การจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (2)

การจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (2)

ในสัปดาห์นี้ เราจะมาคุยกันต่อถึงการจัดการการเงินในส่วนของการจัดการลงทุนค่ะ


เมื่อมีเงินเก็บออม ก็ควรต้องนำไปลงทุนให้เกิดดอกออกผล ซึ่งดอกผลนี้จะทำให้เงินออมพอกพูน บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น เป้าหมายในการลงทุนมีหลายอย่าง และเป้าหมายที่เป็นสุดยอดของการลงทุนคือ สามารถก่อให้เกิดดอกออกผลเพียงพอต่อการใช้จ่าย โดยเงินลงทุนเบื้องต้นยังคงอยู่ อย่างนี้นำไปสู่ความยั่งยืนแน่นอนค่ะ

แต่การบรรลุเป้าหมายนั้น ไม่ง่าย โดยทั่วไป เราจึงต้องตั้งเป้าหมายการลงทุนโดยแบ่งตามวัตถุประสงค์ตามระยะเวลา คือ เป้าหมายระยะสั้น เป้าหมายระยะปานกลาง และเป้าหมายระยะยาว โดยการบรรลุเป้าหมายแต่ละเป้าหมาย ก็จะหมายความว่าเราจะนำเงินลงทุนรวมทั้งดอกผลไปใช้ในการทำกิจกรรมตามเป้าหมายของเรา

จริงๆแล้วการบรรลุเป้าหมายในการทำกิจกรรมในชีวิต ไม่จำเป็นต้องใช้เงินไปทุกๆกิจกรรมค่ะ แต่เราอยู่ในสังคมที่ใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน จึงเป็นการสะดวกที่จะวางแผนโดยมีเป้าหมายเรื่องเงินเป็นหลัก แต่หากสามารถทำได้โดยไม่ใช้เงิน ก็สามารถทำได้เลย เช่น จะจัดเลี้ยงฉลองแต่งงาน หากญาติผู้ใหญ่ให้ยืมสถานที่ และญาติๆกับเพื่อนๆช่วยกันนำอาหารมาเลี้ยงแขกที่มาในงาน ช่วยกันจัดตกแต่งสถานที่คนละไม้ละมือ ก็สามารถจัดงานได้โดยไม่ต้องใช้เงินมาก จึงขอความเข้าใจจากท่านผู้อ่านด้วยว่า การเขียนถึงจำนวนเงินที่จะบรรลุเป้าหมายต่างๆนั้น เป็นการเขียนโดยยึดหลักการว่า หากไม่มีองค์ประกอบ หรือตัวช่วยอื่นๆและต้องใช้เงินในการซื้อหาทุกสิ่งทุกอย่างนั้น จำเป็นจะต้องมีเงินจำนวนเท่าใด

การจัดการลงทุน

ปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงที่นำมาใช้ในการบริหารเงินออมนั้น ประกอบด้วย “ทางสายกลาง” คือ การกระจายการลงทุน เราจะไม่นำเงินลงทุนไปไว้ในที่ใดที่หนึ่งทั้งหมด เราต้องกระจายลงทุน เพื่อลดความเสี่ยง หรือความผันผวนไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น มีการวิจัยพบว่า 91.5%ของผลตอบแทนจากการลงทุน เกิดขึ้นจากการกระจายหรือจัดสรรสินทรัพย์ไปลงทุน ส่วนอีก 8.5% เกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่น เลือกหลักทรัพย์ได้ถูกต้อง(4.6%) เข้าออกได้ถูกจังหวะ(1.8%) และอื่นๆ(2.1%)

นอกจากนี้ การกระจายการลงทุนโดยการจัดสรรการลงทุนไปยังสินทรัพย์ต่างๆหลายประเภท ยังทำให้การลงทุนมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เพราะผลตอบแทนการลงทุนจะไม่ผันผวนมากจากการความผันผวนของสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง หรือพูดง่ายๆคือ ไม่พึ่งพาอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งมากเกินไปนั่นเอง

ในการลงทุนต้องมีความ “พอประมาณ” หมายถึงไม่โลภ ไม่กู้มาลงทุน ลงทุนเท่าที่มีเงินออมอยู่ (ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการลงทุนทางธุรกิจนะคะ การลงทุนทำธุรกิจอาจจะต้องมีการกู้ยืม เพื่อให้มีเงินลงทุนซื้อทรัพย์สิน หรือเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพียงพอต่อการทำธุรกิจ หากใช้แต่เงินของตัวเองอาจทำธุรกิจไม่ได้) ส่วนใหญ่ผู้ลงทุนบุคคลจะกู้เงินมาลงทุนเพราะมีความโลภ เห็นว่าได้กำไรดี หากมีทุนลงเพิ่มขึ้นก็จะได้กำไรมากขึ้น แต่การกู้ยืมมาลงทุนนั้น หากเกิดผิดพลาดขึ้น เงินลงทุนอาจหดหาย แต่หนี้สินยังคงอยู่ เป็นภาระให้ต้องชดใช้ จึงเป็นการ “ไม่พอประมาณ”

นอกจากนี้ การลงทุนต้อง “มีเหตุผล” โดยมีเงื่อนไขความรู้ คือ รอบรู้ รอบคอบ ระมัดระวัง รู้ว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด รู้ว่าหลักทรัพย์และตราสารที่ลงทุนนั้นคืออะไร ให้ผลตอบแทนในลักษณะไหน และมีความเสี่ยงอย่างไร เช่น ลงทุนซื้อทองคำแท่ง ก็ต้องทราบว่าทองคำแท่งไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือเงินปันผลเป็นงวดๆ หากจะได้เงินจากการลงทุนก็ต้องขาย ซึ่งราคาที่ขายอาจจะขาดทุน หรือมีกำไร ก็ต้องแล้วแต่ราคาที่ลงทุน หากต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นระยะๆ ควรจะเลือกลงทุนในตราสารหรือหลักทรัพย์ที่จ่ายดอกเบี้ย หรือเงินปันผลเป็นระยะๆ อาทิ เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงๆ หุ้นของบริษัทที่อยู่ตัวแล้ว อสังหาริมทรัพย์ให้เช่า หรือกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์เหล่านี้ เป็นต้น

แต่หากรับได้ว่าบางงวดอาจมีเงินปันผล บางงวดอาจไม่มีเงินปันผล หากไม่มีกำไร ก็อาจเลือกลงทุนใน หุ้นของบริษัทที่กำลังเติบโตสูง บางปีอาจจะไม่จ่ายเงินปันผลหรือจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นเพื่อนำไปขยายกิจการ รวมถึงกองทุนรวมที่ลงทุนในทองคำที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลด้วย เป็นต้น

หากไม่ต้องการผลตอบแทนเป็นงวดๆ แต่ต้องการให้เงินเติบโตและรอรับผลตอบแทนในตอนขายหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์นั้นไป ก็สามารถลงทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเติบโตของมูลค่า และในกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารและหลักทรัพย์ที่กล่าวไปทั้งหมดด้านบน และมีนโยบายไม่จ่ายเงินปันผลได้ เป็นต้น

โลกของการลงทุนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีสินทรัพย์และหลักทรัพย์ใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย ภูมิคุ้มกันที่ควรต้องยึดถือคือ ต้องลงทุนในสิ่งที่ท่านเข้าใจเท่านั้น หากท่านไม่เข้าใจ ขอให้ใช้บริการจากมืออาชีพ คือผู้จัดการกองทุนค่ะ

ที่สำคัญคือ ต้องไม่มัวเมาในอบายมุข เช่น การพนัน เพราะไม่ว่าท่านจะมีเงินลงทุนมากมายเพียงใด ก็สามารถหดหายหมดไปได้ หากท่านเป็นนักพนัน

หลายครั้งที่มีผู้เปรียบเทียบการลงทุนเหมือนการพนัน ดิฉันอยากจะชี้ให้เห็นข้อแตกต่างที่สำคัญมากข้อเดียวคือ การลงทุนตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผล หากท่านหาเหตุผลไม่ได้ว่า สิ่งที่ท่านสนใจลงทุนนั้นน่าสนใจเพราะแนวโน้มทางเศรษฐกิจหรือแนวโน้มธุรกิจ ให้สันนิษฐานก่อนว่า เป็นการพนัน

ยกตัวอย่าง ในช่วงก่อนลงประชามติว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากอียูหรือไม่ มีตราสารประเภทออพชั่นขายอยู่ในต่างประเทศ โดยคนขายจะให้โอกาสคนซื้อออพชั่น สามารถนำเงินปอนด์มาขายให้ในอัตราเท่ากับวันทำสัญญา(ก่อนลงประชามติ) เป็นเวลาหนึ่งปีจากวันทำสัญญา โดยให้ค่าออพชั่น 0.5%ของสัญญา หากท่านมองว่าสหราชอาณาจักรจะไม่ออกจากอียู (เหมือนที่ทุกคนมองกันในตอนนั้น)ค่าเงินปอนด์ก็ควรจะแข็งขึ้น เท่ากับได้เงินค่าออพชั่นมาฟรีๆ 0.5% และท่านขายสัญญานี้ให้คนซื้อ พอผลของประชามติออกมา เงินปอนด์อ่อนค่าลง 13.5% คู่สัญญาก็สามารถเอาเงินปอนด์มาขายให้ในอัตราที่กำหนดไว้เดิม ท่านซึ่งเป็นคนขายออพชั่นจึงต้องขาดทุนถึง 13%ของมูลค่าสัญญา อย่างนี้เป็นการพนัน ไม่ถือเป็นการลงทุนค่ะ เพราะจะได้กำไรหรือขาดทุน ขึ้นอยู่กับการลงประชามติของคน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจหรือธุรกิจเลย

แต่หากท่านมองเห็นว่าปีนี้อากาศในโลกมีความหนาวเย็นมากกว่าปกติ บริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้ากันหนาวที่มีเทคโนโลยีที่ดี น่าจะมียอดขายเพิ่ม มีกำไรเพิ่ม และท่านลงทุนในหุ้นของบริษัทนั้น อย่างนี้ถือเป็นการลงทุนที่มีเหตุผลพื้นฐานธุรกิจรองรับค่ะ

ข้อสรุปของการบริหารเงินออมที่ดี คือ ต้องมีการกระจายการลงทุน ไม่โลภ ต้องมีความรู้ และต้องมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี