ข้าวหอมมะลิไทย:ข้าวที่ดีที่สุดในโลก

ข้าวหอมมะลิไทย:ข้าวที่ดีที่สุดในโลก

การประกวดข้าวระดับโลก World best rice ที่จัดโดยองค์กรที่เรียกว่า The Rice Trader

เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมีเกณฑ์การตัดสิน สี่ด้าน คือกลิ่น รสชาติ ความเหนียวนุ่ม และรูปร่างลักษณะ ปี 2552และปี2553 ข้าวหอมมะลิไทย ชนะเลิศ ปี2554 ข้าวหอมพม่า PAWSAN ชนะเลิศ ปี2555ข้าวหอมกัมพูชา PhakaMalisชนะเลิศ ปี2556 ข้าวหอมกัมพูชาชนะเลิศร่วมกับข้าว California Rose จากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ปี 2557ข้าวหอมกัมพูชา PhakaRomdulชนะเลิศ ปี 2558 ข้าว California Rose จากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาชนะเลิศ ปีล่าสุดคือ 2559 จากการจัดประกวดที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่18 พฤศจิกายน 2559 ข้าวหอมมะลิไทย ทวงความเป็นเลิศกลับมาได้ โดยชนะเลิศในการประกวดในปีนี้

ข้าวหอมมะลิเป็นข้าวหอมที่มีคุณภาพสูงและเป็นข้าวที่มีชื่อเสียงของไทย เป็นที่นิยมของคนไทย และ ผู้บริโภคในต่างประเทศที่มีกำลังซื้อสูงมานานแล้ว มีประวัติในการการพัฒนาพันธุ์โดยสังเขปคือ เมื่อปี2497เพนักงานข้าวจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รวบรวมข้าวพันธุ์พื้นเมือง จากนาเกษตรกร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 199 รวง ต่อมาผู้บริหารกองบำรุงพันธุ์ข้าว นำพันธุ์ข้าว ทั้ง 199 รวง ไปปลูกเพื่อศึกษาและพัฒนาพันธ์ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี จนได้พันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ ข้าวขาวดอกมะลิ 4-2-105 ในปี2502 จึงมีการประกาศให้เป็นพันธ์ข้าวส่งเสริมแก่เกษตรกร จนมีการปลูกกันอย่างแพร่หลาย เรียกกันว่า ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และมีการพัฒนาพันธ์กันต่อมาอีกหลายพันธ์

แม้ข้าวหอมมะลิจะเป็นที่นิยมของผู้ซื้อในต่างประเทศมากขึ้น เป็นข้าวคุณภาพดีที่สุดของไทย ขายได้ราคาสูงกว่าข้าวเจ้าพันธ์อื่นมาก แต่ยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิไว้เป็นการเฉพาะ การตรวจสอบคุณภาพข้าวที่ส่งออกอิงมาตรฐานข้าวขาว ตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเกณฑ์ ดังนั้นเพื่อส่งเสริมคุณภาพข้าวหอมมะลิที่ส่งออก ในปี พ.ศ.2539 กระทรวงพาณิชย์ จึงตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณายกร่างมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยขึ้น พิจารณาเสร็จประกาศใช้บังคับ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2541 เป็นต้นไป ข้าวที่จะถือว่า เป็นข้าวหอมมะลิไทยคือ ข้าวเจ้าพันธ์ข้าวหอมที่ผลิตในประเทศไทยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้คำรับรอง เช่น พันธ์ุขาวดอกมะลิ 105 กข.15 พันธ์คลองหลวง 1 เป็นต้น

โดยคำภาษาอังกฤษที่จะใช้เรียกขานข้าวหอมมะลิไทย ใช้ทับศัพท์คำว่า หอมมะลิ คือเรียกว่า THAI HOM MALI RICE โดยแบ่งชั้นของข้าวหอมมะลิไทยเป็นสามชั้น คือ ข้าวหอมมะลิไทยชั้นดีเลิศ มีข้าวอื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปนได้ไม่เกินร้อยละสิบโดยน้ำหนัก ข้าวหอมมะลิไทยชั้นดีพิเศษ มีข้าวพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปนได้ไม่เกินร้อยละ 20 โดยน้ำหนัก และข้าวหอมมะลิไทยชั้นดี มีข้าวพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิไทยปนได้ไม่เกินร้อยละ 30 โดยน้ำหนัก

เพื่อควบคุมมาตรฐานข้าวหอมมะลิที่ส่งออกให้เข้มงวดขึ้น ในปี พ.ศ. 2544 กระทรวงพาณิชย์ ได้ ประกาศกำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทย เป็นสินค้ามาตรฐานและกำหนดมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาอก พ.ศ.2503 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม2545เป็นต้นไป ทำให้การส่งออกข้าวหอมมะลิไทยต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าขาออก พ.ศ.2503 โดยผู้ส่งออกต้องจัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและขอใบรับรองมาตรฐานสินค้าไปแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร จึงจะสามารถส่งออกได้ ในครั้งนี้มีการแก้ไขปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอมมะลิ โดยเกำหนดให้ข้าวที่ถือว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย ต้องเป็นข้าวที่ปลูกในประเทศไทยในฤดูนาปี ส่วนพันธ์ข้าวเหลือเพียงพันธ์ขาวดอกมะลิ 105 พันธ์ กข .15 และได้ยกเลิกการแบ่งชั้นของข้าวหอมมะลิไทย แต่กำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยแต่ละประเภทและแต่ละชนิด ต้องมีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่า ร้อยละ 92 ต่อมาในปี 2556 มีการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เพิ่มข้าวหอมมะลิไทยชั้นพิเศษ ที่ต้องมีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 ขึ้นมาอีกหนึ่งชั้น

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการจำหน่ายข้าวหอมมะลิไทยและสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้ซื้อมากขึ้น ในปี พ.ศ.2548 กรมการค้าต่างประเทศไทยได้จดทะเบียนเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะอนุญาตให้ผู้ค้าข้าวที่มีคุณสมบัติและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ในข้อบังคับกรมการค้าต่างประเทศว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย ของกรมการค้าต่างประเทศ พ.ศ.2548 แสดงเครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย เพื่อให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าข้าวหอมมะลินั้นมีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งต่อมาได้มีการปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับในการใช้เครื่องหมายรับรอง ขยายไปถึงผู้ค้าข้าวในประเทศด้วย ข้อบังคับทีใช้ในปัจจุบันคือ ข้อบังคับกรมการค้าต่างประเทศว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยของกรมการค้าต่างประเทศ พ.ศ.2552

ปี 2559 กระทรวงพาณิชย์แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานข้าว ในครั้งนี้ก็ได้แก้ไขปรับปรุงมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ.2559 มีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 20 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป ได้ยกเลิกชั้นของข้าวหอมมะลิไทย โดยกำหนดให้มีข้าวหอมมะลิไทยผสมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 92 โดยปริมาณ ถ้าต่ำกว่าร้อยละ 92 ไม่ถือว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย

การจะส่งเสริมรักษาชื่อเสียงคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทย ต้องมิใช่หวังเพียงชนะเลิศจากการประกวด แต่ทุกภาคส่วนทั้งการปลูก การสี การค้า การส่งออกต้องช่วยกันรักษาคุณภาพและชื่อเสียงของข้าวหอมมะลิไทยให้ยั่งยืนต่อไปอย่างเคร่งครัด