อนาคตของเงิน 1.3 ล้านล้านบาท

อนาคตของเงิน 1.3 ล้านล้านบาท

เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้อ่านบทวิจัยของทาง Google ที่ได้เปิดเผยข้อมูล เกี่ยวกับมูลค่าธุรกิจดิจิทัลในประเทศไทย

Google คาดการณ์ว่า ตลาดดิจิทัลจะมีมูลค่าถึง 37,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ภายใน ปี 2025 ที่จะถึงนี้

ที่น่าสนใจก็คือ จากตัวเลขมูลค่าธุรกิจมากมายมหาศาลที่ Google เปิดเผยอันนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและท่องเที่ยว จะมีมูลค่ารวมกันแล้วคิดเป็น 88% ของมูลค่าตลาดโดยรวมทั้งหมด!

เรียกได้ว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและท่องเที่ยวจัดหนักและจัดเต็มมากๆ ถ้าตัวเลขจะไปแตะ 1.3 ล้านล้านบาทแบบที่ Google คาดการณ์ในปี 2025 จากนี้ไป ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะเติบโตประมาณ 29% ต่อปี และธุรกิจท่องเที่ยวจะเติบโตประมาณ 18% ต่อปี

อีกหนึ่งข้อมูลที่น่าสนใจคือ ธุรกิจโฆษณาสื่อดิจิทัล Google ทำนายว่าภายในปี 2025 ธุรกิจสื่อดิจิทัล จะมีมูลค่าถึง 80,000 ล้านบาท หรือ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของงบโฆษณาทั้งหมด (บัจจุบันอยู่แค่ประมาณ 10% )

ผมเองไม่แปลกใจกับตัวเลขของ Google เท่าไรนัก เพราะประเทศของเรามีปัจจัยเกื้อหนุนในการเติบโตทางด้านดิจิทัลมากมาย ทั้งจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและจำนวนผู้ใช้งานมือถือ ที่โตแบบก้าวกระโดดต่อเนื่องทุกเดือน แถมยังมีพฤติกรรมเสพติด Social Media อย่างหนัก ใช้งานมือถือเฉลี่ยถึงวันละ 3.8 ชั่วโมง ณ บัจจุบัน

จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไรนักครับ ที่ประเทศไทยเราจะเนื้อหอมขนาดหนัก ต่างชาติพากันทยอยเข้ามาลงทุนในธุรกิจดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ในทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของ อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยว และ สื่อดิจิทัล เรียกว่า Segment ใหญ่ๆ ในธุรกิจดิจิทัล ในประเทศไทยเรา โดนต่างชาติยึดเรียบ

อีคอมเมิร์ซ มี Lazada ของ แจ๊ค หม่า เจ้าของเดียวกับ Alibaba

ท่องเที่ยว มี Agoda ที่เจ้าของธุรกิจโรงแรมในไทย ไม่มีใครกล้าหือ

สื่อดิจิทัล มี Google & Facebook เข้ายึดครอง ตอนนี้น่าจะกินมาร์เก็ต แชร์ไปสัก 60-70% เข้าไปแล้ว

ยังนับว่าโชคดี ว่ารัฐบาลเรายังมีวิสัยทัศน์ ประกาศนโยบาย Thailand 4.0 สนับสนุนและผลักดัน ธุรกิจดิจิทัล มีโครงการออกมาสนับสนุนธุรกิจ Start-Up ภายในประเทศไทย

ผมเองแอบลุ้นอยู่ว่า นโยบายต่างๆจะออกมาแบบเป็นรูปธรรมในรูปแบบใด แต่ตอนนี้ที่เห็นจะเด่นๆ และเป็นข่าว อาจจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ใหม่ ที่ผู้คนในวงการดิจิทัล พากันหน้ากันคัดค้าน, ระบบ E-payment ของรัฐบาล “พร้อมเพย์” ที่คนจะเปิดบัญชี เกิดอาการอกสั่นขวัญแขวนเล็กๆ ถึงความปลอดภัยในข้อมูล

ผมเองแอบจับตาดูว่ารัฐบาล จะมีแผนการอะไรในเซ็กเมนท์ที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจดิจิทัล อย่าง อีคอมเมิร์ซ บ้างไหม, จะจัดการหรือต่อสู้อะไรหรือเปล่า กับยักษ์ใหญ่ Alibaba ที่เริ่มรุกหนักเข้ามายึดครองพื้นที่อีคอมเมิร์ซบ้านในเรา

ปรากฎว่ารัฐบาลไทยมาเหนือเมฆ ทำการเซ็น MOU ตกลงร่วมมือทำธุรกิจกับ Alibaba ซ่ะงั้น งานนี้ แจ๊ค หม่า ยิ้มกริ่ม แถมปากหวานบอกว่าจะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ฮับ) ในภูมิภาคอาเซียน

แจ็ค หม่า ชี้แจงว่าต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการยกระดับเรื่องดิจิทัลในประเทศไทยเหมือนที่เคยได้ช่วยรัฐบาลจีนและรัฐบาลของอีกหลายประเทศมาแล้ว นอกจากนี้ยังต้องการที่จะช่วยเหลือ เอสเอ็มอี หรือผู้ประกอบการรายย่อย ให้มีโอกาสค้าขายไปยังต่างประเทศได้

ฟังแล้วดูจะเป็นนโยบายที่ดีครับ แต่ต้องอย่าลืมว่า แจ็ค หม่า ได้ลงทุนในทุกๆประเทศในภูมิภาคอาเซียน ขณะที่ SME ไทยมีโอกาสขายของไปยังต่างประเทศได้ แต่ต่างประเทศ ก็มีโอกาส ค้าขายมายังประเทศเราเช่นกัน

ที่สำคัญคือ นักธุรกิจชาวจีน ก็จะสามารถต่อท่อ เข้ามาค้าขายในไทยได้อย่างสบายๆ

แถมขายกันไป ขายกันมา ก็ขายอยู่บนแพลตฟอร์มของ Alibaba นั่นแหล่ะ ค่าธรรมเนียมจะไปไหน ถ้าไม่ได้วิ่งเข้ากระเป๋า แจ็ค หม่า ?

อีกประเด็นก็คือ ประเทศไทยควรจะเป็น “อี-ฮับ”ของภูมิภาคอาเซียนจริงๆหรือ ในสายตาของ แจ็ค หม่า? ในเมื่อ กฎหมายบ้านเราไม่ได้เอื้อต่อการลงทุนเท่าไหร่ ทั้งเรื่องภาษี โครงสร้างผู้ถือหุ้น หรือจะเป็น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่คลอดออกมา

งานนี้คงต้องดูกันยาวๆ ว่า แจ๊ค หม่า จะทำตามอย่างที่พูดหรือไม่ ประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือเสียประโยชน์จากสิ่งนี้กันแน่!

เรื่องนี้พูดเยอะไม่ได้ครับ

ไม่มีเวลาถูกเรียกไปปรับทัศนคติ แห่ะ แห่ะ แห่ะ

ขอจบแต่เพียงเท่านี้เอย