ม.44 ฉบับทรัมป์: ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด?

ม.44 ฉบับทรัมป์: ลูกบ้าเที่ยวล่าสุด?

มีหลายคนถามผมว่า หากว่ากันแฟร์ๆ แล้ว นโยบายต่างๆที่ออกโดย ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

โดนัลด์  ทรัมป์ ในตอนนี้ จะพาอเมริกาไปสู่ความตกต่ำหรือรุ่งเรืองกันแน่

ก่อนอื่น มาดูเบื้องหลังของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ถอดด้ามกันก่อน ต้องยอมรับว่านายทรัมป์เติบโตมาในยุคที่อเมริกาสูญเสียความเป็นหนึ่งในเวทีโลก ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและความร่ำรวยของคนในชาติ พร้อมๆ กับที่การขึ้นมาผงาดของมังกรจีน รวมถึงเขาเองก็สร้างตนเองขึ้นมาส่วนหนึ่ง ในเซกเตอร์ของเศรษฐกิจยุคเก่า อย่างโรงแรมและอสังหาริมทรัพย์ ที่สำคัญเเขาทำหน้าที่ป็นกรรมการในรายการฮิตเกมโชว์ทางทีวีมากว่า 10 ปี ที่ตัดสินว่าจะจ้างหรือไม่จ้างคนงานที่ส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวที่มีการศึกษาไม่สูงต่อหรือไม่ในรายการ The Apprentice

ทำให้เขาจึงรู้ดีถึงหัวอกของชาวรากหญ้าของอเมริกา เลยไม่แปลกใจที่นายทรัมป์จะเดินเกมในการออกคำสั่ง Executive Order หรือ ม.44 ฉบับของป๋าทรัมป์ที่เน้นเราจะทำตามสัญญาขอเวลาอีกไม่นาน ทั้ง TPP และโครงการท่อน้ำมันระหว่างแคนาดากับสหรัฐ และที่จะออกมาอีกเพียบที่เน้นเอาใจชาวรากหญ้า จะโดนใจชาวอเมริกันส่วนใหญ่ขนาดไหน

ผมขอมองนโยบายทรัมป์เป็นสองส่วน คือ สิ่งที่ผมว่าทำแล้วดูไม่เข้าทาง กับ สิ่งที่เห็นว่านายทรัมป์ทำแล้วโดน ดังนี้

เริ่มจากมุมแรก ในตอนนี้ จากมุมของนักวิชาการ ส่วนใหญ่จะมองว่านโยบายต่างๆที่นายทรัมป์ทำอยู่ในตอนนี้ เหมือนลิงหลอกเจ้า คือทำไปแบบเปะปะ โดยการที่ นำไปพาอเมริกาไปในทิศทางที่หันหน้าเข้าหาตนเองเป็นหลัก อาทิ การสร้างกำแพงกั้นเขตแดนระหว่างสหรัฐกับเม็กซิโก หรือการยกเลิกความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-Pacific Partnership หรือ TPP โดยไม่สนใจแนวทางการค้าแบบเสรีที่ตนเองเป็นหัวหอกสนับสนุนมาโดยตลอด ด้วยเหตุผลที่ว่าอเมริกาโดนปล้นความร่ำรวยจากประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจีนที่ใช้นโยบายค่าเงินถูกมาเก็บเกี่ยวหาผลประโยชน์จากการส่งออกตลอดช่วงทศวรรษที่ 90 และ 2000 หรือเม็กซิโก ที่มาแย่งงานที่ใช้แรงงานจากชาวอเมริกา

นักวิชาการส่วนใหญ่มองว่า ในความเป็นจริงแล้ว แนวทางดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เนื่องจากโลกทุกวันนี้ ในเชิงเศรษฐกิจ การค้าที่อยู่ในรูปของสินค้าแบบกายภาพที่เห็นกันแบบจับต้องได้นั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกต่อไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจแบบดิจิตอลต่างหากที่ดันเศรษฐกิจให้เติบโต

หากมองในมุมหลัง ส่วนของนักธุรกิจและผู้จัดการกองทุนรุ่นเดอะหลายท่าน กลับมองว่า สหรัฐอเมริกาใช้แนวทางการบริหารเศรษฐกิจแบบลูกคุณหนูมานาน โดยเน้นนโยบายการค้าเสรีแบบที่ไม่สร้างกำแพงให้จำกัดความเสียเปรียบเชิงการค้าและแรงงาน กับประเทศที่อาศัยแรงงานถูกมาขโมยความร่ำรวย และการจ้างงานของชาวสหรัฐมาตลอด การพลิกโฉมของนโยบายนายทรัมป์แบบโกยผลประโยชน์เข้าบ้านอย่างเดียว จะสามารถตอบโจทย์ความตกต่ำของชาวอเมริกันได้แน่

คำถามคือใครถูกใครผิดกันแน่ หรืออาจจะพูดว่า ถ้าจะแฟร์กับนายทรัมป์แล้ว เขาสมควรโดนรุมตำหนิจากนโยบายที่ดูออกจะเพี้ยนๆไหม

ผมมองว่า หนึ่ง นายทรัมป์ทำถูกที่ไหนๆ จะเปลี่ยนโฉมอเมริกาก็เล่นให้นโยบายแบบหักดิบอาทิ เพื่อให้การลงทุนกลับมาผ่านนโยบายภาษีที่เก็บต่อโรงงานสหรัฐที่ไปเปิดในต่างประเทศ จัดเต็มกับจีนแบบดันนโยบายกีดกันทางการค้าแบบเต็มที่ เพื่อให้การส่งออกสูงขึ้นและการนำเข้าลดลง หรือกระทั่งการใช้ ม. 44 ฉบับทรัมป์ในการดำเนินนโยบายเน้นการขนส่งน้ำมันผ่าน โครงการ Keystone Pipeline เพื่อสร้างงานในประเทศ โดยนโยบายทั้งหมดสามารถให้ผลดีต่อในแง่จิตวิทยาเหมือนอย่างที่นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ของธนาคารกลางสหรัฐสามารถทำได้

สอง ผมคิดว่านโยบายนายทรัมป์ท้ายสุดแล้วจะเหมือนอย่างที่นักวิชาการพูด คือการเน้นกีดกันทางการค้าแบบดื้อๆไม่ช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้นในระยะยาว เนื่องจากในสงครามการค้า ต่างฝ่ายต่างเสียเปรียบ แต่ในระยะ 2-3 ปีนี้ สามารถจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เนื่องจากสหรัฐมีกำลังทหารที่แข็งแกร่งกว่าประเทศอื่นๆอยู่มากโข อย่างไรเสีย ก็ได้เปรียบจากสงครามทางการค้าที่ใช้ความได้เปรียบนี้ข่มขู่คู่ค้าได้

สาม แต่อย่างไรก็ดี การที่เล่นสงครามทางการค้ากับจีนนั้น หากเล่นกันจนเกิดอารมณ์ที่รุนแรงทั้งสองฝ่าย อาจเกิดอุบัติเหตุด้านสงครามทางเศรษฐกิจที่คาดไม่ถึง อาทิ การคว่ำบาตรสินค้าหลักๆ ที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ซึ่งความเสียหายจะสูงแต่เกิดขึ้นเพราะความไม่ยอมกัน แม้ว่าในภาวะปกติจะไม่มีทางเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้ก็ตาม

ท้ายสุด ผมว่าการที่นายทรัมป์ไปเล่นเกมผูกมิตรกับนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียหรือไปแหย่จีนด้วยการท้าทายไปคบค้ากับไต้หวันแบบเปิดเผย ก็เป็นความเสี่ยงที่อาจเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองระหว่างประเทศในแง่ของความมั่นคงได้เช่นกัน

ผมคงต้องบอกเหมือนเดิมว่า เชียร์ป๋าทรัมป์.. ต้องทำใจกันหน่อยครับ