การจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (1)

การจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง (1)

ดิฉันเริ่มบรรยายเรื่องการจัดการการเงินภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไปตั้งแต่ปี 2549 เมื่อทางวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเชิญให้ไปบรรยาย

     หลังจากนั้นก็สอดแทรกการบรรยายเกี่ยวกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในการบรรยายเรื่องการจัดการการเงินเกือบทุกครั้ง แต่ยังไม่เคยนำมาเขียน วันที่ 5 ธันวาคม ถือเป็นวันดีที่จะเขียนถึงการจัดการการเงิน ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เศรษฐกิจพอเพียงเน้นในเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งในทางการเงิน จะยั่งยืนได้ ต้องมีสมดุล หมายถึงรายรับกับรายจ่ายต้องสมดุลกัน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สำหรับการจัดการการเงินของครัวเรือนนั้น เป้าหมายคือ มีเงินพอใช้ มีการเก็บออม สะสมทุน และลงทุนเพื่อหาดอกผลให้เงินงอกงาม เพื่อจะได้นำไปใช้เลี้ยงตัวในวันที่เราไม่สามารถทำงานได้

การหารายได้และการใช้จ่าย

      โดยทั่วไปส่วนที่เราควบคุมยากคือรายรับ หรือ รายได้ เพราะฉะนั้น หากจะทำให้สมดุล การควบคุมรายจ่ายจะทำได้ง่ายกว่า เทคนิคการควบคุมรายจ่ายเทคนิคแรก คือจัดแบ่งงบประมาณ การใช้จ่ายโดยไม่กำหนดงบประมาณ ทำให้อาจเกิดการบานปลาย ผู้ต้องการเก็บออม จึงต่องรู้จักจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายให้เหมาะสม แต่การจัดสรรงบประมาณจะทำได้ยาก หากไม่มีข้อมูลการใช้จ่าย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมจึงมีคำแนะนำให้ “จด” หรือ ทำบัญชี รายรับ รายจ่าย ของครัวเรือน เพราะเมื่อทำบัญชีแล้ว ท่านจะเห็นว่ารายจ่ายไหนที่จำเป็น รายจ่ายไหนที่ไม่จำเป็นและสามารถตัดลด หรือตัดออกไปได้

เทคนิคที่สองควรทำตามสุภาษิตไทยคือ "ไม่ควรซื้อก็อย่าไปพิไรซื้อ" การยับยั้งชั่งใจไม่ซื้อเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้มีเงินเหลือเก็บ วิธีง่ายๆคือ ควรใช้หลักการ “ความจำเป็น” ว่าสิ่งที่จะซื้อนั้น จำเป็นหรือไม่ หรือเป็นเพียงความ“อยากได้” หากเป็นสิ่งจำเป็น ก็ควรจะต้องซื้อหามา แต่ก่อนซื้อควรมีการเปรียบเทียบราคาและความคุ้มค่าก่อนด้วย เรื่องนี้สำคัญนะคะ ของแพงไม่จำเป็นว่าจะต้องดีเสมอไป และของถูกก็ไม่จำเป็นว่าจะ“คุ้มค่า” ขอให้เปรียบเทียบทั้งรูปแบบ ราคาและอายุการใช้งานด้วยค่ะ เทคนิคนี้ใช้หลักความมีเหตุผล ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เทคนิคที่สาม การหลีกเลี่ยงการซื้อตามแรงจูงใจ โดยเฉพาะจากการถูกกระตุ้นความสนใจ ณ จุดขาย โดยอาจจะลดความถี่ในการไปเดินดูสินค้า ห้ามซื้อของที่อยู่นอกรายการตามคำเชิญชวน ณ ขณะนั้นๆ หากถูกเชิญชวนให้ซื้อ อาจสอบถามรายละเอียดเอาไว้ก่อน และต้องกลับไปทบทวน ถ้าเห็นว่าควรจะซื้อจริงๆ ค่อยกลับไปซื้อในภายหลัง ทำอย่างนี้ ท่านจะพบว่า โอกาสที่ท่านจะกลับไปซื้อนั้น น้อยกว่าครึ่งหนึ่งค่ะ เทคนิคนี้ใช้หลักพอประมาณ ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

      เมื่อท่านสามารถกำหนดการใช้จ่ายได้ไม่เกินงบประมาณ ท่านก็สามารถจะมีเงินเหลือเก็บออมได้ทีนี้จะมีบางท่านมีประเด็นว่า เงินที่หามาได้นั้น น้อยนิด ไม่พอใช้แม้กระทั่งในสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ขอแนะนำว่า อาจจะต้องหารายได้เสริมค่ะ ใช้เงื่อนไขคุณธรรมของแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทน ยอมทำงานเพิ่มขึ้น หรือหาโอกาสทำของเล็กๆน้อยๆขาย แต่ต้องเป็นงานที่สุจริต และต้องอย่าทำเกินตัวหรือเกินกำลังค่ะ ยิ่งมีเงินน้อย สุขภาพที่ดียิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ฉะนั้นต้องดูแลสุขภาพด้วย

การออม

       จะมีความมั่นคงด้านการเงินได้ ต้องมีเงินออม ต้องมีทุนสะสม ดิฉันเคยเขียนและบรรยายถึงเทคนิคการออมเงินหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังอยากจะเขียนเพื่อรวบรวมไว้ดังนี้

เทคนิคแรกที่ดิฉันเป็นผู้นำเสนอเมื่อสิบกว่าปีที่แล้วคือ ตั้งนิยามเงินออมใหม่ว่า เงินออมคือเงินที่กันเอาไว้ก่อน นั่นคือการ "ออมก่อนใช้" ซึ่งก็คือการจัดสรรเงินออมเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณนั่นเองค่ะ เทคนิคที่สองในการออมเงิน คือ “มีวินัย” ออมให้สม่ำเสมอ ฝึกให้เป็นนิสัย เริ่มออมแต่เนิ่นๆ และอย่าใจอ่อน เลิกออมกลางคัน เทคนิคนี้สำคัญมาก การออมจะประสบความสำเร็จหรือไม่จะขึ้นอยู่กับวินัยในการออมจริงๆค่ะ ท่านที่มีวินัยน้อยก็ต้องใช้เทคนิคช่วย ด้วยการหารูปแบบการออมที่เขาไม่ให้ถอนออกมาก่อนกำหนดเวลา เป็นต้น เทคนิคที่สามคือ การตั้งเป้าหมายให้ท้าทายยิ่งขึ้น เช่น ปีนี้ออมเดือนละ 1,000 บาท ปีหน้าออมเดือนละ 1,100 บาท เป็นต้น 

       เทคนิคนี้ช่วยให้บรรลุเป้าหมายการออมได้เร็วขึ้น ดิฉันใช้เทคนิคนี้จนทะลุเป้าหมายการออมเลยทีเดียว เทคนิคที่สี่คือ การให้รางวัลกับตัวเอง สำหรับผู้ที่สนุกกับการใช้เงิน (อย่างตัวดิฉันเอง) การบังคับตัวเองให้มีวินัยในการออมนั้น เป็นสิ่งที่ต้องใช้ความพยายาม และทำไปนานๆก็อาจจะท้อถอย จึงต้องหาแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลกับตัวเอง เป็นระยะๆ เช่น ออมครบหนึ่งแสนบาท จะตัดแบ่งมาให้รางวัลตัวเอง 5% คือ 5,000 บาท เอาไปซื้ออะไรก็ได้ที่อยากซื้อ หรือทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ เพื่อเป็นรางวัลที่อุตส่าห์เก็บออมมาจนถึงเป้าหมายย่อย และอาจจะยอมให้ซื้อในสิ่งที่ไม่จำเป็นแต่อยากได้ หรือเอาเงินไปใช้ท่องเที่ยวก็ได้

พื้นที่หมดแล้วค่ะ ขอเล่าต่อถึงการทำให้เงินเพิ่มพูนในสัปดาห์หน้านะคะ