เดิมพันของประธานาธิบดีทรัมป์ (1)

เดิมพันของประธานาธิบดีทรัมป์ (1)

ในสัปดาห์แรกหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ นายโดนัล ทรัมป์ ลงนามในคำสั่ง

ประธานาธิบดีประมาณ 15 ฉบับ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายเป็นข่าวหน้า 1 ได้ทุกวัน นอกจากนั้น การให้สัมภาษณ์และการทวีทข้อความก็ทำให้การมาเยือนสหรัฐของประธานาธิบดีเม็กซิโกต้องถูกยกเลิกไป เรื่องที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือการประกาศยุติการให้ผู้ลี้ภัยทุกชาติเข้าประเทศสหรัฐเป็นการชั่วคราว 120 วันและห้ามคนจากประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกา 7 ประเทศ เดินทางเข้าประเทศสหรัฐ 90 วันคือประเทศ อิหร่าน อิรัก ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน ซีเรีย (ผู้ลี้ภัยจากซีเรียห้ามเข้าสหรัฐโดยไม่มีกำหนด) และเยเมน ต่อมามีการฟ้องร้องและศาลก็รับเรื่องไปพิจารณาและคงจะเป็นเรื่องเป็นราวกันไปอีกหลายเดือน

ในขณะเดียวกัน ที่รัฐบาลนายทรัมป์สร้างความไม่พอใจอย่างรุนแรงให้กับชาวมุสลิมทั่วโลก รวมทั้งผู้นำยุโรปตะวันตก ที่มีชาวมุสลิมอาศัยในประเทศของตน ไม่ต่ำกว่า 20 ล้านคน รัฐบาลนายทรัมป์ก็ยังทำให้ชาวยิวไม่พอใจอย่างรุนแรง เช่นกัน เพราะในการออกแถลงการณ์ประจำปีเพื่อรำลึกถึงการที่ชาวยิวถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust) นั้น ปรากฏว่าได้ลบข้อความที่กล่าวถึงการที่คนยิวเป็นผู้ถูกกระทำออกไปจนหมดสิ้น โดยมีการสืบสาวเรื่องนี้และพบว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการกระทำดังกล่าวคือ นาย Steve Bannon ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของของประธานาธิบดีทรัมป์ (และมีพฤติกรรมเป็นคนเหยียดผิวและไม่ชอบคนยิว) กล่าวโดยสรุปคือในเวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ประธานาธิบดีทรัมป์สามารถสร้างศัตรูได้รอบทิศ คือทำให้คนยิวและคนมุสลิมและคนเม็กซิกันโกรธเคือง ไม่รวมถึงการประท้วงต่อต้านจากกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มอื่นๆ อีกมากมาย นายทรัมป์คนที่มีความปราดเปรื่องในการคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างผิดความคาดหมาย กำลังเพลี่ยงพล้ำเพราะทำอะไรไม่คิดให้รอบคอบดังที่มีการวิเคราะห์กันจริงหรือไม่?

นอกจากที่กล่าวข้างต้นแล้วยังมีการออกคำสั่งที่เข้าใจยากคือการเปลี่ยนแปลงไม่ให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (Chairman of the Joint Chief of Staff) และประธานสำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ (Office of Director of National Intelligence) หรือ ODNI เป็นกรรมการถาวรในสมัชชาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Council) แต่ให้นาย Bannon เป็นกรรมการเข้าประชุม NSC ทุกครั้ง NSC นั้น มีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นหน่วยงานเดียวในทำเนียบขาว ที่ให้คำปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศและ ODNI นั้นก็เป็นสำนักงานที่ตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อ 11 กันยายน 2001 เพื่อประสานงานของหน่วยข่าวกรองทั้ง 16 แห่งของสหรัฐให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องและทันสมัยที่สุด เพื่อมิให้เกิดโศกนาฏกรรมเช่น 9/11 ได้อีก

ในด้านความมั่นคงนั้น ก็อาจเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาได้อีกในเร็ววันนี้ เพราะมีรายงานข่าวของรอยเตอร์อ้างสถาบันวิจัย 38 North Korea ที่อ่านรูปจากดาวเทียมและสรุปว่าเกาหลีเหนือน่าจะกำลังเริ่มเปิดใช้งานโรงปฏิกรณ์ที่ Yongbyon ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อผลิตพลูโตเนียม ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตระเบิดปรมาณู ทั้งนี้ฝ่ายข่าวกรองสหรัฐได้เคยประเมินว่าเกาหลีเหนือมีพลูโตเนียมอยู่ในการครอบครองอยู่แล้วประมาณ 52-54 กิโลกรัม เพียงพอที่จะผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ประมาณ 6-8 ลูก และน่าจะมีศักยภาพในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ได้ปีละประมาณ 1 ลูกเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้ผู้นำเกาหลีเหนือประกาศเมื่อต้นปีว่าเกาหลีเหลือ กำลังเตรียมทดสอบจรวดที่สามารถยิงข้ามทวีป (ไปถึงสหรัฐอเมริกา) หรือ ICBM ได้

รัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของรัฐบาลทรัมป์ นายพล Mattis จึงมีกำหนดการณ์จะมาเยือนเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้ ซึ่งเรื่องของเกาหลีเหนือก็น่าจะเป็นเรื่องที่สหรัฐและเกาหลีใต้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก โดยที่ทหารสหรัฐและเกาหลีใต้ก็เพิ่งจะเสร็จสิ้นจากการร่วมซ้อมรบกันจากจีนวันที่ 15 มกราคมถึง 3 กุมภาพันธ์

แต่ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้เคยกล่าวโจมตีความตกลงการค้าเสรี ที่สหรัฐเพิ่งลงนามร่วมกับเกาหลีใต้ นอกจากนั้น ทรัมป์เองก็เพิ่งทวีทแสดงความไม่พอใจที่ญี่ปุ่นขายรถยนต์ให้สหรัฐได้จำนวนมาก แต่เห็นรถอเมริกันวิ่งอยู่บนถนนน้อยคัน โดยต้องการกดดันเกาหลีใต้และญี่ปุ่นลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ และต้องการให้มีการลงทุนเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังเคยกล่าวในการหาเสียงว่าจะกดดันให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ต้องเพิ่มการร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายในการตั้งฐานทัพสหรัฐใน 2 ประเทศดังกล่าวอีกด้วย

ความต้องการของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ขัดแย้งและทับซ้อน ตลอดจนการดำเนินนโยบายและการกล่าวโจมตีประเทศคู่ค้าและพันธมิตรสหรัฐไปทั่วโลก (ยกเว้นรัสเซีย) นั้น ทำให้ต้องตั้งคำถามว่าประธานาธิบดีทรัมป์นั้นมีจุดมุ่งหมายและหลักคิดอย่างไรที่จะทำให้นโยบาย America First ประสบความสำเร็จ ซึ่งผมจะขอเรียบเรียงบทวิเคราะห์ต่างๆ ต่อในครั้งต่อไป ซึ่งจะเป็นการพูดถึงเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ในครั้งนี้ได้พยายามกล่าวถึงภาพรวมในมิติต่างๆ ทั้งการเมืองและความมั่นคง เพื่อให้เห็นความท้าทายสำหรับรัฐบาลทรัมป์และสำหรับเศรษฐกิจโลกโดยรวมครับ