับ กลุ่มชน/ชุมชน (Collective/Community) ในด้านหนึ่งการเป็นสมาชิกกลุ่มชนหรือชุมชนก็เป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับในการสร้างความเป็นตัวตนของปัจเจกแต่ละคนในฐานะทางเลือกของสิ่งที่จะเป็น ในขณะที่ในบางครั้งกลุ่มชนหรือชุมชนก็กลับกดขี่บีบขับปัจเจกจากความเป็นสมาชิกของชุมชนเพราะความแตกต่างที่ชุมชนไม่อาจยอมรับได้

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนั้นกลุ่มคนที่ควรได้รับการใส่ใจ และได้รับการปกป้องคุ้มครอง ก็คือผู้เข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนเพศวิถี ที่เป็นคนมุสลิมและมีเพศสภาวะหรือเพศวิถีแตกต่างจากหลักการในทางศาสนาอิสลาม ชุมชนศาสนาอิสลามมาลายูปาตานีจะกำหนดที่ทางให้กับคนเหล่านี้อย่างไร

ในทางกฎหมายนั้นมีการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวอยู่เช่นกัน โดยเห็นตรงกันว่าคุณค่าทั้งสองเป็นสิ่งที่กฎหมายควรปกป้องคุ้มครอง แต่ข้อที่ยังเห็นไม่ตรงกันก็คือในกรณีที่คุณค่าทั้งสองขัดแย้งกันอย่างในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ กฎหมายควรจะปกป้องคุ้มครองสิ่งใด ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าหากระบบกฎหมายรับรองสิทธิในการเลือกที่จะออกจากการเป็นสมาชิกชุมชน แม้หลักการบางอย่างจะมีลักษณะที่ขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนอยู่บ้าง ชุมชนดังกล่าวก็ควรได้รับการปกป้องคุ้มครอง เพราะสมาชิกของชุมชนมีสิทธิที่จะเลือกเดินออกจากชุมชนดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ความเห็นดังกล่าวไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงอันหนึ่งซึ่งมีความสำคัญอย่างมากก็คือโดยทั่วไปแล้วเราไม่มีโอกาสเลือกที่จะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกชุมชนทางศาสนาเพราะมักจะติดตัวมาแต่กำเนิด และการออกจากการเป็นสมาชิกชุมชนทางศาสนาก็มักจะตามมาด้วยต้นทุนที่สูงมาก ๆ อีกทั้งในบางศาสนายังกำหนดให้การละทิ้งศาสนาเป็นความผิดด้วย ดังนี้ แม้กฎหมายจะรับรองสิทธิดังกล่าวซึ่งปรากฏชัดเจนในหลักการเรื่องเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ก็ไม่อาจแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคุณค่าทั้งสองได้ในทางปฏิบัติ

ในปัจจุบันจึงได้มีการเสนอแนวคิด สิทธิในวัฒนธรรมของฉัน” (my rights in my culture) ซึ่งมองว่าวัฒนธรรมและจารีตทั้งหลายไม่หยุดนิ่ง และไม่ได้เป็นเอกภาพหรือเป็นหนึ่งเดียว ด้วยเหตุนี้แนวคิดนี้จึงปฏิเสธการตีความหลักการหรือคำสอนโดยผู้นำชุมชนหรือผู้นำทางศาสนาเท่านั้น หากแต่เรียกร้องให้มีการรับฟังเสียงของความแตกต่างในฐานะการตีความหลักการหรือคำสอนในความหมายหนึ่งด้วย โดยการยอมรับผู้ที่คิดเห็นแตกต่างในฐานะที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเช่นกันให้ได้คิดได้พูดในสิ่งที่แตกต่าง อันจะนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างสันติในชุมชนทางศาสนานั้นเอง และหากมีความเปลี่ยนแปลงตามมาก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากภายในชุมชนนั้นเอง ที่สมาชิกในชุมชนร่วมคิด ร่วมแลกเปลี่ยนและร่วมตัดสินใจ หรือหากจะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใดๆ ตามมา สมาชิกในชุมชนก็ยังอยู่ร่วมกันและถกเถียงแลกเปลี่ยนกันได้อย่างสันติต่อไป

ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่เราจึงควรรับฟังกลุ่มเพื่อนชาวมุสลิมที่เข้าร่วมกิจกรรมห้องเรียนเพศวิถีให้มากขึ้นทั้งในฐานะสมาชิกของชุมชนและในฐานะผู้มีส่วนร่วมกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาโดยตรง เขาเหล่านั้นคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวอย่างไร และเขาควรได้แสดงสิ่งที่คิดเห็นโดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกทำร้ายหรือกลัวว่าจะไม่ได้รับการยอมรับจากชุมชน

เอาเข้าจริงแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็สะท้อนให้เห็นว่าเราพร้อมจะเคารพซึ่งกันและกันในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหรือไม่ ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติอย่างหนึ่งที่เราต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนร่วมในประเด็นถกเถียงนี้ที่มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้นั้นเราอาศัยภาษา สิทธิมนุษยชน” เช่นเดียวกัน แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้เราต้องตั้งคำถามว่าเราเข้าใจ “สิทธิมนุษยชน”ตรงกันหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดการเคารพกันในฐานะที่เป็นมนุษย์ย่อมเป็นคุณค่าที่ไม่ว่าใครที่เรียกร้องสันติภาพไม่อาจละเลยได้ และนี่คือบททดสอบหนึ่งที่จะบอกว่าเราสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายในพื้นที่นี้ได้หรือไม่

-------------------

สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์