จุดตายประเทศไทย สูงวัยระดับสุดยอด

จุดตายประเทศไทย สูงวัยระดับสุดยอด

การประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนมกราคม

ของทุกปีนั้น นอกจากจะมีบรรดผู้นำประเทศมหาอำนาจและนักธุรกิจชั้นนำมารวมตัวกันแล้ว หากใครติดตามจะทราบว่ามีการออกรายงานหลายเรื่องและหนึ่งในนั้นคือ รายงานความเสี่ยงโลก (The Global Risks Report) ซึ่งออกมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2006 วิเคราะห์ความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่โลกต้องเผชิญและพยายามช่วยกันหาทางรับมือ

ความเสี่ยงในอดีต ได้แก่ ค่าน้ำมันแพงขึ้น หนี้สิน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความยากจน เป็นต้น 

ความเสี่ยงเหล่านี้ผ่านมาหลายรอบแล้วจึงพอรู้วิธีป้องกันและควบคุม แต่ความเสี่ยงใหม่ที่ทุกประเทศต่างตื่นตัวหวาดกลัว คือ ภัยธรรมชาติ (เช่น น้ำท่วมใหญ่ สึนามิ) โรคระบาดใหม่ (เช่น ไข้หวัดนก ซาร์ส เมอร์ส) การก่อการร้าย ภาวะโลกร้อน รวมทั้งสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยเผชิญมาก่อนแต่สร้างความเสียหายใหญ่หลวง ที่นักธุรกิจและผู้นำประเทศต่างๆ ต้องเรียนรู้และหาทางจัดการ

ประเทศไทยเองก็เผชิญกับโรคไข้หวัดนกและคลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดฝั่งอันดามันในปี 2547 ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ปี 2552 มหาอุทกภัยในภาคเหนือและภาคกลางปี 2554 ระเบิดที่ราชประสงค์ปี 2558 และล่าสุดก็น้ำท่วมที่ภาคใต้ สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหญ่หลวงในภาคการผลิต บริการ และท่องเที่ยว

ในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุนั้น ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุโรป ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ถึงแม้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้วตาม แต่ก็เป็นภาวะ รวยก่อนแก่” นั่นคือสามารถพัฒนาเศรษฐกิจยกระดับความเป็นอยู่และรายได้ให้พอมีพอกินกันแล้ว จึงค่อยเป็นสังคมที่มีคนแก่ในสัดส่วนเพิ่มขึ้นกว่าคนหนุ่มสาววัยทำงาน แต่ไทยนั้นไม่ใช่ ในอีก 5 ปี (พ.ศ. 2564) เราจะเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) หรือสังคมที่มีผู้สูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 15 ปี (พ.ศ. 2574) จะเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หรือสังคมที่มีผู้สูงวัย (อายุ 65 ปีขึ้นไป) มากกว่าร้อยละ 21 แต่ในภาวะ แก่ก่อนรวย หรือ ทั้งแก่และจน

กล่าวกันว่าจีนและไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนารายแรกๆ ที่ต้องเผชิญปัญหานี้ด้วยเงินออมที่จำกัด หากไม่เตรียมรับมือล่วงหน้า สังคมไทยจะอ่อนแอ เศรษฐกิจไทยจะอ่อนแรง จึงเป็นจุดตายของไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ดังนั้น การที่จะมองประเทศพัฒนาแล้วว่าเขาจัดการกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุกันอย่างไรเท่านั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะเขาวางนโยบายโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าประชาชนมีรายได้พอมีพอกินระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งผิดกับของไทยที่รายได้ทั้งของรัฐและประชาชนเองคาดว่าจะไม่พอค้ำจุน

ภาพที่จะเห็นคือประชากรไทยจะลดลงทุกปี ขณะที่ 1 ใน 5 คนจะมีอายุ 65 ปีขึ้นไป และอีก 4 ใน 5 คนที่เหลือก็มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างสูง ภาระดูแลผู้สูงวัยเพิ่มทวีคูณ ต้องการโรงพยาบาล สถานสงเคราะห์คนชรา และผู้ดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และจะไม่พอจนคนทำงานจำนวนมากต้องลาออกมาดูแลพ่อแม่ที่ป่วยเอง เกิดปัญหาผู้สูงอายุตายโดดเดี่ยวไม่มีใครรู้ (ตายอนาถไม่มีญาติ) ปัญหาการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุเอง หรือฆ่าตัวตายหมู่กับคนในครอบครัวที่คอยดูแลเพิ่มขึ้น แรงงานหนุ่มสาวหายาก มีเด็กน้อยลง โดยหนุ่มสาวจะถูกบีบคั้นให้ดูแลทั้งคนชราและเด็ก ทำงานเหน็ดเหนื่อยจนไม่อยากมีลูก เครียดขาดความมั่นใจ ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติที่มีความรู้น้อยทำได้แต่งานระดับล่าง การพัฒนาประเทศจะถดถอย ถูกเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและเมียนมา ที่มีแรงงานหนุ่มสาวมากกว่าแซงหน้าอย่างขาดลอย

ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ทั้งที่เตรียมรับมือกับปัญหานี้มานานและเป็นสังคม “รวยก่อนแก่” คนชราญี่ปุ่นออมเงินสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก ยังต้องล้มลุกคลุกคลานกับเศรษฐกิจตกต่ำเรื้อรังนานกว่าสองทศวรรษ (Two Lost Decades) ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ดูเหมือนยากที่จะทำให้อัตราเติบโตสูงเป็นสองหลักอย่างในอดีตที่มีแรงงานหนุ่มสาวมากมายได้ ซ้ำยังต้องเสียหน้าอย่างหนักที่ถูกจีนซึ่งพัฒนาไล่ตามหลังมาแซงหน้าไป

รัฐบาลญี่ปุ่นก่อหนี้สาธารณะมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เพราะภาระดูแลผู้สูงวัยนั้นหนักอึ้งจนต้องขึ้นภาษีการขาย (หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม) การใช้จ่ายกับผู้สูงวัยนั้นเสมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเพราะไม่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพใดๆ เมื่อเทียบกับลงทุนการผลิตหรือบริการต่างๆ ยิ่งทำให้คนห่วงอนาคตไม่ยอมควักกระเป๋าใช้จ่าย ส่งผลต่อรายได้ของภาคธุรกิจที่มีท่าทีเมินเฉยไม่อยากปรับขึ้นค่าแรง วัฒนธรรมการจ้างพนักงานประจำจนเกษียณอายุก็สั่นคลอน บริษัทเลือกจ้างพนักงานไม่ประจำหรือจ้างตามสัญญาเพิ่มขึ้นเพื่อลดต้นทุน ทำให้พนักงานมีรายได้ไม่แน่นอนขาดความมั่นคง ยิ่งทำให้กำลังซื้อในประเทศลดลง คนหนุ่มสาวเลือกแต่งงานช้าเพราะต้องเก็บเงิน ไม่อยากมีลูก นำไปสู่การติด “กับดักสังคมสูงวัยระดับสุดยอด” คนชรายิ่งเพิ่ม หนุ่มสาวยิ่งลด ยากเหลือเกินที่เศรษฐกิจจะเงยหน้าฟื้นตัว

กับดักสังคมสูงวัยระดับสุดยอด

ในปัจจุบันมีคนพูดถึงสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ที่ไทยต้องเผชิญในอีก 5 ปีข้างหน้าแล้ว แต่บทความนี้ต้องการเตือนให้เรามองไกลไปอีกว่ามีสังคมสูงวัยระดับสุดยอดรออยู่ในอีก 15 ปีข้างหน้า จะมาพร้อมกับวิกฤตทุนมนุษย์ วิกฤตตลาดแรงงาน วิกฤตครอบครัวและสังคม อันหนักหน่วงที่เราไม่เคยประสบมาก่อน และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศโดยตรง ต้องการส่งสัญญาณเตือนให้สังคมไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักรู้และเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้าในระดับที่วิกฤติมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อมุ่งสร้างสังคมเข้มแข็งและครอบครัวที่อบอุ่น ตอบคำถามได้ว่าเราจะใช้ชีวิต (รวมทั้งตาย) อย่างมีคุณภาพอย่างไร รวมทั้งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมระหว่างครอบครัว ผู้สูงอายุ และแรงงานกลุ่มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อไม่ให้ติดกับดักสังคมสูงวัยระดับสุดยอดอย่างญี่ปุ่น

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ในหนังสือ “ถอดบทเรียนจ้างงานและบริหารทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นยุคสูงวัยระดับสุดยอด” ที่ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่ะ

--------------------

เนตรนภา ไวทย์เลิศศักดิ์ (ยาบุชิตะ)

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์