เศรษฐกิจโลกปัจจัยเสี่ยง

เศรษฐกิจโลกปัจจัยเสี่ยง

เศรษฐกิจโลกปัจจัยเสี่ยง

“SET index ดัชนีตลาดหุ้นไทยเดือนที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงพร้อมๆ กับการ Rally ของตลาดหุ้นทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นฝั่งอเมริกา ฝั่งเอเชีย และยุโรป ดังที่เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐและดัชนีตลาดหุ้นอังกฤษก็สามารถทำจุดสูงสุดได้ในช่วงที่ผ่านมาเป็นต้น ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบและการปรับตัวขึ้นของคอมโมดิตี้ต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยบวกให้กับดัชนีอย่างต่อเนื่อง มุมมองตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มเชิงบวก แต่เริ่มมี Upside ที่จำกัดเนื่องจากมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศอย่าง การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของทรัมป์ยังคงต้องจับตาทิศทางและแนวโน้มนโยบายที่กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกจากในประเทศอย่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและภาคเกษตรที่มีแนวโน้มกำลังฟื้นตัว อีกทั้งการคาดการณ์งบการเงินผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาในเชิงบวก ก็ยังเป็นปัจจัยที่จะทำให้ตลาดสามารถมีแนวโน้มเชิงบวกได้ในระยะกลาง

ความเสี่ยงจากประเด็นเศรษฐกิจโลก

หลังจากทื่ทรัมป์จะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. เรายังต้องติดตามท่าทีและนโยบายที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง จากการที่ทรัมป์มีแนวโน้มดำเนินนโยบายแบบ Protectionism นโยบายต่างประเทศอย่าง การตั้งกำแพงภาษีนำเข้า (Border Tax) เพื่อสนับสนุนให้เอกชนสร้างฐานการผลิตในสหรัฐ หากยังไม่ชัดเจนมากเพียงพอ ก็อาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างๆ ได้จากการเพิ่มข้อจำกัดจาก Free Trade มากขึ้นซึ่งเป็น Downside Risk ของเศรษฐกิจโลกและยังมีประเด็นที่ไม่ชัดเจนอีกมากมาย ทางด้านการเมืองยุโรปและสภาพเศรษฐกิจบางประเทศก็ค่อยๆ ฟื้่นตัวขึ้นมาได้อย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับตลาดแรงงานของบางประเทศที่น่าเป็นห่วง อย่างเช่น อัตราการว่างงานของสเปนเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 20% และ อัตราการว่างงานของอิตาลีก็สูงที่ระดับ 12% นอกจากนั้นปีนี้จะเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงอีกหลายประเทศเนื่องจากการเมืองของอิตาลีที่จะมีการเลือกตั้งก็ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึง ฝรั่งเศส และเยอรมันก็กำลังจะมีการเลือกตั้ง เรายังต้องจับตาฝั่ง UK ที่เริ่มดำเนินกระบวนการที่จะออกจาก EU อีกด้วย ทั้งหมดนี้ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ Upside ของตลาดอยู่ในกรอบที่จำกัดนั้นเอง

จับตางบการเงินไตรมาส 4 ปี 2559 และ เปรียบเทียบงบกลุ่มธนาคาร

ผ่านมาถึงช่วงต้นปี 2560 งบการเงินไตรมาส 4 ปี 2559 เริ่มทยอยกันออกมาในช่วงนี้ นำโดยกลุ่มธนาคาร ภาพรวมการคาดการณ์ของตลาดยังคงมีแนวโน้มเชิงบวกเกี่ยวกับทางด้านงบการเงินของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมว่าจะออกมาเป็นที่น่าพอใจเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น การปรับตัวเพิ่มขึ้นของ GDP ที่มาจากการฟื้นตัวของภาคการบริโภค การฟื้นตัวของภาคการเกษตร และการเร่งอัดฉีดเงินลงทุนจากภาครัฐเป็นต้น ทำให้ผลประกอบการณ์บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าอย่างที่ได้กล่าวไป ทางด้านกลุ่มธนาคารที่พึ่งประกาศออกไปนั้นในภาพรวมแล้วถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นกันส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น SCB ที่กำไรสุทธิปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% QoQ ด้าน BBL ปรับเพิ่มขึ้น 2.6% QoQ อย่างไรก็ตามทางด้าน KBANK กำไรสุทธิปรับตัวลดลง 5.64% QoQ จากต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ทำให้ลักษณะเกิดการ Sell on fact เล็กน้อย ซึ่งการพักตัวก็เป็นการปรับฐานระยะสั้นเพื่อปรับตัวใน Uptrend ต่อไป

แนวโน้ม SET index

เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกกับ SET index ในระยะกลางเนื่องจากราคายังอยู่เหนือเส้นแนวรับ Uptrend ได้ อย่างไรก็ตามการที่ดัชนีปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและภาพของกลุ่มที่นำดัชนีเริ่มมีการชะลอตัว ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มธนาคาร กลุ่มคอมโมดิตี้ และกลุ่มสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งปรับตัวขึ้นมานำดัชนีช่วงต้นปีที่ ทำให้เรามองว่า SET index น่าจะมีการปรับตัวเพื่อพักฐานในระยะสั้นเล็กน้อยเพื่อที่จะปรับตัวขึ้นต่อไปในระยะกลาง สำหรับกลุ่มรับเหมาและก่อสร้างยังคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากความคาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนได้เร็วขึ้น ทำให้โครงการภาครัฐและเอกชนได้รับประโยชน์ร่วมกัน โดยสัญญาณทางเทคนิคในระยะกลาง เรามองว่าดัชนีจะยังคงแกว่งตัวในแดนบวก อย่างไรก็ตาม Upside เริ่มจำกัด และมีความเสี่ยงจากต่างประเทศในระยะกลาง ระยะสั้นกรอบ SET index คาดว่าน่าจะอยู่ที่แนวต้านหลัก 1,575 จุด และ แนวรับหลัก 1,535 จุดตามลำดับ ซึ่งสัญญาณพักตัวถูกชี้นำโดย Indicator MACD ที่มีการตัด Signal ลงมา เป็นสัญญาณลบระยะสั้นนั้นเอง