อันตรายของ Post-Truth :

อันตรายของ Post-Truth :

เมื่อความเชื่อส่วนตนสำคัญกว่าข้อเท็จจริง

พอพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ดประกาศผลการคัดเลือก “คำแห่งปี” ประจำปี 2016 ได้แก่คำว่า “Post-Truth” บทนำของนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ของอังกฤษก็เอารูปนี้ขึ้นมาประกอบให้เห็นภาพ

เพราะคำนี้มีความหมายว่า “ความจริงสำคัญน้อยกว่าความเชื่อส่วนตัว” ซึ่งกลายเป็นปรากฏการณ์สังคมทุกวันนี้ จนน่าเป็นห่วงว่าจะยิ่งขยายความขัดแย้ง ระหว่างกลุ่มบุคคลที่แบ่งขั้วแยกข้างกัน โดยไม่ฟังข้อเท็จจริงจากอีกฝั่งหนึ่ง

บางคนแปลคำนี้ว่า “ความจริงมาทีหลัง”

คำนิยามสำหรับ Post-Truth ในพจนานุกรมอังกฤษอันโด่งดังนี้บอกว่า

An adjective relating to or denoting circumstances in which objective facts are less influential in shaping public opinion than appeals to emotion and personal belief…”

แปลได้ความว่า Post-Truth สะท้อนถึงสิ่งที่กำลังเกิดในสังคม ที่ข้อเท็จจริงมีอิทธิพลในการกำหนดความเห็น ของสาธารณชนน้อยกว่าอารมณ์และความเชื่อส่วนตัว

ที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “คำแห่งปี” ล่าสุดเพราะในปี 2016 การใช้คำนี้ในการแสดงออกของผู้คนกระโดดพรวดพราดไปถึง 2,000%

เหตุที่คำนี้กลายเป็นที่นิยมอย่างยิ่ง ก็มาจากผลการลงประชามติ Brexit ให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

ตามมาด้วยการเลือกตั้งในสหรัฐฯอเมริกาที่โดนัล ทรัมป์ประสบความสำเร็จ ผิดความคาดหมายของสื่อกระแสหลักและสำนักโพลทั้งหลาย

ทั้ง Brexit และทรัมป์กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการวิเคราะห์ว่า คนในยุคสมัยที่พึ่งพิงโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter หรือ Instagram กันอย่างแพร่หลายนั้นตัดสินใจจะเชื่อหรือไม่เชื่อ เรื่องอะไรจากความเห็นของเพื่อนของตัวเอง ในแวดวงออนไลน์มากกว่าที่จะค้นหาข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้

กลายเป็นว่าคนจะเลือกเชื่อตามที่ตัวเองอยากจะเชื่อ หรือที่พรรคพวกที่มีความเห็นพ้องกับตนเองต้องการจะเชื่อเท่านั้น

เรื่องของข้อเท็จจริงไม่สำคัญเท่ากับเรื่องที่ตัวเอง “อยากเชื่อ” เพราะนั่นคือการยืนยันว่าตัวเองถูก คนที่ไม่เห็นด้วยกับตัวเองเป็นฝ่ายผิด

และเป็นสาเหตุของความขัดแย้งและแตกแยกในสังคม ที่ระบาดบานปลายไปอย่างกว้างขวางอย่างไม่น่าเชื่อ

คนไทยเองคงจะเข้าใจความหมายของ Post-Truth ไม่น้อย แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะไม่มีคำนิยาม ที่อธิบายปรากฏการณ์ชัดเจนเช่นนี้แต่เราก็ตระหนักถึงปัญหา “ความจริงมาทีหลัง” หรือ “ความจริงเป็นอย่างไรฉันไม่สน ฉันจะเชื่ออย่างนี้ของฉัน” ซึ่งยิ่งทำให้คำนิยามอื่น ๆ ที่มีความสำคัญต่อการสร้างชาติสร้างบ้านเมืองมีปัญหาตามมาด้วย ไม่ว่าจะเป็นคำว่า “ประชาธิปไตย” หรือ “รักชาติ” หรือ “ความปรองดอง” และ “สมานฉันท์”

เพราะเมื่อต่างคนและต่างฝ่ายเลือกจะเชื่อในสิ่งที่ตนอยากจะเชื่อโดยไม่สนใจว่า “ข้อเท็จจริง” เป็นอย่างไร โอกาสที่จะระงับปัญหาความแตกแยกในสังคมก็หดหายลงไป ต่างคนต่างต้องการจะเอา “ความจริงของฉัน” เป็นหลักและชี้นิ้วกล่าวหาว่า “ความจริงของคุณ” ใช้ไม่ได้หรือบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น

เหมือนที่เคยแซวกันเล่นในหมู่ผู้คนที่นั่งถกแถลงกันหน้าดำหน้าแดง หาข้อยุติไม่ได้ เพราะฝ่ายหนึ่งตะโกนเสียงดังว่า “Don’t confuse me with facts”

หรือ “อย่าเอาข้อเท็จจริงมาทำให้ฉันสับสน”

เพราะสำหรับคนบางคนในโลกยุค Post-Truth การอยู่กับ “ข้อมูลที่อยากเชื่ออยู่แล้ว” สบายใจกว่าการจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ตนอาจไม่อยากได้ยิน

ยุคสมัยแห่ง Post-Truth จึงเป็นอันตรายและเป็นศัตรูต่อการสร้างความแข็งแกร่งให้กับสังคม ที่ควรจะนิยามคำว่า “ประชาธิปไตย” อย่างตรงไปตรงมาว่าคือการ “เคารพในความเห็นต่าง และยึดหลักของข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบได้”

สังคมจะเดินหน้าต่อไปสู่อนาคตอันสดใสได้ทุกคน ต้องช่วยกันข้ามพ้นปรากฏการณ์ Post-Truth โดยด่วนและเร่งร้อน