วีดิโอออนไลน์มาแรง แต่แบรนด์ไม่ควรทิ้ง‘ทีวี’

วีดิโอออนไลน์มาแรง แต่แบรนด์ไม่ควรทิ้ง‘ทีวี’

ปัจจุบันผู้บริโภคยุดดิจิทัล (Connected Consumers) ประเทศต่างๆในเอเชียแปซิฟิก นิยมดูวีดิโอออนไลน์มากขึ้น 

จากการศึกษาล่าสุดของ Kantar TNS พบว่าผู้บริโภค 64% ดูวีดิโอออนไลน์ทุกวัน ผ่านทาง free-to-view, การสมัครสมาชิกและช่องทางต่างๆ ในสังคมออนไลน์ ในแต่ละวันพวกเขาใช้เวลาเฉลี่ยกว่า 1.6 ชั่วโมงในการรับชมวิดีโอออนไลน์

ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกรับชมวีดิโอมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ โดย Connected Life Study ซึ่งทำการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกเผยว่า ผู้บริโภครับชมวีดิโอผ่านทางระบบออนไลน์หลากหลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งรายการทีวีออนไลน์หรือรายการที่ต้องสมัครสมาชิก เช่น Netflix ไปจนถึงฟรีวีดิโอที่รับชมได้บนสื่อต่างๆ เช่น บน YouTube และจากแอพพลิเคชั่นต่างๆ

Zoë Lawrence ผู้อำนวยการดิจิทัลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Kantar TNS กล่าวว่า“ผลการศึกษาของ Connected Life แสดงให้เห็นว่า วีดิโอออนไลน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาที่ต้องการ แบรนด์ต่างๆ ไม่ควรมุ่งเน้นไปที่ช่วงไพร์มไทม์ของรายการโทรทัศน์เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ยังควรกำหนดจุดยืนสำหรับ ‘ช่วงไพร์มไทม์’ ของแบรนด์ตัวเองอยู่”

จำนวนกลุ่มผู้บริโภคที่รับชมวีดิโอออนไลน์ฟรี เช่น ยูทูบ ในแต่ละวันเพิ่มขึ้น โดยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตชาวกัมพูชารับชมมากที่สุดถึง 94% ตามมาด้วยฮ่องกง 84% และจีน 78% อีกทั้ง 2 ใน 3 ของผู้คนที่ออนไลน์ 62% รับชมวีดิโอที่ปรากฏอยู่บนหน้าฟีดหรือจากแบรนด์ต่างๆ, จากแหล่งข่าวหรือจากเพื่อนๆ ผู้บริโภคที่เชื่อมต่อผ่านทางโทรศัพท์มือถือเป็นหลัก มักจะรับชมวีดิโอผ่านทางช่องทางเหล่านี้ 

 โดย 93% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในกัมพูชาดูวีดิโอในสื่อออนไลน์ทุกวัน ตามมาด้วยมาเลเซีย 80% และเวียดนาม 69%

ช่องทางดิจิทัลต่างๆ ถือเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภค 1 ใน 3 หรือราว 32% สามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ต้องการ ทำให้สามารถตามดูรายการทีวีย้อนหลังได้ ขณะที่บางคนเลือกที่จะเสียค่าสมัครสมาชิกเพื่อรับชม เช่น Netflix โดยคิดเป็น 11% ของผู้บริโภคจากทั่วภูมิภาคที่รับชมผ่านช่องทางนี้ทุกวัน

สำหรับประเทศไทยผู้บริโภคดูวีดิโอออนไลน์ฟรี ยูทูบ 63% ขณะที่การดูวีดิโอออนไลน์ผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์ก ได้รับความนิยมมากเช่นกันโดยมีผู้บริโภคถึง 63% ที่รับชมเป็นประจำ

ลักษณะของเนื้อหาที่ผู้คนสนใจรับชมมีความเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน เนื้อหาวีดิโอที่ได้รับความนิยมนั้นไม่จำเป็นต้องถูกถ่ายทำแบบมืออาชีพอีกต่อไป โดย 1 ใน 3 ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิก 33% ระบุว่า วีดิโอส่วนใหญ่ที่พวกเขาดูนั้น ถูกสร้างโดยคนธรรมดาทั่วไปเช่นพวกเขา หรือโดยเหล่าคนดังหรือ celebrity ต่างๆ และ 27% ของผู้บริโภคเหล่านี้ ยังรับชมวีดิโอจากแบรนด์ต่างๆ ในแต่ละสัปดาห์อีกด้วย

คนส่วนใหญ่มักจะคิดไปว่ามีแต่คนหนุ่มสาวเท่านั้นที่ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการดูวีดิโอออนไลน์ แต่ในความเป็นจริง กลุ่มผู้ใหญ่ก็ใช้เวลาไปกับการดูวีดิโอออนไลน์ไม่ต่างไปจากวัยหนุ่มสาวเลย ผลการศึกษาพบว่าในเอเชียแปซิฟิก ผู้คนในช่วงอายุ 55-65 ปี ถือเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ที่ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 1.4 ชั่วโมงในการรับชมวีดิโอออนไลน์ เมื่อเทียบกับกลุ่มคนอายุ 16-24 ปี ที่ใช้เวลาเฉลี่ยวันละ 1.7 ชั่วโมง แสดงให้เห็นว่า วีดิโอออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งที่เข้าถึงผู้คนได้หลากหลายกลุ่มมากขึ้น

การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การบริโภคเนื้อหามากขึ้นตามไปด้วย ดังที่พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตดูวีดิโอออนไลน์เฉลี่ยวันละ 1.6 ชั่วโมงทุกวัน 

อย่างไรก็ตามแบรนด์ต่างๆไม่ควรจะละเลยสื่อดั้งเดิมเช่น“ทีวี” เนื่องจากการศึกษาพบว่าทีวียังคงมีความสำคัญในเอเชียแปซิฟิกอยู่ การรับชมรายการต่างๆ ผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ยังคงได้รับความนิยม โดย 77% ของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิกยังคงรับชมผ่านช่องทางนี้เฉลี่ย 2 ชั่วโมงต่อวัน มากกว่าชมวีดิโอออนไลน์

สิ่งที่น่าจับตามองในกระแสการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคคือ การเพิ่มขึ้นของความนิยมวีดิโอออนไลน์อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าการรับชมวีดิโอออนไลน์เริ่มเป็นพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำมากขึ้น แต่มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมในการรับชมทีวี กล่าวได้ว่าการรับชมวีดิโอออนไลน์เป็นพฤติกรรมที่เพิ่มเติมจากการดูทีวี 

ดังนั้นในการวางแผนการใช้สื่อจึงไม่ควรถามว่า “ควรเลือกทีวีมากกว่าหรือวีดิโอออนไลน์มากกว่า” แต่ควรเป็นการวางแผนว่าช่วงเวลาไหน เนื้อหาแบบไหน กลุ่มเป้าหมายใด ควรใช้ทีวีหรือวีดิโอออนไลน์ เพื่อการกำหนดทิศทางเป้าหมายนโยบายทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างโอกาสเพื่อให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจมากที่สุด