จาก New Normal สู่โลกยุค 4.0 (3): ทางออก

จาก New Normal สู่โลกยุค 4.0 (3): ทางออก

ในตอนสุดท้ายของโลกยุค 4.0 อันเป็นโลกที่ “เศรษฐกิจผันผวน การค้าโดดเดี่ยว การเมืองอึม

ครึม แต่เทคโนโลยีให้ความหวัง” นั้น ผู้เขียนขอเสนอทางออกของผู้บริหารธุรกิจ รวมถึงนักลงทุนในโลกที่ความผันผวนสูง และอึมครึมไม่แน่นอน

ในโลกเช่นนี้ ผู้บริหารก็เปรียบได้กับนักรบที่เข้ามาสู่สมรภูมิที่ไม่เคยเหยียบย่างมากก่อน แม้จะพอทราบบ้างว่าศัตรูคือใคร แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมาไม้ไหน รวมถึงจะมีปัจจัยที่คาดไม่ถึงอะไรบ้าง ซึ่งการที่จะรบชนะในสมรภูมิเหล่านั้น ผู้บริหารจะต้องใช้การบริหารจัดการแบบ VUCA Management ซึ่งย่อมาจาก Volatility หรือความผันผวน Uncertainty หรือความไม่แน่นอน Complexity หรือความซับซ้อน และ Ambiguity หรือความคลุมเครือ

กลยุทธที่จะใช้ในสมรภูมิ VUCA คือ หนึ่ง จะต้องศึกษาหาความรู้ถึงสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงคาดการณ์เป็นกรณีต่าง ๆ (Scenario) สอง ต้องเตรียมพร้อม รวมทั้งมีแผนฉุกเฉินรองรับ สาม ต้องกระจายความเสี่ยง ไม่ปักใจเชื่อว่าเหตุการณ์จะเป็นดังที่คาดไว้ 100% และสี่ อาจจำเป็นต้องทำประกันความเสี่ยง เพื่อลดโอกาสสูญเสีย

เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการบริหารจัดการดังกล่าว ผู้เขียนขอยก 8 ปัจจัยที่จะมีผลต่อโลกยุค 4.0 และใช้หลักการ VUCA Management ดังนี้

หนึ่ง นโยบายเศรษฐกิจทรัมพ์ (Trumponomics) โดยในกรณีดีจะเป็น Good Trump (เน้นแต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดภาษี สร้างโครงสร้างพื้นฐาน) ส่วนกรณีแย่จะเป็น Bad Trump (เน้นแต่นโยบายสร้างความแตกแยก เช่น เนรเทศผู้อพยพ กีดกันทางการค้า)

สอง Brexit (มติอังกฤษขอออกจากสหภาพยุโรป) ว่าจะเป็น Hard Brexit (ต้องเจรจาการค้ากับยุโรปใหม่หมด แต่อาจพอตกลงกันได้) หรือจะเป็น Train-Crash Brexit (ตกลงกันไม่ได้ภายใน 2 ปีหลังเริ่มเจรจา ทำให้ภาษีระหว่างอังกฤษและยุโรปขึ้นเป็น 10% ทันที)

สาม การเลือกตั้งในยุโรป โดยในปีนี้ยุโรปจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในหลายประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งในกรณีดี คือพรรคที่เน้นนโยบายสายกลางชนะเลือกตั้ง แต่ในกรณีแย่คือพรรคขวาจัดสุดโต่ง (ที่ได้รับคะแนนนิยมมากขึ้น) ได้รับเลือกตั้ง นำไปสู่การทำประชามติขอออกจากยุโรป

สี่ ฟองสบู่จีน จีนมีความเสี่ยงเศรษฐกิจสำคัญ 3 ประการ คือ หนี้ภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้นมหาศาล กระแสเงินทุนที่ไหลออกต่อเนื่อง และฟองสบู่ภาคอสังหาฯ กรณีดีคือรัฐบาลจีนสามารถบริหารจัดการให้ความเสี่ยงทั้งสามบรรเทาลงโดยไม่เกิดวิกฤต ส่วนกรณีแย่คือหนึ่งในสามความเสี่ยงเกิดระเบิดขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ

ห้า ข้อตกลงการลดกำลังการผลิตน้ำมันระหว่างสมาชิกในกลุ่มโอเปกและนอกกลุ่มถึง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ ซึ่งในกรณีดีคือข้อตกลงนั้นสามารถทำได้จริง โดยไม่มีสมาชิกใดโกงและแอบผลิตออกมามากเกินไป ทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวอยู่ที่ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนกรณีแย่คือมีสมาชิกหนึ่งใดโกงโควต้า ทำให้ราคาปรับลดลงมาก

หก ความแตกต่างของนโยบายการเงิน (Policy Divergence) โดยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ยุโรปและญี่ปุ่นยังคงนโยบาย QE โดยอัดฉีดต่อเนื่อง โดยทยอยลดทอนการอัดฉีดลง ซึ่งในกรณีดีคือ Fed ทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ยุโรปและญีปุ่นค่อย ๆ ทยอยลดทอนการอัดฉีดอย่างช้า ๆ ซึ่งจะทำให้ตลาดการเงินไปต่อได้ ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับขึ้นบ้างอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนในกรณีแย่คือการที่ Fed ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วจนกระทบเศรษฐกิจในวงกว้าง และจำเป็นต้องลดภายหลัง

เจ็ด ไทยแลนด์ 4.0 หรือแนวนโยบายของรัฐในการหาเครื่องยนต์ผลักดันเศรษฐกิจใหม่ หลังจากที่ความสามารถในการแข่งขันของไทยทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีดี คือ รัฐสามารถผลักดันอุตสาหกรรมใหม่มาทดแทนของเดิม เช่น (1) รถยนต์ไฟฟ้าแทนการผลิตรถกระบะ (2) Sensor ที่จำเป็นในการทำ Internet of Things แทน Hard Disk Drive ของเดิมที่กำลังจะล้าสมัย และ (3) ส่งเสริม Fintech อื่นๆ รวมถึง Promptpay แทนที่ธุรกรรมด้วยเงินสด ส่วนกรณีแย่คือ รัฐไม่สามารถผลักดันได้

และ สุดท้าย ได้แก่ เทคโนโลยี 4.0 ที่ผสานการผลิตในโลกจริงและโลกเสมือนเข้าด้วยกัน โดยในกรณีดี คือ เทคโนโลยี 4.0 จะทำให้การผลิตทั่วโลกรุดหน้ายิ่งขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) สามารถพัฒนาจนกลายเป็นรถยนต์ไร้คนขับ (AV) ขณะที่ Fintech ก็เป็นที่ยอมรับทั่วไป และสามารถทำให้ต้นทุนการทำธุรกรรมทั่วโลกลดลง ส่วนกรณีแย่ คือ เทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาแย่งงานแรงงานทั่วไป จนเกิดกระแสต่อต้านเป็นวงกว้างและไม่ได้รับการยอมรับ

จาก 8 ปัจจัยดังกล่าว สามารถสรุปเป็น 2 สถานการณ์ (Scenario) กว้างๆ ได้ว่า ในสถานการณ์ดีนั้น ภาพของเศรษฐกิจรวมถึงตลาดเงินตลาดทุนอาจเป็นดังนี้ คือ หุ้นขึ้นต่อเนื่องทั่วโลกโดยเฉพาะสหรัฐ ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น ค่าเงินปอนด์ไม่อ่อนค่ามาก การลงทุนในยุโรปน่าสนใจ เพราะราคาที่ปรับลงมาก่อนหน้าถือได้ว่าถูกแล้ว ส่วนราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์จะเป็นขาขึ้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมไทยจะสามารถผลิตและส่งออกได้มากขึ้น ดังนั้น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยีจึงน่าสนใจ

ส่วนในสถานการณ์แย่นั้น หุ้นอาจตกและผันผวน ผลตอบแทนพันธบัตรไม่สามารถปรับขึ้นได้มากนัก เงินปอนด์อ่อนค่าลงมาก เศรษฐกิจรวมถึงตลาดหุ้นยุโรปตกต่ำ ค่าเงินยูโรอ่อน แต่ดอลลาร์และเยนแข็ง ราคาน้ำมันและโภคภัณฑ์กลับมาถูกลงอีกครั้ง การลงทุนในสินค้าจำเป็นจึงน่าสนใจมากกว่าอิเล็กทรอนิกส์และเทคโนโลยี ในขณะที่ผู้บริหารอาจชะลอการลงทุน เก็บเงินสด รวมถึงพันธบัตรไว้ในยามจำเป็น

ทั้งหมดนี้คือการบริหารแบบ VUCA Management ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องไม่ปักใจในสถานการณ์หนึ่งใดเต็มร้อย แต่ต้องเผื่อใจและกระจายความเสี่ยงด้วย เพื่อให้สามารถชนะได้ในโลกแห่งความผันผวน

สำหรับผู้อ่านที่สนใจในรายละเอียด สามารถเข้าร่วมสัมมนากับผู้เขียนและกูรูด้านเศรษฐศาสตร์และการลงทุนอีกหลายท่านได้ในงานสัมมนาประจำปีของ Money Channel ในวันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ รายละเอียดติดตามได้ในWebsite www.moneychannel.co.th

------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่