ทิศทางภาวะผู้นำ 2017-2030

ทิศทางภาวะผู้นำ 2017-2030

จากการพูดคุยในคราวก่อนเรื่อง 6 แนวโน้มใหญ่ที่จะมีผลกระทบต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมืองของโลกในปี ค.ศ.2030 (Global Megatrends 2030)

ซึ่งแนวโน้มเหล่านั้นคือเรื่องของการกระจายขั้วอำนาจของโลกจากประเทศฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออก

ปัจเจกชนมีพลังอำนาจมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ วิกฤตทรัพยากรธรรมชาติ

และสิ่งแวดล้อมสังคมโลกกลายเป็นสังคมดิจิตัลแบบจัดเต็มและความขัดแย้งและสงครามโลก 

แนวโน้มเหล่านี้มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความเชื่อพื้นฐาน โครงสร้างสังคม เศรษฐกิจและการเมืองอย่างมากมายดังที่ได้วิเคราะห์โดยย่อๆในสัปดาห์ก่อนไปแล้ว สำหรับสัปดาห์นี้เรามาคุยกันว่าภาวะผู้นำแบบใดเป็นที่ต้องการขององค์กรในปี 2030 ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วหากผู้นำต้องการที่จะก้าวจากปี 2017 ไปยังปี 2030 อย่างราบรื่นรวดเร็ว ผู้นำควรให้ความสนใจกับแนวโน้มเหล่านี้ ศึกษาถึงระดับของผลกระทบที่มีต่อตัวท่าน ครอบครัวและองค์กรที่ทำงานด้วย จากนั้นก็มาประเมินว่าต้องปรับความคิดปรับตัว ปรับระบบอย่างไรจึงจะก้าวไปข้างหน้าได้มั่นคงไม่พลาดพลั้งตกรุ่นตกระดับไปก่อนที่ปี 2030 จะมาถึง

ในเรื่องของภาวะผู้นำนี้ ดร.ซันนี่ ไกลส์ (Sunnie Giles) โค้ชผู้บริหารและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาภาวะผู้นำ ซึ่งเป็นประธานบริษัท Quantum Leadership Group ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำบรรษัทข้ามชาติจำนวน 195 คนจาก 15 ประเทศทั่วโลก โดยผู้นำเหล่านั้นอยู่ในองค์กร 15 องค์กรที่ติดอันดับองค์กรข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุด 30 แห่งของโลก ดังนั้นวิสัยทัศน์ของผู้นำเหล่านี้จึงได้รับความน่าเชื่อถือมากทีเดียว

ดร.ซันนี่ได้นำเสนอบทความเรื่องคุณสมบัติผู้นำในอนาคตจากรายงานการสำรวจของเธอ ซึ่งบทความนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารฮาร์วาร์ด บิสสิเนส รีวิวเมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วนี้เอง บทความนี้ถือว่ามีอิทธิพลต่อแนวทางพัฒนาภาวะผู้นำในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกมากพอสมควร และนอกจากข้อมูลของ ดร.ซันนี่แล้วยังมีข้อมูลจากบริษัทฟรอสต์และซัลลิแวนที่ทำรายงานนำเสนอให้กับบริษัทเฮย์ กรุ๊ป เรื่องภาวะผู้นำที่เหมาะกับ Global Megatrends 2030 อีกด้วย

เปรียบเทียบข้อมูลของ 2 แหล่งนี้ ผนวกกับข้อมูลการศึกษาเรื่องภาวะผู้นำที่ผู้นำชาวเอเซียพึงมีที่จัดทำโดยอาจารย์จากวิทยาลัยการจัดการสิงคโปร์ (Singapore School of Management) พบว่ามีข้อมูลที่สอดคล้องกันหลายประการ สามารถสรุปออกมาเป็นภาวะผู้นำที่ผู้นำทั่วโลกและผู้นำเอเซียพึงมีสำหรับปี 2017 จนถึง 2030 ได้ดังนี้

ผู้นำต้องมีจริยธรรม ข้อนี้มาข้อแรกเลยค่ะสำหรับการสำรวจหลายๆโพลล์ คงเป็นเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมันรวดเร็วมากในขณะที่ศีลธรรมและจริยธรรมของคนเราไม่งอกงามตาม แต่เสื่อมลงอย่างเห็นได้ชัด การทำร้ายเบียดเบียนเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ตลอดจนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่อให้เห็นว่าถ้าผู้นำของสังคมโลกในทุกระดับไม่สามารถนำชุมชนให้มีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม สังคมและชุมชนทุกภาคส่วนจะเสื่อมทราม คนเราจะบริหารงานและองค์กรแบบมุ่งแต่ผลกำไรเฉพาะหน้า ทำให้เกิดความขัดแย้งตั้งแต่จุดเล็กๆและจะลุกลามใหญ่โตไปทั่ว

จะมีความเป็นปรปักษ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง องค์กรกับผู้บริโภค ผู้นำกับประชาชน และประเทศต่อประเทศ ทุกอย่างเริ่มต้นที่ผู้นำ ถ้าผู้นำมีความเก่งและดีก็จะสามารถทำตัวเป็นแบบอย่าง สามารถสร้างค่านิยม วัฒนธรรมและระบบการทำงานที่ดีให้แก่ทีมงานได้ บรรดาผู้นำและนักวิชาการทั้งหลายจึงฟันธงว่าผู้นำในทศวรรษหน้าต้องมีจริยธรรมมาก่อนความเก่งความฉลาด ประมาณว่าเก่งไม่กลัว กลัวเลว กับกลัวบ้า

กำหนดเป้าหมายการทำงานได้ชัดเจน แต่วางแนวทางการทำงานไว้หลวมๆ พูดง่ายๆก็คือสามารถกำหนดเป้าหมายมาตรฐานของงานที่ต้องการให้ลูกน้องทราบและเข้าใจชัดเจน แต่ให้อิสระในการคิดหาวิธีทำงานแก่ลูกน้อง ไม่เข้าไปจุกจิกกำกับการแสดงของลูกน้องมากเกินไป ขณะนี้แรงงาน Gen Y ได้เข้าสู่ตลาดมาหลายปีแล้วและจะเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ คน Gen Y เป็นคนไฮเทครักอิสระ ชอบความหลากหลายแปลกใหม่ การบริหารคนกลุ่มนี้ต้องให้อิสระแก่พวกเขา

สื่อสารความคาดหวังต่างๆให้ชัดเจน นอกจากเรื่องของเป้าหมายและมาตรฐานแล้ว ผู้นำต้องสื่อสารค่านิยม ความต้องการอื่นๆที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรให้ลูกน้องเข้าใจตั้งแต่วันแรกที่เริ่มงาน ประมาณว่าต้องเคลียร์กันเสียแต่แรก ใช้เวลาตอนแรกทำความเข้าใจกันเสีย จากนั้นเมื่อชัดเจนแล้วจะได้เดินหน้าทำงานกันไปเลย ไม่ใช่ทำๆเดี๋ยวก็ต้องหยุดมาซักซ้อมทำความเข้าใจกันใหม่อีก

มีความยืดหยุ่น แปลว่าเปิดใจกว้างไม่ฝังหัวฝังใจเชื่ออะไรโดยเปลี่ยนไม่ได้ โลกมันเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาแล้วผู้นำจะไม่รู้จักปรับเปลี่ยนได้อย่างไร ต้องเตรียมพร้อมพลิกผันกลยุทธ์การทำงานได้เมื่อจำเป็นโดยที่ไม่สูญเสียอุดมการณ์ สื่อสารสม่ำเสมอและสื่อสารแบบเปิด คนรุ่นใหม่ สังคมรุ่นใหม่เป็นยุคที่เทคโนโลยีสื่อสารก้าวหน้ามาก การสื่อสารแบบเปิดเผยโปร่งใสจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด อคติและข่าวลือ

ให้ความสำคัญกับฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง สังคมธุรกิจผันแปรพัฒนาไม่หยุดยั้งในขณะที่ประชากรโลกสูงวัยขึ้น เกิดความขาดแคลนของผู้นำที่จะมาสืบทอดตำแหน่ง ผู้นำยุคนี้จึงต้องรับภาระในการพัฒนาคน พัฒนาผู้นำเพื่อมาทำงานสานปณิธานต่อในอนาคตไม่ให้ขาดตอน

เปิดรับความคิดและวิธีการทำใหม่ๆ เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงและการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในยุคที่คนบริโภคข้อมูลได้ทุกที่ทุกเวลา ผู้นำต้องไวในการที่จะมองหาหนทางใหม่ในการทำงาน จำเป็นต้องเปิดใจ เปิดหู เปิดตาและเปิดปากหลังสุด เพื่อรับฟังข้อมูลดีๆมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งใหม่ๆ แต่ดูเหมือนว่าเรื่องของการเปิดใจก่อนเปิดปากนี่ดูจะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากสำหรับผู้นำหลายๆคนที่มีความเก่งความฉลาดและพกพาความมั่นใจไว้กับตัวมากเกินพอดี

คุณสมบัติทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องของการเน้นการศึกษาสูงๆ แต่เป็นเรื่องของทัศนะคติ จริยธรรมและวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่คนเก่งอาจจะพร่องในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งถ้าเราพิจารณาดู Global Megatrends 2030 ทั้ง 6 ประการที่ได้กล่าวมา เราย่อมตระหนักว่าเราอยู่ในยุคที่ความเจริญทางวัตถุสูงมาก แต่เราไม่สามารถนำความเจริญนั้นมาสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชากรโลกและสังคมโลกได้ดีเท่าที่ควร

จึงเป็นสาเหตุให้ผู้นำทั้งหลายมองว่าภาวะผู้นำของทศวรรษหน้าควรมีจริยธรรม ใจกว้าง ยืดหยุ่นเป็นนักสื่อสารและพัฒนาคนที่สามารถ