บทเรียนอุบัติเหตุรถตู้ กับสิ่งควรทำอันดับแรก

บทเรียนอุบัติเหตุรถตู้ กับสิ่งควรทำอันดับแรก

อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2560 เป็นอุบัติเหตุรุนแรงระหว่างรถตู้โดยสาร

ประจำทางและรถกระบะที่มีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ราย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อรถตู้โดยสารประจำทางสายกรุงเทพ-จันทบุรี ออกจากจันทบุรี มุ่งหน้ากรุงเทพมหานคร วิ่งข้ามเกาะกลางถนน ชนประสานงากับรถกระบะที่มีคนนั่งมาในรถมากกว่า 10 คน และได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น หลังดับเพลิงได้ พบมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 ศพ แยกเป็นผู้ที่มากับรถตู้ 14 ศพ เป็นชาย 4 หญิง 10 ส่วนรถกระบะ ตาย 11 ศพ เป็นชาย 5 หญิง 6 นอกจากนี้ มีผู้รอดชีวิต 2 ราย มากับรถตู้ 1 ราย และมากับรถกระบะ 1 ราย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น การสืบสวนหาสาเหตุในเชิงลึก เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในเบื้องต้น ทีมงานศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย นำโดยคุณณัฐพงศ์ บุญตอบ ลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บข้อมูลสภาพถนน และรถทั้งสองคันที่เกิดเหตุ เพื่อหาสาเหตุ โดยให้สาเหตุเบื้องต้นไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ คนขับรถพักผ่อนไม่เพียงพอ (ตามข้อมูลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ขนส่งในพื้นที่) การใช้ความเร็วสูง เนื่องจากรถที่วิ่งข้ามเกาะกลางที่มีความลึก 1.20 เมตร และ ลักษณะทางกายภาพของถนนที่ไม่มีกำแพงคอนกรีตกั้นบริเวณเกาะกลาง ซึ่งทั้งสามประเด็นข้างต้น เป็นเพียงสาเหตุเบื้องต้น และเน้นที่สาเหตุที่อาจจะทำให้รถตู้โดยสารวิ่งข้ามเกาะกลางไปชนกับรถกระบะที่วิ่งสวนมา อย่างไรก็ดี ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นคือความรุนแรงของอุบัติเหตุที่หลังจากการชน เกิดไฟลุกไหม้และทำให้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมาก

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่แหตุการแรกที่เกิดปัญหาเรื่องการเกิดเพลิงไหม้เมื่อรถตู้เกิดอุบัติเหตุ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่รถตู้เกิดอุบัติเหตุแล้วไฟไหม้ เช่น ปี 2555 กรณีรถตู้โดยสารประจำทางสายกรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา ชนท้ายรถพ่วง 18 ล้อถนนมอเตอร์เวยสาย 9 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย หรือ เมื่อเร็วๆนี้ เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 ที่รถตู้โดยสารส่วนบุคคลบรรทุกคณะครูกลับจากการสัมมนา เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ เกิดไฟไฟม้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 11 ราย และ จะเห็นได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าว แสดงถึงความผิดปกติของรถตู้โดยสารที่มักจะเกิดไฟไหม้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เหตุการณ์เหล่านี้ ถ้าเกิดในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ ต้องมีการจัดตั้งทีมงานผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุเชิงลึก เพื่อกำหนดนโยบายเพื่อไม่ให้มีปัญหาในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีก

ปัจจัยด้านคนขับ และรูปแบบการประกอบการ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สร้างปัญหาเรื่องความปลอดภัยของการให้บริการรถตู้โดยสาร ทั้งความพร้อมของคนขับรถ การวิ่งให้บริการ หรือที่เรียกว่าทำรอบ โดยไม่มีการหยุดพักที่เหมาะสม รวมถึงการใช้ความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งทั้งสามส่วนนี้ ภาครัฐพยายามที่มีนโยบายมาแก้ไขโดยใช้เทคโนโลยีในการกำกับดูแล ซึ่งได้แก่การติดตั้งระบบ GPS และระบบตรวจสอบผู้ขับขี่ ซึ่งจะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทำให้กำกับดูแลคนขับรถได้ดีขึ้นมาก

อย่างไรก็ดี การใช้เทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ยังไม่สามารถยกระดับการกำกับดูแลที่เข้มข้นได้ ถ้ารูปแบบการประกอบการในปัจจุบัน ยังมีโครงสร้างประกอบการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ทำให้ยากแก่การกำกับดูแล รวมถึงรูปแบบนี้ยังไม่สามารถยกระดับการพัฒนาผู้ประกอบการได้ ถ้าภาครัฐมีแนวคิดที่จะให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนรถให้มีความปลอดภัยมากขึ้น จากรถตู้เป็นรถมินิบัส ซึ่งเป็นไปได้ยากที่ผู้ประกอบการรายย่อยจะมีทุนเพียงพอที่จะยกระดับตัวเอง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ สะท้อนถึงปัญหาระบบรถโดยสารประจำทางที่สะสมมาเป็นเวลานาน และภาครัฐมีการบ้านที่ต้องดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอีกมาก สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรก คือประเด็นเรื่องรถตู้โดยสารไฟไหม้เมื่อเกิดอุบัติเหตุ เรื่องนี้ ถ้าภาครัฐต้องดำเนินการหามาตรการ โดยการสืบสวนอุบัติเหตุเชิงลึก และเสนอมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นอีก ประการต่อมา คือการเร่งรัดการติดตั้งอุปกรณ์ GPS ให้ครอบคลุมรถตู้โดยสารประจำทางทั้งหมดให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีการกำกับดูแลด้านความเร็วและชั่วโมงการขับรถของผู้ขับขี่อย่างเข้มข้น 

และประการสุดท้าย ในส่วนการปรับเปลี่ยนให้รถตู้โดยสารเป็นรถมินิบัสนั้น ควรมองเป็นมาตรการระยะปานกลาง โดยการจำกัดการใช้งานรถตู้ระยะทางไกล (มากกว่า 150 หรือ 200 กิโลเมตร) ก่อนเพื่อให้เปลี่ยนเป็นรถมินิบัส และปรับรูปแบบการประกอบการให้ลดจำนวนผู้ประกอบการรายย่อย และส่งเสริมผู้ประกอบการที่มีคุณภาพการให้บริการ และมีระบบดูแลความปลอดภัยที่ดีต่อไป

--------------------

สุเมธ องกิตติกุล