การศึกษา เปลี่ยน “สิทธิ” ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็น “หน้าที่”

การศึกษา เปลี่ยน “สิทธิ” ดูแลสิ่งแวดล้อมเป็น “หน้าที่”

การประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 22

ที่จัดขึ้น ณ เมืองมาร์ราคิช ประเทศโมร็อกโก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา แม้จะไม่ค่อยเป็นข่าวโด่งดังในไทย แต่ไทยก็ได้มีส่วนเข้าร่วมเป็นหนึ่งใน 200 กว่าประเทศที่พร้อมใจกันแก้ไขปัญหา “โลกร้อน ด้วยการหารือเพื่อแปรกรอบความตกลงปารีส (Paris Agreement) จากมติการประชุมฯ สมัยที่ 21 ให้เกิดการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

 ผลจากการประชุมฯ สมัยที่ 22 นี้มีข้อตัดสินใจออกมา 23 ข้อ แต่ไม่มีข้อใดกล่าวถึงเรื่องของการสร้างความตระหนักและการศึกษา (Climate Change Awareness and Education) เอาไว้โดยตรง ทั้งที่เรื่องดังกล่าวได้รับการรับรองไว้ในข้อบทที่ 12 แห่งความตกลงปารีส และน่าจะเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ ในการบรรเทาและเยียวยาปัญหาโลกร้อนในระยะยาว

เท่าที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงปัญหาโลกร้อน จะเน้นการพึ่งพาอาศัยกลไกตลาด (market-mechanism) เช่น มาตรการทางภาษี หรือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ในการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่าง เช่น ปี ค.ศ.2002 ประเทศไอร์แลนด์มีการเก็บค่าถุงพลาสติกในราคา 15 เซ็นต์ต่อถุง ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือจำนวนการใช้ถุงพลาสติกลดลงถึง 90% ในปีนั้น สะท้อนให้เห็นว่า “พฤติกรรม” ผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ในแวดวงวิชาการมีกลุ่มนักคิดที่เรียกว่า นักทฤษฎีสีเขียว (Green Theorists) ได้โต้แย้งว่าการใช้กลไกตลาดไม่ได้ทำให้ ทัศนคติ ของผู้บริโภคที่มีต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นเลย ในทางตรงข้าม พฤติกรรม ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภคเป็นเพียงแค่การตอบสนองต่อผลประโยชน์ในระยะสั้นของพวกเขาเอง ซึ่งในตัวอย่างที่ยกมาก็คือการไม่ต้องเสียเงินค่าถุงพลาสติก

กลุ่มนักคิดดังกล่าวตั้งประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ในหลายประเด็น อาทิ รัฐบาลต้องใช้เงินจำนวนเท่าไรในการสร้างแรงจูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งใช้เงินมากย่อมกระทบงบประมาณที่จะนำไปใช้ด้านอื่นๆ หรือ หากมาตรการสร้างแรงจูงใจหมดไปแล้ว คนคงหันกลับไปทำพฤติกรรมแบบเดิมๆ

กลุ่มนักทฤษฎีสีเขียวพยายามสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านช่องทางที่ไม่ใช้กลไกตลาด (non-market mechanism) ซึ่งการสร้างความตระหนักและการให้การศึกษาก็เป็นหนึ่งในวิธีการที่นักคิดกลุ่มนี้ให้การสนับสนุน โดยพวกเขาได้ให้เหตุผลว่าเมื่อประชาชนซึมซับและเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อมแล้ว “ทัศนคติ” จะเปลี่ยนแปลงไปและเมื่อทัศนคติเปลี่ยน “พฤติกรรม” จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย กลุ่มนักคิดกลุ่มนี้ได้เรียกกระบวนการนี้ว่า “แรงกระตุ้นจากภายใน ซึ่งตรงข้ามกับการใช้กลไกทางตลาดที่เป็นการสร้าง แรงกระตุ้นภายนอก

 ดังนั้นหากมาตรการจูงใจหมดไป ประชาชนก็ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาว มากไปกว่านั้น นักคิดบางคนในกลุ่มนี้ได้กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้คนมีความเข้าใจปัญหาสิ่งแวดล้อม เมื่อนั้นจะเกิดความเป็นพลเมืองรูปแบบใหม่ซึ่งพวกเขาเรียกว่า พลเมืองสิ่งแวดล้อม” (Environmental Citizenship) ซึ่งเป็นพลเมืองที่มีทัศนคติว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็น “หน้าที่” ไม่ใช่ “สิทธิ” ที่จะต้องรอให้หน่วยงานของภาครัฐมาจัดการดูแล

ในบริบทของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อบทที่ 12 แห่งความตกลงปารีสได้กล่าวไว้แต่เพียงสั้นๆ ว่า “ภาคีต้องร่วมมือในการดำเนินงานตามความเหมาะสมเพื่อยกระดับการศึกษา การฝึกอบรม การตระหนักรู้ของประชาชน.... สำหรับรายละเอียดหรือมาตรการต่างๆ นั้นดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่าการประชุมฯ ครั้งล่าสุดยังไม่ได้กำหนดรายละเอียดหรือแนวการดำเนินการแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งจัดโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนจึงได้มีโอกาสร่วมหารือแนวทางการดำเนินการกับผู้เข้าร่วมสัมมนาท่านอื่นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับจิตสำนึก การศึกษา จึงขอใช้ประโยชน์จากการนี้ในการสรุปข้อเสนอที่ประเทศไทยน่าจะ หรือควรจะดำเนินการเพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาโลกร้อนในระยะยาว

ประการแรก การศึกษาในเรื่องสิ่งแวดล้อมรอบตัว ปัญหา หรือสาเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควรเริ่มต้นตั้งแต่ระดับการศึกษาในโรงเรียนโดยอาจต้องจัดให้มีการบูรณาการเรื่องดังกล่าวเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน

ประการที่สอง ต้องมีการสร้างแหล่งการเรียนรู้ อาทิ จัดให้มีชุมชนตัวอย่างเพื่อที่จะให้ชุมชนอื่นๆ ได้เรียนรู้และปฏิบัติตามได้ หรืออาจใช้วิธีการศึกษาโดยการติดตามวิถีชีวิตบุคคลที่เป็นที่รู้จักที่ใช้ชีวิตแบบคาร์บอนต่ำ

ประการสุดท้าย เมื่อผ่านการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนแล้ว เพื่อให้การเสริมสร้างความตระหนักและให้การศึกษามีประสิทธิภาพสูงสุด จะต้องเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ิตัวอย่างเช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงมีการจัดทำค่ายให้กับเยาวชนบนดอยตุงเพื่อปลูกจิตสำนึกในการดูแลป่า ให้เข้าใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเยาวชน และดูแลพื้นที่ชุมชนของตนเอง โดยมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะ เป็นต้น

การพัฒนาส่งเสริมด้านการศึกษานี้หากทำควบคู่กับการมาตรการจูงใจภายนอก จะเป็นกลไกช่วยบรรเทาปัญหา “โลกร้อน” ในระยะยาว ถึงแม้อาจต้องอาศัยระยะเวลาแต่ผลที่ได้นั้นยั่งยืน อีกทั้งการศึกษาและการสร้างจิตสำนึกเพื่อตระหนักรู้อย่างเข้าใจจะทำให้เรากล้าเป็นผู้ริเริ่มแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงผู้ตามกระแสชั่วครั้งชั่วคราว

 -------------------

ธีรชัย เกื้อเกตุ,

นพนันท์ ตรียุทธวัฒนา