เดินหน้าการค้าการลงทุนไทย-อียูในปี 2560

เดินหน้าการค้าการลงทุนไทย-อียูในปี 2560

ปี 2559 นี้เป็นอีกปีแห่งความท้าทายในการเดินหน้าความสัมพันธ์ไทยและสหภาพยุโรป

(หรืออียู) ที่ดูซบเซาไปบ้าง อาจเป็นเพราะสองฝ่ายมัววุ่นวายอยู่กับเรื่องภายในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง การกระตุ้นเศรษฐกิจ และการแก้ไขปัญหาด้านการว่างงาน โดยเฉพาะในกรณีของยุโรป และสำหรับไทยก็มุ่งการเดินหน้าการปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม รวมทั้งเรื่องใกล้ตัวในภูมิภาคอื่นๆ ทำให้การเดินหน้าเรื่องการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอียูดูจะห่างเหินกันไป แต่นี่เรื่องที่ไทยเองไม่ควรละเลยเพราะยุโรปยังเป็นคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่สำหรับไทย และมีผลกระทบต่อบทบาทของไทยในภูมิภาคอาเซียนด้วย

อียู ไทย และการเชื่อมโยงกับอาเซียน

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยกับอียูซึ่งประกอบด้วยประเทศสมาชิก 28 ประเทศ อียูนับเป็นคู่ค้าลำดับที่ 4 ของไทย รองจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอาเซียน ส่วนไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 3 ของอียูในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย สำหรับการลงทุน อียูถือเป็นนักลงทุนลำดับต้นๆ ในประเทศไทยที่นำซึ่งการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงานในประเทศไทยไม่น้อย โดยเฉพาะสาขาอุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย และบริษัทไทยไปลงทุนในประเทศสมาชิกอียูเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับอียู การเข้ามาทำธุรกิจและการค้ากับไทยไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเทศไทยเท่านั้น แต่มองไทยเป็นฐานการค้าและการลงทุนสำหรับภูมิภาคอาเซียน

การเดินหน้าการค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาค และการใช้ “โอกาส” การค้าและการลงทุนในสาขาที่จะเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของภาคธุรกิจสองภูมิภาค โดยเฉพาะการใช้โอกาสจากการบูรณการด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ผ่านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ ASEAN Economic Community (AEC) จึงสำคัญอย่างยิ่ง และคาดว่าจะยิ่งทำให้ประเทศไทยดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนจากยุโรปได้มากขึ้นในฐานะศูนย์กลางการค้าและการลงทุนในภูมิภาค

ในสายตานักธุรกิจและนักลงทุนยุโรปแล้ว ไทยมีศักยภาพมากในการเป็นจุดยุทธศาสตร์เพื่อการเข้าสู่ตลาดเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งจีน และภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักที่ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางสำหรับตลาดอาเซียน โดยเน้นการสร้างความเชื่อมต่อบทบาทของอุตสาหกรรมไทยทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และบทบาทการเป็นซัพพลายเออร์ไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลกซึ่งใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิต อันเป็นผลประโยชน์ร่วมระหว่างภาคธุรกิจและยุโรปนั้น อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ การบินและอากาศยานต์ โลจิสติกส์ เภสัชกรรมและ Healthcare เป็นต้น

น่าเสียดาย นับตั้งแต่การเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรีหรือเอฟ ที เอ ระหว่างไทยและสหภาพยุโรป (EU-Thailand Free Trade Agreement – FTA) หยุดชะงักลง ส่งผลกระทบให้ยุโรปสนใจไทยน้อยลงและหันไปมองประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคมากขึ้น เพราะมีต้นทุนของการทำธุรกิจที่ต่ำกว่า โดยเฉพาะเวียดนาม ที่การเจรจา FTA ได้สำเร็จแล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในไม่ช้า หากการเจรจา FTA มีผลบังคับใช้คาดว่าดึงดูดการค้าการลงทุนจากยุโรปไปเวียดนามได้เพิ่มมากขึ้น แน่นอนต้องส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในสาขาสำคัญที่ไทยก็แข่งๆ กับเวียดนามอยู่ ธุรกิจไทยอาจยังชะล่าใจว่าเวียดนามพัฒนาและมีศักยภาพสู้ไทยไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงเวลาผ่านไปไม่กี่ปี เวียดนามดูจะพัฒนาแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว สำหรับอีกประเทศที่เจรจาความตกลง FTA กับอียูเสร็จแล้วคือสิงค์โปร์ ส่วนประเทศอื่นๆ ก็ทยอยให้ความสนใจมากขึ้น

FTA ถือเป็นจุดเชื่อมต่อเชิงยุทธศาสตร์สำคัญในการผลักดันโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจหรือการแก้ไขปัญหาทางการค้าเพื่อประสานผลประโยชน์และใช้ศักยภาพด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคให้ได้เต็มที่ เพราะอันที่จริงโครงสร้างเศรษฐกิจและปัจจัยพื้นฐานของสองภูมิภาคที่เกื้อหนุน และมิตรภาพที่ยาวนานยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมให้ไทยและอียูเป็นพันธมิตรที่ยังต้องพิ่งพาซึ่งกันและกันในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นักลงทุนไทยอาจคุ้นเคยกับการทำธุรกิจในภูมิภาคหรือกับประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจนั้นใกล้เคียงกัน แต่การมองไกลออกไปยังภูมิภาคยุโรปก็เป็นอีกวิสัยทัศน์ที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะเป็นโอกาสในการขยายเครือข่ายทางธุรกิจของไทยออกไปยังตลาดยุโรปที่มีศัยกภาพและกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก

สำหรับปี 2560 การพัฒนายุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอียู ควรเน้น 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นแรก ไทยควรเน้นยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนกับยุโรป ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน และการอำนวยความสะดวกให้การค้าและการลงทุนในกรอบอาเซียนไม่ว่าจะเป็น AEC, ASEAN+3, ASEAN+6 เพื่อดึงดูดการค้าและการลงทุนจากยุโรปด้วย เพราะในสายตายุโรปแล้ว ไทยน่าดึงดูดและมีความสำคัญในฐานะฐานการลงทุนและ hub สำหรับการดำเนินธุรกิจและการขยายตลาดและการลงทุนไปในตลาดอาเซียน และจีน และ

ประเด็นที่สอง การลงทุนจากยุโรปในประเทศไทยควรเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งเป็นจุดแข็งของยุโรป เพื่อประโยชน์ในการส่งผ่านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาศักยภาพอุตสหกรรมไทย และการสร้างงานในอุตสหกรรมที่มีผลประโยชน์ต่อประเทศไทยไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น นโยบาย Thailand 4.0 จึงเป็นทิศทางนโยบายที่เหมาะสมกับการดึงดูดนักลงทุนยุโรปอย่างมาก หากมีการปรับใช้ในเชิงรูปธรรมได้รวดเร็วและจริงจัง

การวางแผนและกำหนดยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนใหม่กับยุโรปและอียูที่ชัดเจน จะช่วยให้ไทยจะสามารถดึงโอกาสและศักยภาพของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักของไทยมาส่งเสริมเพื่อเปิดตลาดยุโรปใหม่ๆ และการเดินหน้าการทำธุรกิจและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคได้อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม

“Thai-European Business Association” หรือ TEBA เป็นเครื่องมือใหม่ที่จะเป็นคำตอบให้กับทั้งภาคธุรกิจและนักลงทุนไทยในการบุกตลาดอียู และให้ธุรกิจและนักลงทุนอียูในการเข้าถึงศักยภาพและตลาดของไทย โดย TEBD เป็นกิจกรรมลักษณะ business-driven initiative ที่มีภาคเอกชนเป็นผู้ริเริ่ม เพื่อเป็นเวทีในการประสานความร่วมมือและเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจระหว่างภาคเอกชนไทยและยุโรปที่สนใจการดำเนินการค้าและการลงทุนในไทยและยุโรป โดยเน้นการส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างสองภูมิภาคแบบสองด้าน กล่าวคือ ทั้งภาคเอกชนยุโรปสนใจด้านการค้าและการลงทุนในประเทศไทย และภาคเอกชนไทยสนใจการค้าและการลงทุนในตลาดยุโรป โดยเน้นการเป็นเวทีให้ภาคเอกชนสองฝ่ายหารือเกี่ยวกับโอกาสและการแก้ไขปัญหาในการดำเนินธุรกิจต่างๆ ระหว่างสองภูมิภาคผ่านกิจกรรมหลักสำหรับภาคธุรกิจ โดยเป็นอิสระจากประเด็นทางด้านการเมือง

ขอเชิญชวนให้ภาคธุรกิจเข้าร่วมใช้ประโยชน์จาก TEBA ซึ่งเป็นเครื่องมือ innovative ใหม่ชิ้นนี้ เพื่อสร้างโอกาสทั้งในการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายทางธุรกิจของไทยออกไปยังตลาดยุโรป โดยไม่ย่อท้อแต่ประเด็นการเมืองของอียู

ภาคธุรกิจที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายและเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ของ TEBD สามารถลงทะเบียนการเข้าร่วมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ [email protected] หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaieuro.biz

----------------------

ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรปสำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd