เสี่ยงอย่างมีแผน ดีกว่าตั้งป้อมล้อมคอก

เสี่ยงอย่างมีแผน ดีกว่าตั้งป้อมล้อมคอก

โดยปกติในการทำธุรกิจ เรามักไม่ชอบหรือเผชิญกับอะไรก็ตามที่เกินความคาดหมาย หรือเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันมาก่อน

แต่ด้วยสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมทุกวันนี้ มีความผันผวนอย่างมาก อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นแบบที่เรียกว่า ฉีกตำราเก่าๆ หรือทำให้นักวิชาการหงายเงิบกันเป็นแถว เหตุการณ์ที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้แต่ก็เกิดขึ้นมาแล้วมากมาย แต่เมื่อเกิดขึ้นมักจะส่งผลกระทบในทางลบ และสร้างความเสียหายตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงขั้นทำให้เกิดภาวะล่มสลายกันได้ทีเดียว

 

เหตุการณ์แผ่นดินไหวและเกิดสึนามิครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน ทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นต้องปรับตัว จากที่ในอดีตมักมีนโยบายจะผลิตชิ้นส่วนสำคัญในประเทศเท่านั้น แต่ชิ้นส่วนที่เหลืออื่นๆอาจสูงถึง 99% ยอมที่จะโยกย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศใดก็ได้ ที่ได้เปรียบด้านต้นทุน แต่สินค้าถ้าขาดชิ้นส่วนสำคัญเพียง 1% ก็ไม่สามารถทำงานหรือส่งออกเป็นสินค้าสำเร็จรูปได้ ดังนั้นจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าไม่ยอมกระจายความเสี่ยงให้หมด แต่ยังกุมเทคโนโลยีสำคัญที่เป็นหัวใจไว้กับตัว เพราะกลัวรั่วไหล ไม่ต่างกับการตั้งป้อมค่ายรายล้อม

 

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของไทยเมื่อหลายปีก่อนก็เช่นกัน ท่วมจากเหนือไหลผ่านเมืองกรุงก่อนมุ่งสู่ทะเลในที่สุด คงไม่มีใครคิดหรือเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ ทำเอาทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ รวมถึงครัวเรือนต่างๆ เป็นอัมพาตหยุดธุรกรรมและการเคลื่อนไหวไปหมด โรงงานอุตสาหกรรมที่ผมเคยทำงานตั้งแต่ยังเป็นที่ดินว่างเปล่า ก่อนที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีในต่างประเทศนานเกือบครึ่งปี และเมื่อกลับมาโรงงานที่สร้างเสร็จพร้อมกับเครื่องจักรใหม่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้น ก็เริ่มเดินเครื่องและเปิดดำเนินการ จากวันนั้นถึงวันนี้ 20 ปีเศษ โรงงานไฮเทคแห่งนั้นต้องปิดตัวลง เพราะไม่คุ้มที่จะฟื้นฟูหรือลงทุนใหม่ ในขณะที่อีกหลายธุรกิจก็ได้รับบทเรียนว่าอย่าวางไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว

 

เหตุการณ์เครื่องบินตกจนมีนักฟุตบอล และผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเสียชีวิตเกือบทั้งหมด เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ เหลือรอดตายอย่างปาฏิหาริย์เพียงไม่กี่คน ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง We Are Marshall ต่างกันเพียงแต่ในเรื่องเป็นทีมอเมริกันฟุตบอลของมหาวิทยาลัยมาร์แชล ที่กำลังโด่งดัง เหตุการณ์นั้นทำให้ชาวเมืองเศร้าโศกมาก จนไม่มีใครคิดว่าจะฟื้นฟูทีมกลับมาได้อีก ผมจำได้ดีเวลาทีมผู้บริหารทั้งหมดของบริษัทต้องไปทำกิจกรรมนอกองค์กรทั้งหมด จะมีกฎอยู่ข้อหนึ่งซึ่งมักทำกันคือ ให้กระจายกันไปในยานพาหนะคนละคัน เพราะเราคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ เพื่อความปลอดภัยจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนผู้บริหารทั้งชุด

  

เหตุการณ์ความไม่แน่นอนที่เรามักเรียกกันว่า ความเสี่ยง (Risk) นั้น สามารถดำเนินการหรือรับมือได้ตามลำดับขั้นของเหตุการณ์และความรุนแรง ดังนี้

 

ขั้นการเตรียมพร้อม (Readiness) องค์กรต้องเตรียมความพร้อมด้วยระบบบริหารความเสี่ยง โดยการจัดทำมาตรการขจัดหรือควบคุมภัยต่างๆเอาไว้ล่วงหน้า

 

ขั้นการตอบสนองอย่างฉับไว (Response) เมื่อเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงหรืออุบัติภัยขึ้น ระบบต้องมีสมรรถนะที่ดีพอในการตอบโต้ต่อภัยคุกคามแต่ละชนิดอย่างได้ผลและทันเวลา

 

ขั้นการช่วยเหลือกู้ภัย (Rescue) เป็นกระบวนการปกป้องชีวิตและทรัพย์สินขององค์กร ที่ได้ผลและทันเวลา

 

ขั้นการกลับเข้าไปทำงาน (Rehabilitation) เมื่ออุบัติภัยสิ้นสุดลงแล้ว ต้องกลับเข้าไปที่เดิมให้เร็วที่สุด เพื่อการซ่อมแซม การเปลี่ยนใหม่ หรือแม้แต่การสร้างขึ้นใหม่ในกรณีที่เสียหายโดยสิ้นเชิง เพื่อให้อาคารสถานที่พร้อมที่จะดำเนินการต่อไปได้อีกครั้ง อาจรวมไปถึงการประกันภัยด้วย

 

ขั้นการกลับคืนสู่สภาวะปกติ (Resumption) องค์กรสามารถเปิดทำการ หรือดำเนินการทางธุรกิจต่อไปได้ตามปกติ เสมือนว่าไม่มีอุบัติภัยเกิดขึ้นมาก่อน

 

ทั้งนี้ที่นำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เพราะไม่อยากให้เราลืมและทำเหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เท่าที่ทราบองค์กรชั้นนำหลายแห่งในไทยมีการจัดการความเสี่ยงอย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้น บางองค์กรต่อยอดไปถึงการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ในระหว่างที่เกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงก็ยังสามารถทำธุรกิจและจัดการธุรกรรมสำคัญต่อไปได้ คือมีทั้งแผนปฏิบัติการในสภาวะปกติ (Action plan) แผนสำรอง (Backup plan) เพื่อรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า แผนฉุกเฉิน (Contingency plan) เมื่อเหตุการณ์ลุกลามจนเกินแก้ไข ก็ต้องรักษาชีวิตคนเอาไว้ เพื่อย้อนกลับมาทำแผนสุดท้ายคือ แผนฟื้นฟู (Recovery plan) ให้กลับมาให้เหมือนเดิมได้เร็วที่สุดทันทีที่เหตุการณ์สงบลง

 

การบริหารความเสี่ยงในวันนี้ ได้กลายเป็นข้อบังคับของการดำเนินธุรกิจไปแล้ว ดังนั้น SMEs ทั้งหลายจงอย่าละเลยและเพิกเฉยเป็นอันขาด เริ่มต้นง่ายๆโดยการเปลี่ยนแนวคิดเสียใหม่จาก (1) แบ่งแยกต่างฝ่ายต่างทำ เป็นบูรณาการเชื่อมโยงทั่วทั้งองค์กร (2) มองด้านลบ คิดว่าเป็นภาระและความสูญเสีย เป็นมองด้านบวก โอกาสและการสร้างความน่าเชื่อถือ (3) ตั้งรับ มุ่งเน้นการแก้ไข แบบเห็นไฟแล้วค่อยดับ เป็นเชิงรุก คิดล่วงหน้าและกำหนดมาตรการป้องกัน (4) เฉพาะกิจ ทำเป็นครั้งคราว เป็นการดำเนินการต่อเนื่อง จนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน (5) ใช้การคาดเดา โดยประเมินจากความรู้สึก เป็นใช้ตัวชี้วัด วิเคราะห์และประเมินเป็นตัวเลข (6) ใช้การควบคุม ตรวจสอบ เป็นเน้นให้ความรู้ สร้างความเข้าใจ และปฏิบัติด้วยความเต็มใจ

 

หวังว่าธุรกิจของทุกท่านจะปลอดภัย และมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ เริ่มต้นวางแผน ทำอย่างจริงจัง และต่อเนื่องครับ