จาก “ปลานิล” สู่ “ปลาทับทิม” อีกปลาเศรษฐกิจของคนไทย

จาก “ปลานิล” สู่ “ปลาทับทิม” อีกปลาเศรษฐกิจของคนไทย

“ปลานิล” เป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงถึงพระอัจฉริยภาพในองค์พระบาทสมเด็จ

พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะเมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศมกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่นได้ถวายปลานิล จำนวน 50 ตัว เมื่อวันที่ 25 มี.ค.2508 และโปรดเกล้าฯ ให้ทดลองเลี้ยงปลานิลในบ่อภายในสวนจิตรลดา เป็นที่มาของชื่อ ปลานิลจิตรลดา

ต่อมาทรงพระราชทานพันธุ์ปลาดังกล่าวให้กับกรมประมง จำนวน 10,000 ตัว เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2509 เพื่อนำไปขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่พสกนิกร และปล่อยลงไว้ตามแหล่งน้ำต่าง ๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เนื่องจากปลานิลมีคุณลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น เลี้ยงง่าย โตเร็ว กินอาหารได้ทุกชนิด เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลงและสัตว์น้ำเล็กๆ 

รวมทั้งมีขนาดลำตัวใหญ่ ขยายพันธุ์ง่าย และมีรสชาติดี กลายเป็นปลาเศรษฐกิจที่สร้างงานให้คนไทยนับล้าน และเป็นโปรตีนราคาถูกให้พสกนิกรทั่วประเทศของพระองค์ได้บริโภค

นอกจากปลานิลสายพันธุ์ทั่วไปแล้ว ยังมีปลาที่มีลักษณะคล้ายปลานิลแต่มีสีแดง ซึ่งปัจจุบัน เกษตรกรโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคเหนือ ได้ทำการเพาะเลี้ยงปลานิลควบคู่ไปกับปลานิลสีแดง โดยมีการพบครั้งแรกในราวปี2511 ที่จ.อุบลราชธานี โดยนักวิชาการประมงของสถานีประมงจังหวัดอุบลราชธานีและเกษตรกรในจังหวัดนั้น ได้ปลานิลแดงปะปนอยู่ในบ่อเลี้ยงปลานิล 

นักวิชาการประมงประจำสถานีฯ จึงได้ทำการคัดเลือกปลานิลที่มีสีแดงทั้งตัวแยกเพาะเลี้ยงไว้ต่างหากจากปลานิลพันธุ์ปกติ โดยในขณะนั้นยังไม่มีการศึกษาด้านพันธุกรรมของปลานิลชนิดนี้

ต่อมาในปี2525 กลุ่มวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ ได้นำลูกปลานิลสีแดงขนาด 2–3 เซนติเมตร จำนวน 1,000 ตัว จากสถานีประมงจังหวัดอุบลราชธานีมาเลี้ยงไว้เพื่อทำการคัดพันธุ์และศึกษาวิจัยด้านพันธุกรรม ภายใต้โครงการ “พันธุกรรมปลา” ในปี 2527 กรมประมงได้ส่งตัวอย่างปลานิลแดงนี้ไปตรวจสอบพันธุ์ ณ มหาวิทยาลัยสเตอร์ริง สหราชอาณาจักรและมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ 

จากการศึกษาสายพันธุ์โดยการวิเคราะห์ในระดับโปรตีนที่ถูกควบคุมด้วยยีนบางชนิดพบว่า ปลานิลแดงเป็นปลาลูกผสมระหว่างปลานิลกับปลาหมอเทศ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามมกุฏราชกุมารี ได้ทรงพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิลสีแดง” แต่มักจะเรียกกันว่า “ปลานิลแดง”

ส่วน “ปลาทับทิม” เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ปลานิลโดยภาคเอกชนคือเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยซีพีเอฟทำการพัฒนาสายพันธุ์ปลาตามแนวพระราชดำริด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่ใช่การตัดแต่งพันธุกรรม ด้วยการนำปลานิลแดงมาพัฒนาต่อ โดยผสมข้ามสายพันธุ์กับปลานิลแดงที่มีลักษณะเด่นมากในด้านต่างๆจากหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอลและไต้หวัน 

โดยทำการปรับปรุงสายพันธุ์ทางด้านคุณภาพ ความต้านทานโรค ลักษณะเนื้อและรสชาติให้ดีขึ้นด้วยวิธีตามธรรมชาติ กระทั่งได้ปลาเนื้อพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะภายนอกโดดเด่นคือสีของเกล็ดและตัวปลาที่มีสีแดงอมชมพู และสามารถเลี้ยงให้เติบโตได้ดีในน้ำที่มีความเค็ม

เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2541 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานนามปลาชนิดใหม่นี้ว่า ปลาทับทิม

กล่าวได้ว่าปลาทับทิมถือกำเนิดขึ้นจากปลานิลจิตรลดาและเกิดขึ้นจากพระมหากรุณาธิคุณแห่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยแท้

ปัจจุบัน “ปลาทับทิม” มีการเพาะพันธุ์จำหน่ายโดยเกษตรกรและบริษัทต่างๆมากมาย มิใช่เพียงเครือเจริญโภคภัณฑ์ และปลาทับทิมก็ได้รับความนิยมทั้งจากเกษตรกร ผู้ประกอบการร้านอาหาร และผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย กลายเป็นปลาเนื้อเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณภาพสูง เป็นปลาของคนไทยที่สามารถสร้างงานสร้างอาชีพ และรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน

-------------

ปกรณ์ ธาราธาร