Animal Welfare สวัสดิภาพสัตว์ที่มากกว่าความเป็นอยู่ที่ดี

Animal Welfare สวัสดิภาพสัตว์ที่มากกว่าความเป็นอยู่ที่ดี

สวัสดิภาพสัตว์ หรือ Animal Welfare เป็นเรื่องที่โลกให้ความสนใจ และตื่นตัวต่อการ

ผลิตอาหารโปรตีนจากสัตว์ที่ปลอดภัยและต้องไม่มาจากการทรมานสัตว์ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ พฤติกรรมการบริโภคของผู้บริโภคในสหภาพยุโรป หรือ EU ที่เปลี่ยนไปโดยไม่เพียงอาหารที่ทานต้องสะอาด มีความปลอดภัยในอาหาร (Food Safety) มีรสชาติถูกปากเท่านั้น แต่ยังมีความเข้มงวดในการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ โดยกำหนดให้มีระเบียบการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดีปลอดภัยต่อการบริโภค

เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในส่วนของกรมปศุสัตว์ที่ผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีซีพีเอฟเป็นผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นผู้นำด้านการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ปีกครบวงจร ที่มุ่งยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของสัตว์ปีกให้สูงขึ้น ด้วยการนำหลักสวัสดิภาพสัตว์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (Organization for Animal Health : OIE) และมาตรฐานหลักปฏิบัติและกฎระเบียบของ EU มาเป็นแนวปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2532 หรือนานกว่า 28 ปี เพราะเชื่อว่าการใช้หลักการดังกล่าวในอุตสาหกรรมไก่เนื้อ จะทำให้ได้เนื้อไก่ที่ได้มาตรฐานสากล ที่สำคัญการเลี้ยงดูสัตว์ให้มีความสบาย ถูกสุขลักษณะ จะส่งผลให้อาหารที่ส่งมอบสู่ผู้บริโภคทั่วโลกมีคุณภาพและความปลอดภัยสูงสุด

Five freedom ... หลักการสำคัญสร้างสวัสดิภาพสัตว์

ในกระบวนการเลี้ยง ไก่เนื้อ ของซีพีเอฟจะยึดหลักอิสระ 5 ประการ หรือ Five freedom มาปฏิบัติในฟาร์มเลี้ยง โดยเริ่มตั้งแต่

1.การไม่ให้สัตว์เกิดความหิวและกระหาย ด้วยระบบการให้อาหารและน้ำอัตโนมัติที่เหมาะกับความต้องการสัตว์ตลอดเวลา

2.การไม่ให้สัตว์เกิดความเจ็บป่วย บาดเจ็บและโรคภัย สัตว์ทุกตัวจะได้รับการดูแลจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิดประกอบกับเทคโนโลยีภายในโรงเรือนระบบปิดสามารถป้องกันการติดต่อและแพร่ระบาดจากสภาพแวดล้อมภายนอก

3.การให้สัตว์มีอิสระในการแสดงพฤติกรรม โดยสถานที่และอุปกรณ์การเลี้ยงจะถูกจัดให้มีพื้นที่เพียงพอตามความต้องการของตัวสัตว์ เพื่อให้สัตว์อยู่ไม่แออัดพร้อมแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

4.ไก่เนื้อต้องปราศจากความไม่สะดวกสบาย โดยเลี้ยงในโรงเรือนระบบปรับอากาศด้วยการระเหยของน้ำหรือที่เรียกว่า EVAP (Evaporative Cooling System) ทำให้โรงเรือนมีอากาศเย็นอุณหภูมิ เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต มีระบบการจัดการแสงสว่างและชั่วโมงการพักผ่อนที่เหมาะสมไม่ต่างกับมนุษย์ที่ต้องมีเวลากิน นอน หรือเล่น โดยกำหนดให้ชั่วโมงพักผ่อนประมาณ 6-8 ชั่วโมง ตลอดจนมีระบบการขนส่งที่ติดตั้งระบบ GPS Tracking System เพื่อมั่นใจว่าเส้นทางการขนส่งถูกต้องและตรงเวลา 

ที่สำคัญมีการลงทุนระบบ Modular System เป็นระบบขนส่งที่ช่วยลดความตื่นตระหนกและความแออัดของสัตว์ปีก ซึ่งเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมจากคณะกรรมการ EU ว่าเป็นเรื่องที่ดี เป็นการสร้างมาตรฐานการผลิตที่สูงขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ ที่ส่งผลถึงความเชื่อมั่นในด้านอาหารปลอดภัยจากประเทศไทยด้วย

และ 5.ไก่เนื้อต้องไม่เกิดความกลัวและความทุกข์ทรมาน ไม่ให้รับการบาดเจ็บ และเครียดน้อยที่สุด โดยต้องมีการปฏิบัติต่อสัตว์ด้วยความเอาใจใส่และปฏิบัติต่อสัตว์อย่างนุ่มนวล สร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติให้ประเทศไทยเป็นอุตสาหกรรมไก่เนื้อคุณภาพชั้นนำระดับโลก

ด้วยการผนวกหลักอิสระ 5 ประการ เข้ากับ 5 หัวใจการผลิต ทั้งสายพันธุ์สัตว์ที่ดี อาหารที่มีโภชนาการ วิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง การบริหารจัดการฟาร์มให้ได้มาตรฐาน และการป้องกันโรคอย่างเข้มข้นทำให้ไก่ที่ไม่เครียดสามารถเติบโตได้ตามความสามารถของสายพันธุ์ โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตและสารฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโตใดๆทั้งสิ้น

ซีพีเอฟเป็นบริษัทแรก นอกกลุ่มประเทศยุโรปที่ได้รับการรับรองระบบการจัดการสวัสดิภาพสัตว์ (Assured Chicken Production: ACP) ที่ให้ความสำคัญต่อหลักการเลี้ยงสัตว์ที่ได้มาตรฐานสากลเพื่อผลิตอาหารที่ปลอดภัย ขณะเดียวกันยังมีโครงการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านสวัสดิภาพสัตว์และคุณภาพเนื้อสัตวปีก (Poultry Welfare Trainers) ซึ่งดำเนินการร่วมกับ Bristol University ประเทศอังกฤษ พร้อมต่อยอดพัฒนาเจ้าหน้าที่สวัสดิภาพสัตว์ (Poultry Welfare Officer) ประจำทุกหน่วยงานมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เพื่อดูแลกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานกรมปศุสัตว์ ข้อกำหนดของอียูและทั่วโลก

นอกจากนี้ หลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีถือเป็นการช่วยสร้างเสริมให้สัตว์มีสุขภาพดีแข็งแรง นั่นคือเป็นการลดความเสี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะ เท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะไปโดยปริยาย

ทั้งหมดเป็นหนึ่งตัวอย่างของการพัฒนาภาคปศุสัตว์ ตามเป้าหมายการเป็น ครัวของโลก จากการดำเนินกิจการสอดคล้องมาตรฐานสากล เพื่อผลิตอาหารคุณภาพและปลอดภัยส่งมอบสู่ประชากรทั่วโลก

----------------

น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล 

รองกรรมการผู้จัดการด้านมาตรฐานการผลิตสัตว์ปีกและผู้เชี่ยวชาญสวัสดิภาพสัตว์ 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)