จาก New Normal สู่โลกยุค 4.0 (2): ความหวังใหม่

จาก New Normal สู่โลกยุค 4.0 (2): ความหวังใหม่

ในตอนที่หนึ่งของโลกยุค 4.0 ผู้เขียนมองว่า เศรษฐกิจการเงินการลงทุนในยุคถัดไป

จะเป็นภาพที่ “เศรษฐกิจผันผวน การค้าโดดเดี่ยว และการเมืองอึมครึม” ผลจาก (1) นโยบายเศรษฐกิจของทรัมพ์ (Trumponomics) ที่นำไปสู่เงินเฟ้อ (2) แนวความคิดแบบต่อต้านโลกาภิวัฒน์ที่รุนแรงขึ้น และ (3) กระแสผู้นำชาตินิยมแข็งกร้าวที่อาจนำไปสู่ยุคสงครามเย็นดังเช่นในทศวรรษที่ 80 ได้

อย่างไรก็ตาม ในความอึมครึมก็ยังมีแสงสว่าง โดยผู้เขียนมองว่า ความหวังของภาคเศรษฐกิจ การเงินการลงทุนโลกในยุค 4.0 นี้ได้แก่กระแสเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนโลกจากหน้าเป็นหลังมือ (หรือที่เรียกกันว่า Disruptive Technology) 9 ด้านอันได้แก่ (1) Social Media (2) Mobile Platform (3) AI หรือปัญญาประดิษฐ์ (4) Cloud Computing (5) Big Data (6) 3D Printing (7) Internet of Things (8) Virtual Reality และ (9) Fintech

ที่กล่าวว่าให้ความหวัง เป็นเพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ประโยชน์ต่อภาคการผลิต รวมถึงไลพ์สไตล์ในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วไป 5 ด้าน

ด้านที่หนึ่ง คือทำให้ประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น (Efficiency) เนื่องจากเทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้ระยะเวลาในการผลิต การค้นหาข้อมูล และการตรวจสอบสั้นลง รวมถึงทำให้ราคาต้นทุนถูกลงด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างมีมากมายเช่น (1) ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้น ประโยชน์จากเซนเซอร์ราคาถูกทำให้การผลิตในยุคปัจจุบันรวดเร็ว การบริหารจัดการสต๊อกทำได้โดยทันที (2) 3-D Printer สามารถทำให้ต้นทุนในการผลิตของต้นแบบลดลงมาก (3) ระบบ AI ของ IBM ที่ชื่อว่า Ross สามารถช่วยสืบค้นกฎหมายได้อย่างรวดเร็วดังมีทนายกว่า 50 คนช่วยสืบคดี (4) Fintech ในรูปแบบ P2P Lending และ Crowfunding สามารถจับคู่ระหว่างผู้ต้องการฝากเงินหรือนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงขึ้น กับเจ้าของธุรกิจหรือผู้ต้องการเงินทุน ที่ต้องการต้นทุนการระดมทุนถูกลง เป็นต้น

ด้านที่สอง คือเพิ่มความสะดวกสบาย (Convenience) ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เนื่องจากลดต้นทุนในการเดินทาง เช่น การค้าแบบ e-commerce ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าอย่างสะดวก รวดเร็ว หรือจะเป็น Mobile Banking ที่ทำให้ลูกค้าธนาคารสามารถทำธุรกรรมได้โดยสะดวก เป็นต้น

ด้านที่สาม ได้แก่ ความโปร่งใส (Transparency) เป็นผลจากการที่ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะ Mobile Platform ที่ก่อให้เกิดระบบ “เศรษฐกิจแบ่งปัน” หรือ Sharing Economy เช่น Uber หรือ Airbnb ที่ผู้ใช้บริการสามารถ Review การบริการได้ในทันที ทำให้เกิดความโปร่งใสขึ้น และมีผลต่อยอดขายในทันที

หรือจะเป็นเงินสกุลอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Bitcoin หรือ Etherium ที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นเงินแห่งโลกอนาคตนั้น ก็มีจุดเด่นสำคัญอย่างความโปร่งใสเช่นกัน เพราะทุกธุรกรรมที่ใช้เงินเหล่านี้นั้นจะถูกจดบันทึกไว้ และผู้ใช้งานทุกคนสามารถตรวจสอบได้ทันที

ด้านที่สี่ ได้แก่ ลดอุปสรรคในการเข้าสู่อุตสาหกรรมของผู้เล่นรายใหม่ (Reduce Barrier to Entry) เนื่องจากเทคโนโลยียุคใหม่ช่วยลดต้นทุนจม (Sunk Cost) ของธุรกิจลง เช่น ธุรกิจ SME ไม่จำเป็นต้องลงทุนในด้านระบบ IT เต็มจำนวน แต่สามารถเช่า Cloud Server ในการทำธุรกิจได้ รวมถึงไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน โดยสามารถติดต่อผ่านทาง Social Media ต่าง ๆ ได้

ด้านสุดท้าย ได้แก่ ศักยภาพของเทคโนโลยีที่อาจพลิกโฉมโลกในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle: AV) ซึ่งหากสามารถทำได้เต็มที่ตามที่นักวิเคราะห์อนาคตคาดการณ์ไว้ ระบบยานพาหนะแบบปัจจุบันที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปอาจหมดไป และเกิดการคมนาคมต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูง รวมถึงอาจไม่จำเป็นต้องถือครองรถยนต์เลยก็ได้

หรือจะเป็นเงินสกุลอิเล็กทรอนิกส์ที่หากใช้อย่างแพร่หลาย ก็จะทำให้ธุรกรรมต่าง ๆ ทำได้อย่างรวดเร็ว โปร่งใส ตรวจสอบได้ และทำให้ความจำเป็นของธนาคารกลางหมดไป

ประโยชน์ทั้งห้าประการนี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผลิตภาพ (Productivity) ของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยสำนักวิจัย McKinsey Global Institute (MGI) คาดว่า ด้วยอัตราการเติบโตของระดับการน้อมรับ (Adoption Rate) เทคโนโลยีในปัจจุบัน ในอีก 18 ปีข้างหน้า กว่า 50% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งจะทำให้ Productivity ทั่วโลกเพิ่มขึ้น 0.8-1.4% ต่อปี

ทั้งนี้ MGI มองว่าอัตราการน้อมรับเทคโนโลยีทั่วโลกจะช้าหรือเร็วเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 5 ประการ คือ หนึ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีทำได้รวดเร็ว และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงเร็วเพียงใด สอง ต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี ทั้ง Hardware และ Software มากน้อยเพียงใด สาม ตลาดแรงงานพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมเรียนรู้ไปกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพียงใด สี่ ผลบวกด้านเศรษฐกิจของเทคโนโลยีเหล่านั้น ที่จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตมากน้อยเพียงใด และห้า ผู้กำกับกฎระเบียบพร้อมที่จะน้อมรับและเปลี่ยนแปลงกฎให้เอื้อต่อธุรกิจเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งที่มีข้อดีย่อมมีข้อเสียด้วย เทคโนโลยีก็เช่นกัน โดยผู้เขียนมองว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ นี้มีจุดอ่อนสองประการ คือ หนึ่ง เทคโนโลยีเหล่านี้จะเข้ามาแย่งงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะงานที่มีลักษณะประจำ (Routine) โดยสำนักวิจัย MGI วิเคราะห์จากกว่า 800 อาชีพพบว่า กว่า 60% ของอาชีพเหล่านี้มีทักษะที่มีลักษณะประจำ และสามารถใช้เทคโนโลยีทดแทนได้กว่า 30% พูดอย่างง่ายคือ เกินครึ่งของอาชีพในโลกนี้สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยหรือทดแทนได้อย่างน้อย 30% นั่นหมายความว่า หากแรงงานไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนให้เหนือกว่าและสามารถควบคุมเครื่องจักรได้แล้วนั้น งานเหล่านั้นก็จะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรนั่นเอง

ข้อเสียอีกประการคือ เทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางรายได้เพิ่มมากขึ้น ทั้งระหว่าง (1) เจ้าของกิจการที่ใช้เทคโนโลยี (2) แรงงานมีทักษะสูงทางด้านเทคโนโลยี และ (3) แรงงานทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในกิจการเหล่านั้น เนื่องจากเจ้าของกิจการเทคโนโลยีสูง รวมถึงแรงงานในบริษัทดังกล่าวจะมีรายได้สูงมาก ในขณะที่แรงงานทั่วไปได้รับรายได้ต่ำกว่ามาก พิจารณาอย่างง่ายจากกิจการ facebook ที่มีรายได้ในปี 2558 ประมาณ 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่มีพนักงานเพียง 1.5 หมื่นคน ในขณะที่บริษัทโตโยต้า 1.7 แสนล้านดอลลาร์ แต่มีพนักงานถึงกว่า 3.5 แสนคน ซึ่งรายได้ที่เหลื่อมล้ำเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุของกระแสต่อต้านโลกาภิวัฒน์ในปัจจุบัน

กล่าวโดยสรุป แม้ภาพเศรษฐกิจโลกในยุค 4.0 จะอึมครึม ผันผวน และเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่แสงสว่างก็ยังพอมีอยู่ในโดยเฉพาะในจากเทคโนโลยีพลิกโลกที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน

นักลงทุนและนักธุรกิจจะพลิกกลยุทธอย่างไรในยุคแห่งความเสี่ยงเช่นนี้ โปรดติดตาม

---------------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่