การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ตอน 3)

การแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ตอน 3)

หลังจากที่เขียนบทความเพื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาแล้ว ๒ ตอน ผู้เขียนได้ส่งบทความเหล่านั้น

ให้แก่ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งทั้งสองคนนี้ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นกรรมการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้งสองคน

   โดยผู้เขียนได้ส่งบทความให้บุคคลทั้ง 3 คนที่ได้เอ่ยนาม โดยส่งบทความเหล่านี้ไปถึงทั้งสามคนทาง email ซึ่งหวังว่าทั้งสามคนนี้คงจะได้อ่านข้อเสนอเหล่านี้ และนำไปพิจารณาประกอบการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อแก้ปัญหาการบริหารงานของสปสช.

ถ้าเรามาดูวัตถุประสงค์ของการออกกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะเห็นว่ามาตรา 38 ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นกองทุนหนึ่งในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรียกว่า “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ

ทั้งนี้มาตรา 30 ได้บัญญัติไว้ว่า ให้สำนักงาน(สปสช.) มีเลขาธิการเป็นผู้รับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย มติ และประกาศของคณะกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาเจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสำนักงานทุกตำแหน่ง

จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เลขาธิการสปสช.คือ ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารสำนักงาน แต่กฎหมายก็ไม่ได้อนุญาตให้เลขาธิการ “บริหารกิจการของสปสชตามอำเภอใจ” เพราะมาตรา 30 ได้บัญญัติไว้แล้วว่า เลขาธิการต้องทำตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด นโยบาย และประกาศของคณะกรรมการ

หมายความว่า ถ้ามีผลการสอบสวนแล้วว่าเลขาธิการสปสช.ได้บริหารกิจการสำนักงานโดยไม่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย หรือมีการทุจริตประพฤติมิชอบโดยประการใดๆก็ตาม ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อพฤติการณ์การบริหารสปสช.นั้น ย่อมจะต้องมีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกคน รวมไปถึงประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรวมอยู่ด้วยทุกคน

ซึ่งข้อกำหนดอันนี้เอง อาจมีจุดบกพร่อง เนื่องจากว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ได้ตรวจสอบติดตามประเมินผลการทำงานของเลขาธิการสปสช.อย่างใกล้ชิด เนื่องจากไม่ได้มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะต้องมีหน้าที่ตรวจสอบประเมินผลการทำงานของสปสช.

มีเพียงบทบัญญัติในมาตรา 21 ที่กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบขึ้นคณะหนึ่ง มีหน้าที่ตรวจสอบการบริหารเงินและการดำเนินงานของสำนักงาน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบแบบแผนที่เกี่ยวข้อง มีประสิทธิผล และประสิทธิภาพ มีความโปร่งใส และมีผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ซึ่งการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบนี้ ไม่มีการบัญญัติไว้ในกฏหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ให้ทำการตรวจสอบในระยะเวลาเท่าไหร่บ้าง เช่น ทุก 6เดือน? ทุก 1ปี? และต้องรายงานให้คณะกรรมการหลักประกันรับทราบทุกกี่เดือน?

เพราะที่ผ่านมา 15 ปี ไม่พบว่าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีการทักท้วงการบริหารงานของสปสช.แต่อย่างใด จนเพิ่งมาตรวจพบการบริหารที่ไม่มีประสิทธิภาพและเป็นอุปสรรคต่อการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนจนมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 37/2559 เท่านั้น

 

ก่อนหน้านี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เคยรับรู้เลย? ว่าการบริหารงานของสปสช.มีปัญหา? หรือว่าคณะอนุกรรมการตรวจสอบชุดต่างๆนั้น ไม่สามารถตรวจพบปัญหาหรือความไม่ถูกต้องใดๆเลย ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 21 จนมีการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งจากคณะกรรมการตรวจสอบที่คสช.แต่งตั้ง จึงได้พบปัญหาเหล่านี้?

ในวรรคสองของมาตรา 21 กำหนดไว้ว่าอนุกรรมการตรวจสอบให้ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมตามกฎหมาย   ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

แต่ปรากฎว่าในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ต่างก็ปรากฎรายชื่อของกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการชุดต่างๆในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ซึ่งนับว่าผิดวรรคสองของมาตรา 21 จึงสมควรที่จะต้องระมัดระวังในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

   การที่มีกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรืออนุกรรมการในกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู๋ในคณะอนุกรรมการตรวจสอบ น่าจะเป็นสาเหตุให้การตรวจสอบไม่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ทำให้ไม่สามารถตรวจพบปัญหาการบริหารเงินและการดำเนินงานของสปสช. และปัญหาเหล่านี้ถูกหมักหมมซุกซ่อนอยู่ใต้พรมมาอย่างยาวนานถึง 15 ปี เพิ่งจะมีการตรวจพบจากหน่วยงานอื่นนอกสปสช.ภายหลังจากการมีหน่วยงานตรวจสอบของคตร.สตง. ปปท. และกรรมการตรวจสอบฯของคสช.

และผู้เขียนขอเสนอให้เพิ่มวรรคสามในม.21 ว่า คณะอนุกรรมการตรวจสอบ สามารถเรียกให้เลขาธิการสปสช.มาชี้แจงและส่งข้อมูลทั้งหมดที่ตามที่คณะอนุกรรมการตรวจสอบต้องการ

และคณะอนุกรรมการตรวจสอบต้องรายงานผลการตรวจสอบนี้ให้แก่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกไตรมาส (เหมือนกับบริษัทต่างๆที่ต้องรายงานงบการเงินแก่คณะกรรมการบริษัทและผู้ถือหุ้น ) ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับทราบผลการดำเนินงานของสปสช.อย่างทันเวลา และถ้ามีปัญหาอุปสรรคใดๆเกิดขึ้น จะได้สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ลุล่วงไปโดยเร็ว

อนึ่งในมาตรา 37 บัญญัติให้มีสำนักงานตรวจสอบขึ้นในสปสช.ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลจานุการของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ และให้รายงานเลขาธิการตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

ซึ่งการกำหนดให้สำนักงานตรวจสอบอยู่ภายใต้สปสช.และยังต้องรายงานเลขาธิการสปสช.นี้เอง มีผลให้สำนักงานตรวจสอบตกอยู่ใต้บังคับบัญชาของเลขาธิการสปสช. ทำให้สำนักงานตรวจสอบไม่ “กล้า” ที่จะรายงานความไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องในการบริหารสปสช.?

จึงขอเสนอให้แก้ไขมาตรา 37 ให้สำนักงานตรวจสอบ ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งก็คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ขอสรุปว่า ในการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ขอเสนอในตอนนี้ก็คือ การแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 21 ในเรื่องการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ไม่ให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ส่วนตน และผลประโยชน์ส่วนรวมอย่างเคร่งครัด โดยไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรืออนุกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบได้เลย และให้แยกสำนักงานตรวจสอบมาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ไม่ขึ้นกับเลขา สปสช.) รวมทั้ง คณะอนุกรรมการตรวจสอบ ไม่ต้องรายงานเลขาธิการ สปสช.ทราบ แต่ให้มีอำนาจเรียกเลขาธิการ สปสช.มาชี้แจงได้ และคณะอนุกรรมการตรวจสอบ ต้องรายงานผลการตรวจสอบแก่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกไตรมาส

----------------------------------------------

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

กรรมการแพทยสภา

ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

ที่ปรึกษากิติมศักดิ์ กรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ