ส่องผู้ชนะ สังเวียนดิจิทัลทีวี

ส่องผู้ชนะ สังเวียนดิจิทัลทีวี

ฐานะการเงิน 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) “ติดลบ” แน่นอนว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ เหล่าผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี

 เบอร์ใหญ่เมืองไทย ต่างตกอยู่ในอาการการเงินฝืดเคือง เป็นเพราะนอกจากต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใบอนุญาตแล้ว ยังมีค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักในการผลิต

ขณะเดียวกันยังมีข้อจำกัดด้านการเงิน หลังหลายบริษัทต้องกู้เงินระยะยาว เพื่อนำมาชำระหนี้ 3 งวด ในส่วนของค่าใบอนุญาต ส่งผลให้ “สถานะเงินสดสุทธิ” ของกลุ่มมีเดียตั้งแต่ปี 2557 เปลี่ยนเป็น “สถานะหนี้สุทธิ” และคาดว่าเงินกู้ดังกล่าวยังคงเป็นแรงกดดันอุตสาหกรรมต่อไป โดยอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) มีโอกาสขึ้นไปแตะ “จุดสูงสุด” ในปี 2561 ที่ตัวเลขประมาณ 0.40 เท่า

ไม่เพียงเท่านั้น เหล่าผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี ยังคงต้องปวดหัวกับเม็ดเงินโฆษณาที่ไหลเข้าสื่อดิจิทัลทีวี และสื่อทีวีอนาล็อกในลักษณะเบี้ยหัวแตก เฉลี่ยปีละ 1.8.-2 หมื่นล้านบาท และ 4.6-5.7 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ แถมยังต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่ “ดุเดือด” มากขึ้นทุกวัน

ทว่า หากให้ประเมินทิศทางผลประกอบการในช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 ของกลุ่มมีเดีย ดูจะไม่ฟื้นตัวจากไตรมาส 3 ที่แต่ละเจ้าต่างเผชิญผลขาดทุนหนัก 

ไล่มาตั้งแต่ช่อง AMARIN มีผลขาดทุน 126 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 142 ล้านบาท

BEC กำไรสุทธิลดลงเหลือ 251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 791 ล้านบาท GRAMMY ขาดทุน 10 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุน 139 ล้านบาท

ขณะที่ RS พลิกจากกำไร 17 ล้านบาท เป็นขาดทุน 60 ล้านบาท MCOT พลิกจากกำไร 58 ล้านบาท เป็นขาดทุน 247 ล้านบาท ส่วน WORK ถือเป็นผู้เล่นที่มีกำไรสุทธิขยับขึ้นจาก 46 ล้านบาท เป็น 108 ล้านบาท

นอกเหนือจากความกังวลเรื่องฐานะการเงิน วันนี้เหล่าแฟนพันธุ์แท้ “หุ้นกลุ่มมีเดีย” ยังพากันตั้งคำถามต่อว่า “ใครคือผู้รอดในยุทธจักรดิจิทัลทีวี"  

หากพิจารณาจากความเห็นของเหล่านักวิเคราะห์ ส่วนใหญ่ยกตำแหน่งนี้ให้ BEC ,WORK ,MONO และ RS

เมื่อลองไล่จุดเด่นของผู้เล่นทั้ง 4 ราย จะพบว่า BEC มีความแข็งแกร่งในแง่ของรายการละคร และรายการข่าว สะท้อนผ่านความสามารถในการรักษาระดับรายได้จากรายการละครได้อย่างดี แต่ที่ผ่านมารายได้จากรายการข่าวกับปรับลดลงเฉลี่ย 20-40% แต่เรื่องน่ากังวลจากนี้ คือ พฤติกรรมผู้ชมข่าวที่เปลี่ยนไปชมจากสื่อสังคมออนไลน์ อาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งผู้ชม

ส่วน WORK มีจุดแข็งหลักในแง่ของรายการวาไรตี้ เพราะรายการส่วนใหญ่บริษัทเป็นผู้ผลิตเอง มีเพียง 5-10% ที่เป็นการซื้อรายการจากสตูดิโออื่น ด้วยความที่รายการมีความหลากหลายมากกว่าช่องอื่น ทำให้ปีหน้าบริษัทอาจปรับค่าโฆษณาขึ้นอีก

ขณะที่ MONO ถือเป็นช่องที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จากการให้บริการภาพยนตร์ต่อเนื่อง สำหรับหุ้น RS ด้วยความที่บริษัทมีแหล่งกำไรมาจากหลากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลทีวี, ทีวีดาวเทียม, เพลง และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม ทำให้ยังพอมีตัวช่วยพยุงฐานะได้บ้าง

ท่ามกลางฝุ่นตลบของวงการสื่อทีวีดิจิทัล จึงไม่แปลกที่จะเห็นกลุ่มทุนหนาอาศัยจังหวะนี้ โดดเข้าซื้อสินทรัพย์ราคาไม่แพง สะท้อนผ่าน “กลุ่มเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ที่ได้กำไรทางบัญชีจากราคาหุ้น AMARIN แล้ว 3 บาทกว่า และ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” ที่ได้คอนเทนต์ละครและเหล่านักแสดงช่องวันมาครอบครอง ด้วยเงินไม่ถึงสองพันล้าน (1,905 ล้านบาท) ปิดจุดอ่อนละครไม่คุ้มทุน

ทว่า หนึ่งเรื่องที่ต้องจับตาดูต่อ คือ เม็ดเงินโฆษณาดิจิทัลทีวีและทีวีอนาล็อก ในช่วงสิ้นปี 2559 ที่อาจปรับตัวลดลงเฉลี่ย 19.8% และ 9.5% ตามลำดับ และอาจขยับลงต่อเนื่องในปีหน้า เหล่าผู้เล่นจะแก้เกมนี้อย่างไร หากไม่เปิดรับพันธมิตรใหม่ 

หรือจะใช้วิธีการเดียวกับ WORK ที่ดึงเหล่าเอเจนซี่เข้าถือหุ้นก็คงไม่ผิดนัก !