เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เข้าใจก่อน...ได้เปรียบกว่า

เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เข้าใจก่อน...ได้เปรียบกว่า

ปี 2560 นี้ถือว่าเป็นปีที่ “เรื่องภาษี” มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่รอบ 25 ปี

ดังนั้นการรู้ทันเรื่องภาษี คือหนึ่งใน “หัวใจ” ของการสร้างความได้เปรียบทางการเงิน ในทางธุรกิจหรือส่วนตัว เพราะใช้เวลาทำความเข้าใจกับภาษีเพียงไม่กี่ชั่วโมง อาจทำให้ประหยัดเงินมากกว่า รวดเร็วกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ เสียอีก 

การวางแผนภาษีจึงถือเป็นการลงทุนที่สำคัญประเภทหนึ่ง มาดูกันว่าภาษีบุคคลธรรมดาที่ทุกคนต้องเจอปีนี้ หลักๆ มีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง? และควรใช้ประโยชน์อย่างไร? ภาษีบุคคลธรรมดาปรับใหม่ เสียภาษีน้อยลง อย่าเผลอลดหย่อนเกิน

ภาษีบุคคลธรรมดาปี 2560 นี้ มีการปรับหลักๆ 3 อย่าง คือ 1.อัตราภาษี 30% สำหรับเงินได้ช่วง 2,000,001-5,000,000 บาท (เดิม 2,000,001-4,000,000 บาท) และอัตราภาษี 35% สำหรับเงินได้ 5,000,001 ขึ้นไป (เดิม 4,000,001 บาทขึ้นไป) โดยเข้าใจง่ายๆ ว่าอัตราใหม่นี้มีผลเปลี่ยนแปลง “ทำให้เสียภาษีน้อยลง” ในเฉพาะช่วงเงินได้ 4 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนช่วงอื่นลงมาจะเหมือนเดิมหมด

2. เพิ่มวงเงินหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา 40(1) และ (2) เป็น 50% ไม่เกิน 100,000 บาท (จากเดิมหักเหมา 40% ไม่เกิน 60,000 บาท) และ 3. เพิ่มค่าลดหย่อนมากขึ้น หลักๆ เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท (เดิม 30,000 บาท) ค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท (เดิม 30,000 บาท) เป็นต้น

การปรับทั้งหมดนี้มีผลทำให้หักลดหย่อนได้มากขึ้น เสียภาษีน้อยลง ดังนั้นเวลาคำนวณสิทธิลดหย่อนในการซื้อผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เช่น กองทุน LTF/RMF ซึ่งหลายคนเริ่มซื้อกันสำหรับลดหย่อนภาษีปีนี้แล้ว จึงต้องปรับการคำนวณให้ดี “ไม่ให้ซื้อมากเกินไป” จนทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการประหยัดภาษี

รายการลดหย่อนภาษีต่างๆ ซื้อเท่าไร ประหยัดภาษีเท่าไร

โชคดีของคนไทย ที่รายการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาโดยเฉลี่ยปีละ 20 รายการ ซึ่งระหว่างปีมักเพิ่มรายการใหม่เรื่อยๆ ให้เป็นประโยชน์กับตัวประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อมีรายการใหม่เกิดขึ้น นอกจากถามเรื่องกฎเกณฑ์ของแต่ละรายการที่แตกต่างกันแล้ว คนจะถามผมบ่อยๆ ว่า ซื้ออันนี้แล้วประหยัดภาษีได้เท่าไร? โดยหลักการ การประหยัดภาษีจากการซื้อสินค้าลดหย่อนภาษี เช่น LTF/RMF ประกันชีวิต หรือช้อปช่วยชาติ เหมือนกับการ“ซื้อสินค้า Sale”ลดราคานั่นเอง โดยอัตราการ Sale เท่ากับ “อัตราภาษีสูงสุด” ของแต่ละคนหลังหักค่าลดหย่อนอื่นๆ แล้ว

เช่นคนมีเงินได้ 700,000 บาท อัตราภาษี 15% หมายความว่า ถ้าซื้อ LTF ราคา 10,000 บาท ได้เงินคืนภาษี 1,500 บาท หรือ เราเอา “เงินไปซื้อเงิน” คือซื้อเงินในรูปแบบของกองทุนมูลค่า 10,000 บาท โดยจ่ายเงินเพียง 8,500 บาท ดังนั้นหากผลประกอบการของกองทุนนี้ขาดทุนไม่ถึง 15% ก็ถือว่ากำไร ซึ่งกองทุน LTF ที่ผลประกอบการดีที่สุดตอนนี้ทำกำไรได้ถึง 20% ต่อปี

หลักการนี้สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์ลดหย่อนภาษีอื่นๆ ว่าด้วย “ราคา Sale” นี้ ประโยชน์คุ้มค่ากับเงินที่เราควักเงินจ่ายไปหรือไม่

ส่วนช่องทางรับเงินคืนภาษีใหม่ “พร้อมเพย์” ไม่ได้บังคับ แต่ใช้แล้วประหยัดเวลากว่าเยอะ เป็น “ทางเลือก” หนึ่งในการรับคืนเงินภาษี “ไม่ได้บังคับ” ใครอยากใช้ช่องทางเดิมเพื่อรับเงินคืนภาษีก็ได้

บางคนเข้าใจผิดว่าสมัครพร้อมเพย์แล้วเงินในบัญชีจะไหลออกโดยไม่รู้ตัวหรือไม่? จริงๆ แล้วพร้อมเพย์เป็นแค่การใช้เลขประจำตัวประชาชนแทนเลขบัญชีธนาคาร แต่ความปลอดภัยยังเหมือนเดิม

อีกความเข้าใจผิด คือ บางคนคิดว่าตัวเองรับเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารอยู่แล้ว พอไปยื่นภาษีก็นึกว่าจะได้รับเงินคืนเลยทันที โดยยังไม่ได้สมัครพร้อมเพย์ ทั้งนี้ธนาคารจะไม่สมัครให้อัตโนมัติ แต่เราต้องแจ้งสมัครเองจึงเริ่มใช้ได้

หากทางผู้อ่านสนใจเทคนิคภาษีหรือการเงินหัวข้อใด ที่จะสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจและการเงินส่วนตัวให้ท่านแบบ “ติดลมบน” ได้ สามารถส่งหัวข้อผ่านทาง Facebook Message “facebook.com/iTAXThailand” โดยระบุชื่อคอลัมน์ “ติดลมบน กับ ดร.เรือบิน” โดยหัวข้อที่ได้รับเลือกจะได้รับแก้วน้ำหมู Picco จาก iTAX ส่งไปที่บ้านสนุกๆ กันครับ