5 ตัวเต็ง ทายาท ‘เยลเลน’?

5 ตัวเต็ง ทายาท ‘เยลเลน’?

หลายคนอาจสงสัยว่าเมื่อว่าที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง

ในวันที่ 20 มกราคม 2017 แล้วนางเจเน็ต เยลเลนประธานธนาคารกลางสหรัฐยังจะอยู่ต่อได้ไหม ตรงนี้ หลายคนมองว่าน่าจะอยู่ได้จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018 ที่ตำแหน่งของเธอจะครบวาระ ทว่าก็มีบางกระแสมองว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐเกิดสะดุดขึ้นมาในปีหน้า แม้จะมิได้มาจากฝีมือของเธอ ทว่ามาจากนโยบายของทรัมป์ เธอเองคงไม่สามารถปัดความรับผิดชอบ โดยเฉพาะนายทรัมป์คงจะใช้เหตุผลนี้เป็นช่องทางในการโจมตีเธอในทางการเมืองได้ ผมจึงมองว่านางเยลเลนก็ไม่แน่ว่าจะสามารถอยู่ได้จนครบเทอมของเธอ คำถามคือแล้วใครกันที่จะมาเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐต่อจากนางเยลเลน

ทั้งนี้ สำหรับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการแต่งตั้งคือตัวนายทรัมป์เอง ซึ่งจากการที่นายทรัมป์ได้แต่งตั้งคนในตำแหน่งหลักๆในคณะรัฐมนตรี ผมมองว่านายทรัมป์ชอบผู้ที่มีโปรไฟล์ ดังนี้ มีประสบการณ์โดยตรงกับงาน ค่อนข้างอาวุโส มีสายสัมพันธ์กับธนาคารโกลด์แมน แซคส์ และอาจเป็นผู้ที่เคยคลุกคลีกับนายทรัมป์ในช่วงหาเสียงแข่งกับนางฮิลลารี คลินตัน โดยผมมองผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าวอยู่ 5 ท่าน ดังนี้

อันดับ 5 นายปีเตอร์ นาวาโร่ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เหตุผลที่นาย นาวาโร่ มีโอกาสได้ลุ้นตำแหน่งนี้แม้จะมีโอกาสไม่มากนัก เพราะเขาเองเป็นดอกเตอร์ด้านเศรษฐศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวที่ช่วยนายทรัมป์หาเสียงจนได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีในวันนี้ โดยเขาเองมีแนวคิดที่ต้องการให้สหรัฐลุยแหลกทางการค้ากับจีน ซึ่งถึงตรงนี้ นายทรัมป์ยังไม่เน้นตรงจุดนี้มากนัก

อันดับ 4 นายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ คนปัจจุบัน มีโอกาสสูง หากพิจารณาจากที่เขาเป็นผู้มีประสบการณ์ทั้งในธนาคารกลางและภาคเอกชน ชีวิตการทำงานของนายฟิชเชอร์นั้นในยุคทศวรรษที่ 90 ได้หันไปเอาดีในการเป็นรองกรรมการผู้จัดการของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ต้องบอกว่าช่วงนี้ นายฟิชเชอร์โดนโจมตีอยู่พอสมควรในประเด็นการใช้นโยบายการรัดเข็มขัดของรัฐบาลและการเพิ่มเงินสำรองระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาประเทศกำลังพัฒนา สำหรับโครงการให้ความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟว่าเป็นจุดกำเนิดของความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกจนเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในที่สุด

จากนั้น นายฟิชเชอร์มาเข้าทำงานภาคเอกชนกับ Citi โดยดูแลส่วนที่เป็นธุรกิจนอกประเทศสหรัฐ ในปี 2002-2005 ท้ายสุด จึงไปรับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารของอิสราเอล ตั้งแต่นั้นจนถึงเมื่อปีที่แล้ว ล่าสุด นายฟิชเชอร์เข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยประธานธนาคารกลางสหรัฐลำดับที่หนึ่ง แนวคิดหลักๆ ที่ได้แสดงออกมาให้เห็น ได้แก่ การควบคุมระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพ

อันดับ 3 นายวิลเลียม ดัดลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ สาขานิวยอร์ค คนปัจจุบันเขาเป็นอดีตผู้บริหารโกลด์แมน ซัคส์ ที่เพิ่งลาออกมาเพียงไม่กี่ปี ซึ่งนายทรัมป์และธนาคารกลางอื่นๆชอบให้ศิษย์เก่าของแบงก์นี้เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้ว่าการธนาคารกลาง นอกจากนี้ นายดัดลีย์เองยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความคิดเห็นที่น่าจะเข้าใจยากให้เป็นภาษาง่ายๆ ที่สำคัญ ในอดีต มีผู้ว่าการธนาคารกลางสาขานิวยอร์คที่เคยเข้ารับตำแหน่งสูงๆ อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในเวลาต่อมา ตัวอย่างคือ นายทิมโมธี ไกธ์เนอร์ คู่หูนายเบอร์นันเก้นั่นเอง

อันดับ 2 นายพอล โวลค์เกอร์ อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ ผมมองว่าเขาเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ตรงที่สุดในการสู้กับเงินเฟ้อ ณ นาทีนี้

ต้องยอมรับว่านายโวลเกอร์เป็นประธานธนาคารกลางที่เจอโจทย์หินกว่าท่านอื่นแม้กระทั่งนายเบน เบอร์นันเก้ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาเสถียรภาพด้านราคา เพราะจะเห็นได้จากรูปว่าช่วงปี 1980-1987 นั้น การเจริญเติบโตของปริมาณเงินในสหรัฐสูงขึ้นมาก แต่อัตราเงินเฟ้อกลับลดต่ำลง ซึ่งความยากอยู่ที่เขาต้องทำงานในยุคที่วิชาเศรษฐศาสตร์มหภาคยังไม่ก้าวหน้าอย่างทุกวันนี้ หรือจะเป็นเรื่องวิกฤติหนี้ละตินอเมริกา ซึ่งเกิดจากธนาคารสหรัฐในช่วงเวลานั้น ไม่ยอมนำเงินดอลลาร์ที่ได้รับจากการทำธุรกิจกับประเทศที่ส่งออกน้ำมันกลับเข้าสหรัฐ เพื่อเลี่ยงกฎเกณฑ์การเก็บภาษีสินทรัพย์ที่จะส่งกลับเข้าประเทศ ทำให้ดอลลาร์ยังคงอยู่นอกสหรัฐ (ยูโรดอลลาร์) กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 1982 โดยเกินหนึ่งในสี่ของเงินทั้งหมด ได้ปล่อยกู้อย่างหละหลวมให้กับประเทศละตินอเมริกาจนเกิดการล้มละลายในที่สุด ทั้งหมดนับเป็นภารกิจที่แสนสาหัสสำหรับนายโวลเกอร์ในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งตัวเขาก็ทำได้ดีเสียด้วย

ภารกิจชิ้นสำคัญล่าสุดของคุณปู่โวลเกอร์เป็น คือ การผลักดันกฎหมายที่ห้ามมิให้ธนาคารซึ่งได้รับการค้ำประกันเงินฝากจากภาครัฐประกอบธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง อาทิเช่น อนุพันธ์ทางการเงินและเฮดจ์ฟันด์ จนคำว่า Volcker's Rule ตอนนี้กลายเป็นวลีฮิตที่บ่งบอกถึงความเอาจริงเอาจังในการขจัดความโลภของโลกทุนนิยม

มาถึงเต็งอันดับ 1 นายเจมีย์ ไดมอนด์ ประธานและซีอีโอของเจพีมอร์แกน เชส ที่เคยเป็นหนึ่งตัวเต็งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ที่นายสตีเฟน นูชินคว้าตำแหน่งดังกล่าวไป ผมคิดว่า ณ ตอนนี้ นายไดมอนด์น่าจะเป็นตัวเต็งเนื่องด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้ง Amex และ สามารถนำพาเจพีมอร์แกนขึ้นมาเป็นแบงก์ชั้นนำของอเมริกา ที่สำคัญ ตัวเขาเองเริ่มจะคลุกคลีกับนายทรัมป์มากขึ้นเรื่อยๆผ่านเครือข่ายผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์ระดับโลกหลายท่าน ซึ่งคุณสมบัติของนายไดมอนด์สามารถดำรงตำแหน่งประธานเฟดได้อย่างไม่ยากเย็น

ทั้งนี้ หากได้เจมีย์ ไดมอนด์หรือวิลเลียม ดัดลีย์ เป็นประธานเฟดคนต่อไป ตลาดหุ้นและตลาดเงินได้เฮ ส่วนรายแสตนลีย์ ฟิชเชอร์ ตลาดน่าจะเฉยๆ แต่ถ้าโผออกมาเป็นพอล โวลค์เกอร์หรือปีเตอร์ นาวาโร่ ตลาดอาจจะถึงกับมึนตึ๊บ เนื่องจากคนแรกถือว่าเฮี๊ยบเกิน ส่วนคนหลังผมว่าตลาดจะมองว่าไม่เก๋าพอครับ