ต้องรื้อใหญ่กลไกตรวจสอบ

ต้องรื้อใหญ่กลไกตรวจสอบ

กรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับอากาศยาน และเครื่องจักรสำหรับอุตสาหกรรม

รายใหญ่ของประเทศอังกฤษ จ่ายสินบนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างให้กับทั้งนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานบริษัทเอกชนในหลายประเทศ ทั้งในอังกฤษและสหรัฐ และในประเทศที่เป็นลูกค้าหลายประเทศ รวมถึงไทย ซึ่งเป็นการแถลงของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ และสำนักงานปราบปรามการทุจริตร้ายแรงของอังกฤษ (SFO) และทางโรลส์-รอยซ์ก็ออกมายอมรับ นั่นชี้ให้เห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงอย่างไม่ต้องสงสัย

สำหรับกรณีของไทย เกี่ยวพันกับคนใน 2 องค์กรใหญ่ คือ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)  บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าหากมีการตรวจสอบกันอย่างจริงจังไม่น่าจะหาตัวยาก เพราะทางโรลส์-รอยซ์ มีการระบุชัดถึงช่วงเวลาที่มีการจ่ายสินบน อีกทั้งมีการระบุถึงตำแหน่งของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยหวังว่ากระบวนการตรวจสอบที่เกิดขึ้นจะไม่เป็นมวยล้มเหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายเรื่องในอดีต

ประเด็นที่น่าพิจารณายิ่งกว่าเรื่องการจ่ายสินบนให้ใคร และอยู่ในรัฐบาลใด คือ กระบวนการจ่ายสินบนของโรลส์-รอยซ์ เพราะรูปแบบการจ่ายสินบนมีลักษณะคล้ายๆ กัน กล่าวคือ มีการจ่ายเป็นค่าอำนวยความสะดวกตั้งแต่ต้นทาง จนถึงปลายทางในขั้นตอนการอนุมัติ รวมทั้งมีการออกร่างเงื่อนไขการประกวดราคาหรือที่เรียกกันว่าทีโออาร์ให้สอดคล้องกับสินค้าและบริการของโรลส์-รอยซ์ และที่สำคัญคือมีเจ้าหน้าที่หลายระดับเข้าไปเกี่ยวข้องในกระบวนการรับสินบน ตั้งแต่ระดับชงเรื่องจนถึงระดับสั่งการ

จากช่วงเวลาที่มีการจ่ายสินบนของโรลส์-รอยซ์ จะเห็นได้ว่าคาบเกี่ยวกันหลายรัฐบาล แม้แต่บริษัทที่เกี่ยวข้องก็มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารหลายคน ในขณะที่ทุกรัฐบาลมักจะประกาศเรื่องนโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหารหรือพลเรือน ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นความจริงประการหนึ่งของสังคมไทย คือ สิ่งที่ประกาศต่อสาธารณชนนั้นไม่ตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และเมื่อเปิดปัญหาขึ้นมาก็มักจะมีการกล่าวโทษไปที่ตัวบุคคลมากกว่าตัวระบบ เพื่อให้ง่ายต่อคลี่คลายปัญหา

ประเด็นต่อมา คือ ในช่วงที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน พยายามรณรงค์เรื่องความโปร่งใส มีการแจกรางวัลและการประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรมากมาย โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีมานี้ที่เกิดกระแสสร้างความโปร่งใสให้กับองค์กร และจากช่วงเวลาที่เกิดกรณีของโรลส์-รอยซ์ ชี้ให้เห็นอีกว่าในทางปฏิบัติจริง เรายังมีปัญหาในเรื่องการตรวจสอบและยังมีการจ่ายสินบนเป็นปกติทั่วไป ซึ่งกรณีของรัฐวิสาหกิจของไทยเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีการจัดซื้อจัดจ้างมากมายในหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจอื่นที่ยังไม่มีการเปิดเผยออกมา

แน่นอนว่าปัญหาการจ่ายสินบนหรือการทุจริตนั้น เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและแก้ไขค่อนข้างยาก อย่างกรณีของโรลส์-รอยซ์ชี้ให้เห็นว่าการจ่ายสินบนหรือคอร์รัปชันเป็นเรื่องระดับโลก ไม่เพียงแค่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น กล่าวคือ แม้แต่ประเทศต้นทางก็มีปัญหานี้เช่นเดียวกัน แต่การปรับโรลส์-รอยซ์ ด้วยจำนวนเงินมหาศาลย่อมแสดงให้เห็นว่าสหรัฐและอังกฤษมีกลไกในการตรวจสอบที่รัดกุมอย่างมาก จนไม่อาจดิ้นหลุดจากข้อกล่าวหา จนในที่สุดก็ต้องยอมรับว่าเกิดกรณีดังกล่าวจริง

คำถามต้องกลับมาที่ประเทศไทยในฐานะปลายทางของการจ่ายสินบนครั้งนี้ คือ เรามีกลไกและกระบวนการตรวจสอบที่ดีพอหรือไม่ เพราะลำพังการเรียกร้องให้ทุกคนทำความดีและมีความโปร่งใสเป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น แต่เรื่องใหญ่คือกลไกในการตรวจสอบต่างหาก แต่จากกรณีของโรรลส์-รอยซ์ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่าเรายังมีปัญหาในเรื่องนี้อย่างมาก เพราะเราเพียงแค่ทำตามที่หน่วยงานของประเทศอื่นตรวจสอบมาแล้วเหมือนกรณีอื่นๆ ในอดีต แต่เราไม่เคยตรวจสอบได้ด้วยกลไกของเราเอง