การสร้างวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม

การสร้างวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม

จากบทความตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอข้อเสนอแนะในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมเพื่อเป็นพลังขับ

เคลื่อนไปสู่ประเทศไทย 4.0 ภายใต้ประเด็นหลักที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการโดยทุนวัฒนธรรมไปแล้ว ในบทความตอนนี้จะเป็นการให้ข้อเสนอแนะในมิติการสร้างนวัตกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม

ผมมีความเห็นว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัฒนธรรมในเชิงปรัชญาความคิด เพราะวิธีที่เราคิด (Thinking) กำหนด สิ่งที่เรารู้ (Knowing) สิ่งที่เรารู้กำหนด ความเป็นตัวเรา (Being) ความเป็นตัวเรากำหนด วิถีชีวิต (Living) และวิถีชีวิต กำหนด สิ่งที่เราแสดงออก (Manifesting)

หากเราสามารถพัฒนาให้คนไทยมีสิ่งที่ผมเรียกว่า “อารยไพบูลย์” กล่าวคือ มีอารยความคิด – คิดดีแท้ คิดงามแท้ คิดจริงแท้ อารยความรู้ – รู้ดี รู้งาม รู้จริง อารยอัตตา – อัตตาที่ดี อัตตาที่งาม อัตตาที่จริง อารยวิถีชีวิต – วิถีชีวิตที่ดี วิถีชีวิตที่งาม วิถีชีวิตที่จริง และ อารยสำแดง – พฤติกรรมที่ดี พฤติกรรมที่งาม พฤติกรรมที่จริง จะทำให้เกิดประชาชนที่มีคุณภาพ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

การสร้างวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม ทำได้โดย

แก้ไขวัฒนธรรมการลอกเลียนแบบ

วัฒนธรรมการลอกเลียนแบบเป็นวัฒนธรรมประการแรก ๆ ที่ควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากการผลิตเลียนแบบกันจะทำให้สินค้าล้นตลาดในที่สุด ผู้ประกอบการจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง มีอัตรากำไรต่ำ หรือในที่สุดขาดทุนเพราะขายไม่ได้ ในอีกแง่มุมหนึ่ง การผลิตเลียนแบบกันสะท้อนว่า สินค้านั้นๆ สามารถผลิตได้ง่าย อาจนำไปสู่ภาวะขาดความสามารถในการแข่งขัน เพราะท้องถิ่นอื่นหรือประเทศอื่นก็สามารถผลิตได้และอาจผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่า

ยุทธศาสตร์ในการแก้ไขวัฒนธรรมการลอกเลียนแบบ อาทิ

1) พัฒนาความรู้ความเข้าใจสภาพการแข่งขันของธุรกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ผ่านระบบการให้ข้อมูลข่าวสารทางการตลาด และการคาดการณ์ความต้องการสินค้าและบริการ ที่เหมาะสมกับการเข้าถึงของกลุ่มคนต่างๆ และเป็นการให้ข้อมูลที่มีความต่อเนื่อง

2) พัฒนาความสามารถในการคิด 10 มิติ ให้แก่ผู้ประกอบการ เพราะวิถีชีวิตที่แสดงออกมาเป็นวัฒนธรรม เป็นผลมาจากฐานความคิด ฉะนั้น การเพิ่มความสามารถในการคิด และความรู้แก่ผู้ประกอบการ จะส่งผลต่อการเปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำธุรกิจ ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และนำไปสู่ความยั่งยืน

3) ส่งเสริมการสร้างวัฒนธรรมที่สนับสนุนนวัตกรรม เช่น วัฒนธรรมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรมการเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ วัฒนธรรมการวิพากษ์เชิงสร้างสรรค์ วัฒนธรรมการแข่งขันบนฐานมุ่งสร้างความก้าวหน้า และวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมของคนในองค์กร

4) สนับสนุนการให้คุณค่าและมูลค่ากับสินค้าและบริการนวัตกรรม เช่น การมอบรางวัลแก่ผู้ที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่มีคุณค่า การให้ทุนกระจายไปถึงธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการมุ่งสร้างจุดขายและสร้างเอกลักษณ์ของท้องถิ่น

แม้ท้องถิ่นส่วนใหญ่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่คล้ายกัน แต่ละท้องถิ่นสามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยอาจเป็นความแตกต่างที่ตั้งอยู่บนฐานการผลิตเดิม เช่น ญี่ปุ่นมีบ่อน้ำพุร้อน ราเมง ซูชิ เหมือนกันทุกที่ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นพยามสร้างความแตกต่าง แสวงหาสิ่งใหม่และนวัตกรรมที่ไม่มีใครเหมือน และพัฒนาจนกลายเป็นต้นตำรับที่ดีสุดในโลก เช่น อาหารท้องถิ่นของ จ. ชิบะ อย่าง ‘ไวท์กาอุราเมน’ ราเมนน้ำซุปขาวบริสุทธิ์จากน้ำนม เนื่องด้วย จ. ชิบะ เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์จากนม จึงได้ประยุกต์การน้ำซุปจากนม โดยใช้ขิงดับความคาวของนม ไวท์กาอุราเมน รับรางวัล “โซเดะ 1 กรังปรี” หรือรางวัลชนะเลิศจากการประกวดอาหารท้องถิ่นของเมืองโซเดงะอุระ ใน จ. ชิบะ ที่ขึ้นเรื่องน้ำนมมากที่สุด ในปี 2011 และอีกตัวอย่างคือ เมืองพอท ในโปรตุเกส ได้ชื่อว่าผลิตเหล้าองุ่น เหล้าพอทได้เก่งที่สุดในโลก

จัดโครงสร้างและบริบทที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม

กลุ่มวัฒนธรรมต่างๆ ควรมีพื้นที่ที่จะปฏิสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีช่องทางในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายระหว่างกลุ่มวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และเพื่อพัฒนาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย

ดังตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ที่พยายามสร้างบริบทให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น ระบบการเมืองการปกครองที่ใช้หลักพหุนิยมทางวัฒนธรรม (Multiculturalism) ระบบรัฐสภาที่มีสมาชิกหลายประเภท มีตัวแทนของชนกลุ่มใหญ่ ชนกลุ่มน้อย และคนจากสาขาอาชีพต่างๆ รวมถึงการสร้างที่พักที่กำหนดให้คนเชื้อชาติต่างๆ อาศัยอยู่ร่วมกัน

ทั้งนี้ การส่งเสริมวัฒนธรรมไม่ควรเป็นการส่งเสริมแต่ละวัฒนธรรมโดดๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่ต้องพยายามดึงจุดดีของแต่ละวัฒนธรรมมาประสานพลังกัน ซึ่งจะเอื้ออำนวยให้เกิดการเรียนรู้ ผสมเกสรทางความคิด และเสริมสร้างกัน อันจะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

บูรณาการวัฒนธรรมผู้ประกอบการเข้าในระบบการศึกษา

การสร้างวัฒนธรรม ค่านิยม ทัศนคติที่เอื้อต่อการประกอบการและการสร้างนวัตกรรมควรเริ่มตั้งแต่เด็ก โดยบูรณาการวัฒนธรรมดังกล่าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน กระบวนการพัฒนาการเรียนรู้ และการบริหารการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการที่สามารถบุกเบิกเริ่มต้นกิจการใหม่ด้วยตนเอง

ประเทศสิงคโปร์เป็นแบบอย่างที่ดีในการพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบให้กับผู้เรียน โดยการศึกษาของสิงคโปร์จะสอนให้คนเป็นนักธุรกิจ มีความฉลาด รู้จักคิด รู้จักวางแผน อดทนสู้งาน เข้าใจความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม สามารถออกไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศในระดับผู้บริหารองค์กรได้ ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะการเป็นผู้ประกอบการให้แก่พลเมืองของสิงคโปร์ มีส่วนสำคัญที่สนับสนุนให้สิงคโปร์ก้าวสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง เป็นผู้นำเศรษฐกิจในภูมิภาค และเป็นศูนย์กลางในหลายๆ ด้าน

วัฒนธรรมนับเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญและส่งผลต่อการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม หากสามารถค้นพบ คัดสรร เลือก และหยิบใช้วัฒนธรรมที่งดงามและโดดเด่นในสังคมไทย มาประยุกต์ต่อยอดในทางธุรกิจการบริหารจัดการองค์กรและประเทศได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมสมัยเดิมและสมัยใหม่ ผมเชื่อว่าเราจะเห็นความสำเร็จในการพัฒนาไปสู่ประเทศไทย 4.0 ได้อย่างแน่นอนครับ