คุกร้าง ปัญหาที่คนเนเธอร์แลนด์ต้องยิ้ม

คุกร้าง ปัญหาที่คนเนเธอร์แลนด์ต้องยิ้ม

เนเธอร์แลนด์กลายเป็นประเทศที่น่าอิจฉาขึ้นมาทันทีเมื่อชาวโลกได้รับรู้ว่าอีกไม่กี่ปี

ข้างหน้าประเทศนี้จะต้องปิดคุกทั้งหมด เพราะคุกร้างเนื่องจากไม่มีนักโทษให้ขังอีกแล้ว แม้ว่าคุกร้างจะหมายถึงการปล่อยให้ทรัพย์สินของรัฐถูกเก็บไว้เฉยๆ โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ จนคุกบางแห่งต้องหารายได้เสริมด้วยการรับจ้างขังนักโทษให้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างนอร์เวย์ เพื่อให้พนักงานผู้ดูแลคุกได้มีงานทำ แต่ก็ดูเหมือนกว่ากรณีนี้จะเป็นปัญหาที่ชาวเนเธอร์แลนด์ยอมรับได้อย่างน่าชื่นตาบาน

เนเธอร์แลนด์มีประชากรราว 17 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ถูกคุมขังจำนวน 11,600 หรือคิดเป็นสัดส่วนผู้ที่ถูกคุมขังต่อประชากรเท่ากับ 69 คน ต่อประชากร 100,000 คน สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา สัดส่วนดังกล่าวเท่ากับ 693 คน ประเทศมาเลเซียมีสัดส่วน 172 คน และประเทศไทยมีสัดส่วน 476 คน ถ้าเทียบกับเนเธอร์แลนด์ สัดส่วนผู้ต้องขังต่อประชากรของบ้านเราสูงกว่าเขาถึงเกือบ 7 เท่า

หากมองในเชิงการทำงาน ความต่างถึง 7 เท่านี้ ไม่น่าจะเกิดจากความแตกต่างของขนาดของทรัพยากรหรือความรู้ความสามารถของบุคลากร แต่น่าจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างในแนวคิดพื้นฐานและวิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหา

แนวคิดที่อยู่เบื้องหลังการทำงานทั้งหมด คือ คุกไม่ได้เป็นสถานที่ลงโทษผู้กระทำผิด แต่เป็นสถานที่สำหรับแก้ไขฟื้นฟูให้ผู้กระทำผิดได้มีโอกาสปรับปรุงตนเอง เวลาที่อยู่ในคุกจึงเป็นเวลาสำหรับการเตรียมความพร้อมเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปอยู่กับครอบครัว ชุมชน และสังคมได้อีกครั้งหนึ่ง ผู้ต้องขังในคุกบางแห่งของประเทศมีจึงมีอัตราการกระทำผิดซ้ำเพียง 10% เท่านั้น

สภาพห้องขังถูกออกแบบมาให้เหมือนห้องพัก ไม่ได้แออัด ผู้ต้องขังจึงมีพื้นที่ส่วนตัว ตอนที่ข่าวเรื่องเนเธอร์แลนด์จะปิดคุกทั้งหมดในประเทศ นักข่าวในหลายประเทศได้เผยแพร่ภาพของห้องขัง ซึ่งดูแล้วมีสภาพดีกว่าโรงแรมบางแห่งเสียอีก

ในด้านของเจ้าหน้าหน้าที่ นอกจากผู้คุมแล้ว ยังมีผู้ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังอีกหลายคน เช่น หากผู้ต้องขังที่ต้องโทษจากคดียาเสพติด ก็จะมีนักบัดยาเสพติดเข้าไปช่วยเหลือให้เลิกยา สำหรับอารมณ์ฉุนเฉียวที่เกิดขึ้นในระหว่างการถูกคุมขัง ก็จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมอารมณ์มาช่วยสอนให้ ผู้ต้องขังเรียนรู้วิธีการที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเอง หากข้อมูลบ่งชี้ว่าผู้ต้องขังนอกจากจะติดยาแล้วยังมีปัญหาด้านหนี้สิน ก็จะมีคนมาช่วยให้คำแนะนำด้านการวางแผนทางการเงิน โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเรื่องการบริหารจัดการหนี้สิน นอกจากนี้แล้ว ผู้ต้องขังจะได้รับการฝึกอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังได้เรียนต่อเพื่อยกระดับวุฒิการศึกษาของตนเอง ในบางโอกาสจะมีการฝึกอบรมทักษะเฉพาะด้านเพื่อเสริมความสามารถอีกทางหนึ่ง และเมื่อใกล้พ้นโทษก็จะมีผู้ที่รับผิดชอบในการหางานให้ทำหลังจากพ้นโทษด้วย

แม้ว่าแนวคิดนี้จะไม่ได้ใช้ได้กับผู้ต้องขังทุกคน แต่ก็ได้ผลกับคนส่วนใหญ่ที่ต้องเข้ามาอยู่ในคุก และถ้าคนส่วนใหญ่ติดคุกเพียงครั้งเดียวแล้วไม่กลับมาอีก ก็หมายความในระยะยาวรัฐสามารถจะทุ่มเททรัพยากรไปกับการดูแลผู้ที่กระทำผิดซ้ำมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการบำบัดฟื้นฟูคนกลุ่มนี้ให้ดีขึ้นได้มากกว่ากรณีที่ต้องเอาทรัพยากรไปกระจายเพื่อดูแลคนหลายกลุ่มพร้อมกัน

นอกจากการดูแลภายในคุกแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นนอกคุกก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ในด้านของกฎหมายนั้น ถึงจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น แต่ก็มีการผ่อนปรนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในบางประเด็นเพื่อผลักดันผู้ติดยาให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดฟื้นฟูมากกว่าการติดคุก นอกจากนี้แล้ว ผู้พิพากษายังมีแนวโน้มที่จะใช้แนวทางอื่นที่ไม่ใช่การจำคุกเพื่อเป็นบทลงโทษผู้กระทำผิด เช่น การบริการชุมชน จ่ายค่าปรับ หรือแม้แต่การติดเครื่องติดตามตัว แล้วปล่อยให้กลับไปอยู่กับครอบครัว ซึ่งในบางกรณีผู้กระทำผิดก็ยังสามารถกลับไปทำงานได้อีกด้วย

ปัจจัยสำคัญเรื่องสุดท้ายที่มีผลต่อความสำเร็จ คือ ข้อได้เปรียบในเชิงประชากรศาสตร์ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเกิดจากการที่ประชากรของประเทศจำนวนไม่น้อยเป็นผู้สูงวัย จึงทำให้มีคนกระทำผิดลดลง นอกจากนี้แล้ว เนื่องจากประชากรของประเทศส่วนใหญ่เป็นคนเนเธอร์แลนด์โดยกำเนิด ทำให้สังคมของเขามีความเป็นสังคมเดี่ยว และหากพิจารณาจากข้อมูลของผู้ต้องขัง พบว่าผู้ต้องขังที่เป็นผู้อพยพมาจากประเทศอื่นมีสัดส่วนมากกว่าชาวเนเธอร์แลนด์โดยกำเนิด สะท้อนให้เห็นว่า ผู้อพยพมีแนวโน้มจะกระทำผิดมากกว่า ด้วยเหตุนี้ การที่ประชากรแทบทั้งหมดของประเทศยังคงเป็นชาวเนเธอร์แลนด์ จึงทำให้จำนวนคดีที่เกิดขึ้นมีไม่มากนัก

แม้ว่าประเทศไทยกับเนเธอร์แลนด์จะมีบริบทที่แตกต่างกัน แต่ก็มีบทเรียนดีๆ ที่เราสามารถเรียนรู้เพื่อนำมาปรับใช้กับบ้านเราได้ จะดีสักแค่ไหนถ้าวันหนึ่งเราได้รู้ว่าประเทศไทยจะไม่มีคุกอีกต่อไป