ทางลัด นวัตกรรมการลงทุน

ทางลัด นวัตกรรมการลงทุน

ลงทุนตามความคาดหวังของทิศทางดอกเบี้ย

ในคืนวันพุธที่ผ่านมา(14 ธ.ค.59) ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ตัดสินใจขึ้นปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% โดยทิ้งช่วงห่างจากการปรับขึ้นครั้งก่อนในช่วงเดือน ธ.ค. 58 หน้าเป็นเวลา 1 ปีพอดี ถ้าลองนึกย้อนไปลักษณะของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของทั้ง 2 ครั้งล่าสุดมีความคล้ายคลึงกันในบางเรื่อง แต่ผลที่เกิดขึ้นต่อการเคลื่อนไหวของสภาพคล่องทั่วโลกนั้นต่างกันอย่างมาก

ลักษณะการขึ้นดอกเบี้ยของทั้ง 2 ครั้งมีความคล้ายคลึงกันในแง่ความคาดหวังของนักลงทุนซึ่งได้คาดการณ์กันไว้แล้วว่าดอกเบี้ยจะปรับขึ้น ก่อนหน้าที่จะมีการประกาศขึ้นดอกเบี้ย นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็เริ่มมองไปทางเดียวกัน และค่าความน่าจะเป็นของการขึ้นดอกเบี้ยก่อนการประชุมFedทั้ง 2 ครั้งได้ค่อยๆปรับขึ้นไปเรื่อยๆจาก 70% ไปจนถึง 99% ถือว่าเป็นการปรับขึ้นแบบไม่ให้นักลงทุนตกใจ

เมื่อทั่วโลกเริ่มคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันสิ่งที่ตามมาคือ สภาพคล่องมีการไหลกลับไปในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ(USD) อย่างไม่น่าแปลกใจ โดยในตั้งแต่กลางเดือน ต.ค. 58 และ ต.ค. 59 ดัชนี USD Index ปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ในฝั่งนักลงทุนที่เคยถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐก่อนหน้าที่ได้รับอัตราผลตอบแทน (Yield) ระดับต่ำ ก็เริ่มเทขายพันธบัตรรัฐบาลออกมา เพื่อจะรอซื้อพันธบัตรที่คาดว่าจะมีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้นตามดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น สิ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นตรงนี้ไม่ซับซ้อนอะไรให้นึกภาพคล้ายๆกับเป็นการโยกเงินมาพักในสกุล USD เพื่อรอดูท่าทีของ Fed ในเดือน ธ.ค.

ในความเหมือนข้างต้นก็มีความแตกต่างกันอย่างมากในความรุนแรงของการเคลื่อนย้ายเงินทุน ในช่วง 1 ต.ค. – 15 ธ.ค. 58 แรงขายพันธบัตรรัฐบาลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล10ปีปรับเพิ่มขึ้นก็จริงแต่เพิ่มแค่ประมาณ 0.30% ใกล้เคียงกับการคาดการณ์ดอกเบี้ยที่จะเพิ่มขึ้น 0.25% ในขณะที่รอบปีล่าสุดนี้ มีแรงขายพันธบัตรอย่างรุนแรงมาก โดยในช่วง 1 ต.ค. 59 – 15 ธ.ค.59 อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล10ปีเพิ่มขึ้นถึง 1% (จาก 1.60% ไปถึง 2.6%)

ในฝั่งตลาดหุ้นเองก็มีการตอบรับที่แตกต่างกันอย่างมาก ในปี 2558 ก่อนที่Fedจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 2 เดือน ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงประมาณ 3% พร้อมๆกับตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงแรงกว่า ในขณะที่การปรับขึ้นดอกเบี้ยปีล่าสุดนี้ตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับในเชิงตรงกันข้าม โดยในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือนก่อนหน้า ดัชนี S&P500 ปรับขึ้นไปถึงประมาณ 7%

การเคลื่อนไหวของตลาดพันธบัตรและหุ้นรอรับการขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้เป็นการสะท้อนชัดเจนว่าเกิดการเคลื่อนไหวสภาพคล่องอย่างรุนแรงเข้าสกุลUSD โดยขายพันธบัตรเพื่อไปซื้อหุ้น ในขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยปี 2558 เป็นในลักษณะของสภาพคล่องเข้าไปพักเงินไว้ในสกุลUSD โดยยังไม่เลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

หลังจากการขึ้นประกาศขึ้นดอกเบี้ยแล้วในปี 2558 ทางเฟดเองได้แสดงความชัดเจนว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไปจะใช้เวลาและไม่รีบร้อนประมาณอีก 1 ปี ทำให้สภาพคล่องที่รอพักเงินไว้ก่อนหน้าได้มีการไหลกลับออกมาในสินทรัพย์ที่เคยไหลออกมาก่อนหน้าในที่สุด จะเห็นว่าหลังจากประกาศดอกเบี้ยขึ้น มีการย้ายเงินไปลงทุนในทอง และไม่กี่เดือนต่อมาดัชนีดอลล่าร์เริ่มลดลงและสภาพคล่องมีการไหลกลับไปที่ตลาดหุ้นทั่วโลก บนความคาดหวังว่าดอกเบี้ยFedจะยังไม่รีบขึ้น

แนวทางลงทุนในปีหน้านี้จะต่างออกไป เพราะหลังจากดอกเบี้ยปรับขึ้นแล้ว ตลาดยังมองว่าปี 2560 จะมีการปรับดอกเบี้ยขึ้นเรื่อยๆอีก 3 ครั้ง และมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะดีขึ้นจากนโยบายของปธน.คนใหม่ การคาดหวังแบบนี้ไปเรื่อยๆจะทำให้โอกาสน้อยที่สภาพคล่องจะไหลคืนกลับมาไปที่อื่นๆ ราคาทองจะถูกกดดันจากการที่ค่าเงิน USD ยืนอยู่ในระดับนี้ ตลาดหุ้นที่พึ่งพาสภาพคล่องเหล่านี้ก็คงต้องรอไปก่อน ถ้าจากมุมมองตรงนี้แนวทางการลงทุนตามกระแสเงินในปีหน้า จะเป็นปีที่ตลาดหุ้นไทยเองจะพึ่งพาสภาพคล่องในประเทศเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่จะเคลื่อนไหวไปลงทุนในหุ้นที่อิงกับปัจจัยภายในประเทศเอง เช่น หุ้นขนาดกลางที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายภายในประเทศ หรือแม้กระทั่งนโยบายที่เปลี่ยนไปของสหรัฐเอง

การเคลื่อนย้ายสภาพคล่องบนความคาดหวังทำให้การวิเคราะห์แบบสูตรตายตัว เช่น หุ้นสหรัฐขึ้นทำให้หุ้นไทยขึ้นตาม หรือ หลังประกาศดอกเบี้ยจบหุ้นต้องขึ้น ใช้ไม่ได้เสมอไป นักลงทุนควรฝึกวิเคราะห์โดยดูปัจจัยรอบๆประกอบเสมอ และขยันอ่านบทวิเคราะห์ระดับมหภาคบ่อยๆ เพื่อรับมือกับสภาวะตลาดปีหน้านะครับ