แก้ปัญหาความใกล้ชิดเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทเอกชน

แก้ปัญหาความใกล้ชิดเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทเอกชน

สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐไปรับเงินเดือนเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งเป็น

ตัวอย่างของปัญหาธรรมาภิบาลภาครัฐที่สำคัญ คือปัญหาความใกล้ชิดระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับบริษัทเอกชน ที่อาจมีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยราชการในฐานะผู้กำกับดูแล นำไปสู่ประเด็น เช่น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจทำให้การทำหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลไม่เข้มแข็งอย่างที่ควรเป็น เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐไปนั่งอยู่ในบริษัทเอกชนที่ถูกกำกับดูแล หรือการช่วยเหลือปกป้องในกรณีที่บริษัททำผิดซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง หรือการสร้างความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐไปนั่งเป็นที่ปรึกษาที่สามารถให้ข้อมูลที่บริษัทอื่นไม่มีได้ นี่คือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทเอกชนมีความใกล้ชิดกัน

เรื่องแบบนี้ในบ้านเราคงมีมากและมีมานาน มีการปฏิบัติกัน แต่คนทั่วไปอาจไม่ทราบเพราะไม่มีข้อมูล แต่ปัจจุบันสังคมได้เปลี่ยนไป สังคมต้องการความโปร่งใส ต้องการความเป็นธรรม และต้องการการปฏิบัติที่มีเหตุมีผล เรื่องเหล่านี้เมื่อเป็นข่าว จึงมีผู้ไม่เห็นด้วยมาก มองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง แต่ลึกๆแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของปัญหาธรรมาภิบาลที่ใหญ่กว่า นั่นคือ ปัญหาความใกล้ชิดระหว่างบริษัทธุรกิจกับหน่วยงานของรัฐ ที่เกิดจากการเข้าออกสลับเปลี่ยนตำแหน่งของบุคลากรระดับสูงในภาครัฐไปทำงานให้ภาคเอกชน และคนในภาคเอกชนไปทำงานให้ภาครัฐ ที่อาจสร้างความเสี่ยงทั้งประเด็นการทุจริตคอร์รัปชัน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการทำให้การทำหน้าที่กำกับดูแลขององค์กรรัฐ ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น คือไม่เป็นกลาง ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามข้อบังคับและกฎระเบียบ ในต่างประเทศ ประเด็นนี้เป็นปัญหาธรรมาภิบาล เรียกว่า “ปัญหาประตูหมุน หรือ “Revolving door” ที่บุคคลระดับสูงภาครัฐเข้าไปทำงานในภาคเอกชน และคนในภาคเอกชนเข้ามาทำงานด้านนโยบายในภาครัฐ สลับเปลี่ยนตำแหน่งจนทำลายความน่าเชื่อถือและความซื่อตรง (integrity) ของการทำหน้าที่และการทำนโยบายของหน่วยงานราชการ

รูปแบบสำคัญของความใกล้ชิดที่ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญและต้องระมัดระวังมาก ก็คือ หนึ่ง เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยราชการในฐานะผู้กำกับดูแลไปรับตำแหน่งในบริษัทธุรกิจเอกชน ที่เป็นผู้ถูกกำกับดูแล ทั้งในขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่ง หรือหลังการเกษียณอายุราชการ ที่อาจมีอิทธิพลให้การกำกับดูแลบริษัทเอกชนที่เจ้าหน้าที่รัฐไปรับตำแหน่งอ่อนแอลง สอง กรณีที่บุคลากรภาคเอกชนเข้าไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาหรือผู้บริหารในภาครัฐ ที่อาจใช้ช่วงเวลาการดำรงตำแหน่งในภาครัฐผลักดันแก้ไขนโยบายหรือมาตรการภาครัฐให้เอื้อประโยชน์ต่อบริษัท หรือต่ออุตสาหกรรมของตน และ สาม กรณีอดีตนักการเมืองที่เคยเล่นการเมืองเข้าใจถึงวิธีการออกนโยบายและข้อมูลนโยบายระดับประเทศ พอออกจากการเมืองก็มาเป็นลูกจ้างให้กับบริษัทเอกชน ทำหน้าที่คอยล็อบบี้ฝ่ายการเมืองโดยอาศัยความคุ้นเคย ผลักดันนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่ตนเองตอนนี้เป็นลูกจ้าง สามกรณีนี้คือ ตัวอย่างของปัญหาประตูหมุน หรือ Revolving door ที่การเข้าออกของบุคลากรระดับสูงระหว่างผู้กำกับดูแลในภาครัฐและบริษัทที่ถูกกำกับดูแลในภาคเอกชน อาจสร้างผลประโยชน์ขัดแย้งและความเสียหายให้กับส่วนรวมได้

แล้วเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

ในความเป็นจริง การที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐไปทำงานในภาคเอกชนหลังการเกษียณอายุ หรือการที่บุคลากรภาคเอกชนที่มีประสบการณ์ธุรกิจมาช่วยทำงานด้านนโยบาย อาจเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ที่ทำให้การตัดสินใจด้านธุรกิจหรือด้านนโยบายภาครัฐ ได้มุมมองใหม่ๆ ในการพิจารณาปัญหาต่างๆ แต่การเข้าออกไหลเวียนของบุคลากรระดับสูงดังกล่าว ถ้าไม่บริหารจัดการให้ดี ก็อาจสร้างความเสี่ยงอย่างที่กล่าวได้ จึงควรมีแนวทางป้องกัน ซึ่งไม่ใช่การห้ามไม่ให้รับตำแหน่ง แต่เป็นการบริหารจัดการผ่านการมีระเบียบและแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อป้องกันประเด็นความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น และแนวปฏิบัติที่ประเทศส่วนใหญ่ทำก็คือ การออกกฎหมายเพื่อวางกฎกติกาการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในเรื่องนี้ให้ถูกต้อง

ในบ้านเราก็มีกฎหมายในเรื่องนี้ แต่การบังคับใช้กฎหมายดูมีปัญหา เพราะไม่มีการรายงานติดตามและตรวจสอบ นอกจากนี้ การตีความกฎหมายก็ไม่เหมือนกันว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จึงไม่ชัดเจน ดังนั้น จำเป็นที่ประเทศต้องมีมาตรการหรือเครื่องมือเพิ่มเติมที่จะช่วยบริหารจัดการและลดความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งที่อยากเสนอก็คือ

หนึ่ง รัฐบาลควรออกแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นการทั่วไปสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐเรื่องการไปทำงานให้กับบริษัทเอกชน ทั้งในช่วงอยู่ในตำแหน่งและหลังการเกษียณอายุ โดยการไปมีตำแหน่งในภาคเอกชนขณะที่ยังมีตำแหน่งในราชการนั้น โดยเฉพาะระหว่างผู้กำกับดูแลกับผู้ถูกกำกับดูแล ต้องบอกเลยว่าห้ามและไม่ควรทำ และที่ต้องระวังมากเช่นกันก็คือ การไปทำงานหรือรับตำแหน่งในบริษัทเอกชนที่เคยถูกกำกับดูแลหลังการเกษียณอายุราชการ ที่อาจเอาตำแหน่งและอิทธิพลที่มี ให้ประโยชน์กับบริษัทเอกชนที่ขณะนี้ได้กลายเป็นนายจ้างไปแล้ว การออกแนวปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้ชัดเจนกับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคนว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้ และจะเป็นวิธีปฏิบัติที่ใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐทุกคน ปัจจุบันบ้านเรามีแต่กฎหมาย แต่ไม่มีแนวหรือวิธีปฏิบัติที่ชัดเจน ทำให้เกิดความสับสน การมีแนวปฏิบัติเหล่านี้จะช่วยให้ชัดเจน ซึ่งควรรวมถึงกรณีบุคลากรในภาคเอกชนไปช่วยงานหน่วยราชการหรือรัฐบาล และกรณีอดีตนักการเมืองไปเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน ซึ่งควรมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเช่นกัน

สอง สำหรับตำแหน่งสำคัญในภาคราชการ เช่นตำแหน่งหัวหน้าส่วนงาน ผู้บริหารระดับสูง ซี 10-11 ควรระบุชัดเจนในแนวปฏิบัติว่าจะไม่สามารถไปทำงานในบริษัทเอกชนในธุรกิจที่ตนเองเคยเป็นผู้กำกับดูแลอยู่อย่างน้อยเป็นเวลา 2 ปี เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้ง หรือการใช้อิทธิพลจากตำแหน่งงานเดิมช่วยเหลือบริษัทที่ตนขณะนี้เป็นลูกจ้าง อันนี้เป็นวิธีปฏิบัติปรกติทางสากล ที่เราควรต้องเริ่มนำมาใช้เป็นการทั่วไปในบ้านเรา เพื่อลดประเด็นความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาลอย่างที่เกิดขึ้น

สาม ต้องเป็นหน้าที่ของบริษัทเอกชนที่ต้องตรวจสอบ (due diligence) บุคคลที่จะเข้ามารับตำแหน่งผู้บริหาร กรรมการ และที่ปรึกษาของบริษัท ว่าไม่มีประเด็นที่ผิดกฎหมาย ผิดระเบียบ หรือประเด็นผลประโยชน์ขัดแย้ง โดยเฉพาะกรณีบุคคลนี้เคยเป็นผู้ที่อยู่ในระบบราชการหรือเป็นผู้กำกับดูแลมาก่อน ให้ถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัทผู้จ้างที่ต้องตรวจสอบ และเปิดเผยข้อมูลการว่าจ้างอดีตเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวให้เกิดความโปร่งใส และบริษัทก็ควรต้องสามารถอธิบายให้ผู้ถือหุ้นทราบได้ว่า ที่ว่าจ้างบุคคลเหล่านี้เข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ เป็นกรรมการ หรือเป็นที่ปรึกษาของบริษัทนั้นมีเหตุมีผลอย่างไร

แนวทางทั้งสามนี้ จะช่วยลดทอนความเสี่ยงจากการไหลเวียนของบุคลากรระดับสูงระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาธรรมาภิบาลสำคัญของบ้านเรา เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขต้องปฏิรูปเพื่ออนาคตประเทศ