เคล็ด (ไม่) ลับสร้างความสุขให้พนักงาน

เคล็ด (ไม่) ลับสร้างความสุขให้พนักงาน

ปีใหม่นี้ น่าจะเป็นโอกาสที่เจ้าของกิจการ นายจ้างหรือผู้บริหาร สามารถมอบความสุขให้พนักงานในองค์กรได้ง่ายๆโดยไม่ต้องทุ่มเงินมากมาย

แต่เป็นเรื่องของการใช้หัวสมองและหัวใจที่จะปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองในการมองโลก มองพนักงานและพยายามออกแบบวิธีการบริหาร กระบวนการทำงานและสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่สร้างความหมาย ความสนุกสนาน ความมีชีวิตชีวา ความสร้างสรรค์ ซึ่งโดยองค์รวมก็คือ การทำให้พนักงานทำงานมีผลงานอย่างมีความสุข

จะว่าไปแล้ว เป้าหมายของการบริหารองค์กรใดๆก็ตามมีเพียงแค่นี้ คือ ได้ผลงาน (results)และพนักงานมีความสุข จะมีเพียงอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ไปไม่รอด ไม่ยั่งยืน

ไม่เชื่อก็ลองไปดูตามองค์กรต่างๆได้เลยว่า องค์กรไหนที่พนักงานสร้างผลงานสูง แต่ไม่มีความสุข แล้วพนักงานจะทนทำงานได้นานไหม หรือบางองค์กรดูแลพนักงานดีมาก พนักงานมีความสุข แต่สร้างผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรเพราะระบบการบริหารและการทำงานไม่มีประสิทธิภาพ แบบนี้องค์กรก็คงอยู่ไม่ได้นาน

ดังนั้นหากประสงค์จะให้ทั้งองค์กรและพนักงานอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความเจริญก้าวหน้าและมีความสุขอย่างยั่งยืน ผู้นำองค์กรก็ต้องมีวิธีการสร้างสิ่งแวดล้อมวัฒนธรรมการทำงานที่ส่งเสริมให้การบริหารงานและคนสอดคล้องสนับสนุนกันและกันได้ดี 

ดิฉันได้ไปศึกษาหาข้อมูลว่าองค์กรธุรกิจที่หลากหลายที่ประสบความสำเร็จเขามีเคล็ด(ไม่)ลับในการสร้างความสุขให้พนักงานอย่างไร ก็ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจมากมายจากมุมมองของเจ้าของกิจการ ที่ปรึกษาองค์กรสาขาต่างๆ นักวิชาการ และนักบริหาร HR ที่ได้รับการเผยแพร่ในนิตยสารการบริหารชั้นนำหลายฉบับ เช่น บิสสิเนส วีค ฟอร์บส์ ฟอร์จูน เป็นต้น ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์สกัดเป็นสูตรการสร้างความสุขให้พนักงานที่แฟนคอลัมน์นำมาใช้ได้ทันทีไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่ 5 ประการค่ะ


ให้อิสระในการทำงาน (autonomy) ในช่วงเวลาสองสามปีที่ผ่านมานี้ ดิฉันสังเกตเห็นว่าเรื่องของอิสระในการทำงาน เรื่องของกระจายอำนาจ (decentralize)ให้พนักงานมีอำนาจในการตัดสินใจ และการสร้างความพร้อมให้พนักงานมีอำนาจและใช้อำนาจในการทำงานได้อย่างเหมาะสม (employee empowerment) ได้กลายเป็นปัจจัยลำดับแรกๆที่องค์กรใช้เป็นนโยบายในการจูงใจและรักษาพนักงาน คงเป็นเพราะยุคนี้แรงงานได้กลายเป็นพนักงานรุ่น Gen Y มากขึ้น ซึ่งคนรุ่นนี้ต้องการความเท่าเทียมกันมากขึ้น ต้องการอิสระในการแสดงความคิดเห็นและการทำงาน ชอบความท้าทาย ไม่ชอบผู้นำที่ใช้วิธีสั่งการโดยไม่รับฟังความคิดพนักงาน การมีอิสระในการแสดงความเห็น แลกเปลี่ยนความคิด ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ความคิดของตนเองและผู้อื่นที่กระทำอย่างมีกติกามารยาทจะสามารถสร้างบรรยากาศการทำงานที่สนุกสนาน ท้าทาย กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ดียิ่ง  


มีความโปร่งใสในการทำงาน (Transparency) การทำงานของคนรุ่นเก่าที่จำกัดข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทและการตัดสินใจสำคัญๆ (เช่น เรื่องสถานะการเงินขององค์กร ทิศทางการทำงาน การปรับโครงสร้างองค์ก การควบรวมกิจการร) ให้อยู่ในวงผู้บริหารระดับสูงที่ประธานบริษัทหรือเจ้าของไว้ใจเพียงไม่กี่คนได้ตกเป็นประเด็นด้านการบริหารที่พนักงานรุ่นใหม่ไม่ชอบเป็นอย่างมาก หลายคนมองว่าการที่ผู้บริหารระดับสูงไม่แบ่งปันข้อมูลเหล่านี้ซึ่งเขามองว่าเป็นข้อมูลที่มีผลกระทบต่ออนาคตการทำงานของพนักงานทุกคนเป็นการจงใจ “ปิดบัง” ข้อมูลกับพนักงาน ไม่ไว้ใจ (lack of trust) ไม่ให้เกียรติ (lack of respect) และไม่จริงใจกับพนักงาน หลายคนได้ยิน “ข่าวลือ” เกี่ยวกับองค์กรซึ่งไม่เป็นความจริง เช่น เรื่องการควบรวมกิจการและการปรับโครงสร้าง มีผลทำให้พนักงานคนมีฝีมือที่ได้ข่าวลือตัดสินใจลาออกไปหางานที่อื่นทำทันที เหลืออยู่แต่คนที่ไม่ค่อยเก่งไม่มีทางไปที่ยังจำใจอยู่กับองค์กร การบริหารองค์กรและคนรุ่นใหม่จึงต้องมีกุศโลบายที่เหมาะสมในการสื่อสารกับพนังงานทุกคนทุกระดับเรื่องวิสัยทัศน์การทำงาน เป้าหมาย สถานะของบริษัทและเรื่องการเปลี่ยนแปลงต่างๆอย่างพอเพียง (adequacy of communication) ถูกต้องตามกาละเทศะ (good timing) เพื่อแสดงออกซึ่งความไว้วางใจและความจริงใจต่อพนักงาน และยังเป็นการป้องกันการสร้างข่าวลือผิดๆเกี่ยวกับองค์กรอีกด้วย


ให้เกียรติยกย่องชื่นชมความสำเร็จของพนักงาน (Recognize and acknowledge employee’s accomplishments) เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่พนักงานรุ่นใหม่ต้องการ คือคำชมและการให้เกียรติยกย่อง อันที่จริงคนทุกรุ่นทุกวัยก็ต้องการสิ่งนี้ด้วยกันทั้งนั้น แต่ในสมัยโบราณผู้ใหญ่รุ่นเก่าเกรงว่าถ้าให้คำชมเด็กๆมากไป เดี๋ยวเด็กจะเหลิง ผู้ใหญ่และผู้บริหารก็เลยประหยัดคำชม แต่สมัยนี้ต้องชมมากหน่อย เวลาพนักงานคนใดทำสิ่งดีๆเรื่องดีๆเพียงเล็กๆน้อยๆ เช่น ช่วยประหยัดน้ำประหยัดไฟในออฟฟิศ หรือทำความสะอาดห้องทำงานให้ดูน่าอยู่ ผู้บริหารสมัยใหม่จะกล่าวยกย่องขอบคุณพนักงานโดยทันที บางครั้งก็มอบขนมถุงเล็กๆให้ มีเพื่อนร่วมงานมาร่วมชื่นชมปรบมือให้ แค่นี้พนักงานก็รู้สึกดีมีความสุขแล้ว ไม่ต้องรอจนสิ้นปีให้พนักงานทำเป้าได้ จึงจะชมกันให้รางวัลกัน แบบนั้นมันนานเกินไป และถ้าเกิดทำเป้าไม่ได้ เป็นอันว่าปีนั้นพนักงานบางคนจะไม่ได้รับคำชมเลยงั้นสิ? แห้งแล้งไปละมัง?


ให้การดูแลความสนใจกับพนักงานแบบปัจเจกบุคคล (Treat employees individually) ทุกคนชอบความรู้สึกว่าตนเองต่างจากคนอื่น เป็น “คนพิเศษ” จริงอยู่ที่องค์กรพึงปฏิบัติต่อพนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน นั่นหมายความว่าพนักงานทุกคนต้องได้รับโอกาสและความสนับสนุนที่เท่าเทียมกันในการทำงาน แต่เมื่อได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกันแล้ว แต่ความสามารถของพนักงานในการสร้างผลงานไม่เท่าเทียมกัน เรื่องของรางวัลผลตอบแทนก็ต้องเป็นไปตามผลงาน และแม้ว่ารางวัลของพนักงานที่ได้รับจะแตกต่างกัน องค์กรที่ใส่ใจในรายละเอียดก็ยังสามารถทำให้รางวัลของพนักงานมีความพิเศษได้ ไม่ใช่ว่าความสวยงามพิเศษจะมีให้ได้กับคนที่เก่งที่สุดเท่านั้น ยกตัวอย่าง เช่น พนักงานที่ผลงานดีที่สุดจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้น ได้รับตั๋วเครื่องบินและที่พักไปภูเก็ต แต่คนที่มีผลงานรองลงมาจะได้เงินน้อยลง ได้บัตรไปรับประทานอาหารที่ร้านใดร้านหนึ่ง แต่ถ้าผู้บริหารมีวิธีการให้ที่จัดให้พนักงานรู้สึกดีๆ เช่น แทนที่จะมอบเงินและบัตรทานอาหารให้พนักงานโดยให้พนักงานเดินเอกสารไปส่งให้ มันก็จะดูธรรมดาๆไม่มีความหมาย แต่ถ้ามีการจัดพิธีเล็กๆให้ที่ห้องกาแฟที่พนักงานมาร่วมชุมนุมกันได้ มีการกล่าวยกย่องโดยผู้อำนวยการแผนก มีจดหมายขอบคุณพนักงานอย่างเป็นทางการ มีการเผยแพร่ข่าวทางเฟสบุ๊คของบริษัท มีการจัดซองใส่บัตรรับประทานอาหารที่สวยงาม มีการถ่ายรูป ฯลฯ ทั้งหมดนี้ผู้บริหารที่ฉลาดสามารถจัด “พร้อพ” (prop) ให้พนักงานรู้สึกเป็นคนพิเศษได้ค่ะ


ระวังเรื่องภาษากาย (Watch your body language) “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อตระกูล” ยังเป็นคำกล่าวที่ใช้เตือนสติเราได้ แม้กระทั่งฝรั่งที่ไม่ค่อยถือเรื่องกิริยามารยาทเท่าคนไทยก็ยังระบุว่าเรื่องของภาษากายเป็นเรื่องสำคัญ บางคนเป็นคนหน้าบึ้งหน้าเครียด ลูกน้องก็จะรู้สึกเครียดเมื่อต้องอยู่ใกล้ บางคนมีนิสัยเวลาพูดไม่มองหน้าคน แต่ไปมองจอมือถือเพื่อกดรับ – ส่งไลน์เวลาที่ลูกน้องมาขอคำปรึกษา แบบนี้ลูกน้องก็จะรู้สึกว่าไม่ได้รับความสนใจจากหัวหน้าเท่าที่ควร และเป็นกันมากด้วยในยุคนี้ ดังนั้นเพื่อสร้างควมเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับพนักงาน ผู้บริหารควรใส่ใจว่ากิริยาท่าทางของตนมีผลกระทบกับคนรอบข้างอย่างไรเผื่อจะต้องมีการปรับปรุงกัน


5 ประการเท่านี้เองสำหรับการเริ่มต้นการส่งมอบความรู้สึกดีๆให้พนักงานมีความสุขโดยไม่ต้องเสียสตางค์ในสังคมที่เป็นวัตถุนิยมมากขึ้น ยังไงๆน้ำใจย่อมเหนือน้ำเงินค่ะ