เรียนสร้างเกมในมหาวิทยาลัย (เลือกที่ไหนดี ?)

เรียนสร้างเกมในมหาวิทยาลัย (เลือกที่ไหนดี ?)

มัธยมปลายก้าวสู่มหาวิทยาลัย

เรียนต่ออะไรดี ? คือคำถามสำหรับบน้องๆที่กำลังจะจบ ม.6 น่าจะถูกถามมากที่สุดในขณะนี้ หลายคนอาจสนใจเรียนทางด้าน วิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ ครุศาสตร์ และยังมีอีกหลายศาสตร์ให้เลือกอีกมากมาย ซึ่งสาขาที่ยกตัวอย่างมานั้นมีประวัติการเรียนการสอนมาอย่างยาวนานในประเทศไทย มีรุ่นพี่ที่จบออกไปแล้วสร้างชื่อเสียงให้แก่สาขาก็มากมายมิใช่น้อย 

จึงเป็นสิ่งที่ไม่ยากเย็นนักที่จะหาคำแนะแนวจากผู้รู้ เพื่อมาแนะนำแนวทางการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่หากเป็นสาขาเกมซึ่งนับอายุการเรียนการสอนในบ้านเราก็ถือว่ายังเป็น รถใหม่ป้ายแดงแต่ความนิยมได้พุ่งแรงแซงทางโค้งสาขารุ่นพี่ไปแล้ว อันสืบเนื่องมาจากในยุคตลาด Smart Device ครองเมือง เกมบนมือถือเป็นที่นิยมเฉกเช่นปัจจุบัน ทำให้ในแต่ละมหาวิทยาลัยต่างก็เร่งที่จะอาศัยโอกาสนี้ เกาะกระแสผลิตหลักสูตรสร้างเกมขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ให้เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยของตนเอง 

ผู้เขียนจึงอยากจะขอเสริมความชัดเจนและแนะแนวทางในการตัดสินใจของผู้ที่มีใจรักอยากจะเลือกเรียนต่อในสาขาเกมเมื่อเข้าไปแล้วจะต้องพบเจอกับอะไรและจะใช่กับสิ่งที่น้องๆมโนภาพไว้ในความคิดหรือไม่ ลองมาติดตามกัน

สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจในอันดับแรกคือ การเป็นผู้เสพกับผู้สร้างนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง ผู้เสพทำหน้าที่เล่นเกมที่สร้างสรรค์โดยผู้สร้างเกม การสร้างเกมไม่ได้มีความเพลิดเพลินเหมือนการนั่งเล่นวินนิ่ง* อยู่กับเพื่อนที่หน้าจอทีวี ต้องทำงานภายใต้ความกดดันทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ ศิลปะ โปรดักชันและการตลาด ประเด็นนี้คือสิ่งแรกที่อยากให้ผู้ที่จะเลือกเรียนเกมจากเคยเป็นแต่ผู้เสพต้องเตรียมหัวใจให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงมาเป็นผู้สร้าง เมื่อตัวเองให้คำตอบว่าพร้อมแล้วประเด็นถัดไปจะลงรายละเอียดของหลักสูตรเกมที่เปิดสอนตามมหาลัยต่างๆในเมืองไทย

หลักสูตรเกมในบ้านเรามีมากมายหลายหลาก จากการศึกษาพบว่าหลักสูตรเกมในปัจจุบันจะเป็นหลักสูตรเกมประเภทลูกผสมเสียส่วนใหญ่ เป็นการเรียนการสอนที่มีส่วนประกอบของวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าไว้ควบคู่กัน จะต่างจากมัธยมปลายที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน หลักสูตรประเภทนี้มักจะมีคำหลักคือ เกม นำไปผสมกับคำอื่นๆเช่น คอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย ดิจิทัล อาร์ท ออกแบบและอินเตอร์แอคทีฟมาอยู่ในชื่อหลักสูตร เมื่อจบออกมาแล้วจะได้รับปริญญาเป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิต เทคโนโลยีบัณฑิตหรือศิลปศาสตร์บัณฑิตขึ้นอยู่ที่ทางผู้ร่างหลักสูตรจะเน้นรายวิชาการเรียนการสอนไปทางใด 

โดยจากประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องหลักเกณฑ์การกำหนดชื่อปริญญา พ.ศ.2549 หากเป็นวิทยาศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาที่ใช้ชื่อปริญญานี้มีลักษณะเน้นศาสตร์ทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ โดยมุ่งศึกษาสาระและวิธีการของศาสตร์สาขาวิชานั้น ๆ เป็นหลัก ส่วนเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาที่ใช้ชื่อปริญญานี้มีลักษณะ เป็นการนำวิทยาศาสตร์ประยุกต์ไปใช้พัฒนาความรู้และทักษะเชิงปฏิบัติการเฉพาะ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานในด้านอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การศึกษา เคหการและการดูแลรักษาสุขภาพและมีลักษณะเป็นหลักสูตรแบบพหุวิทยาการ เพื่อสร้างความชำนาญการเฉพาะทางให้ใช้เฉพาะระดับปริญญาตรี และศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาวิชาที่ใช้ชื่อปริญญานี้มีลักษณะเน้นศาสตร์บริสุทธิ์ทางด้านศิลปศาสตร์ โดยมุ่งศึกษาสาระและวิธีการของศาสตร์สาขาวิชานั้น ๆ เป็นหลัก

สรุปหากเป็นวิทยาศาตร์บัณฑิต ผู้เรียนจะต้องเรียนวิชาเกี่ยวกับวิทยาศาตร์คือ ฟิสิกส์ เคมี ชีวะและคณิตศาสตร์ในช่วงชั้นปีแรกๆ ส่วนปริญญา 2 แบบหลังอาจจะมีหรือไม่มีรายวิชาดังกล่าวปรากฏก็สุดแท้แต่คณะกรรมการร่างหลักสูตรเพราะฉะนั้นผู้เรียนต้องศึกษาข้อนี้ให้สำคัญ ถ้าไม่ชอบวิชาเลข ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ควรเลือกไปเรียนเทคโนโลยีบัณฑิตหรือศิลปศาสตร์บัณฑิตแทนจะดีกว่ามาก ส่วนวิชาเฉพาะทางด้านเกมในหลักสูตรลูกผสมนี้ 

สืบเนื่องมากจากการสร้างเกมต้องอาศัยการบูรณาการศาสตร์หลายด้านเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งความรู้ด้านเขียนโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ ความรู้ด้านศิลปะและการออกแบบเกม เมื่อนำมารวมกันทำให้ผู้ที่เข้ามาเรียนในประเภทสาขานี้เกิดปัญหาความไม่เข้ากันของศาสตร์ดังกล่าว 

ผู้เขียนจึงขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับหลักสูตรเกมลูกผสมดังนี้ นักศึกษาบางกลุ่มถนัดเขียนโปรแกรมแต่ไม่ถนัดวาดรูป บางกลุ่มถนัดวาดรูปแต่ไม่ถนัดเขียนโปรแกรม หรือมีแม้กระทั่งถนัดเฉพาะการออกแบบแต่ไม่สนใจการเขียนโปรแกรมหรือศิลปะเลยก็มี ทำให้ปัญหาที่พบคือ ถ้าหลักสูตรกำหนดให้วิชาเขียนโปรแกรมเกมเป็นวิชาบังคับทุกคนต้องลงเรียน มีการให้เกรดเป็นรายบุคคล ผู้มีความถนัดด้านนี้ก็จะสามารถทำคะแนนได้ดี ส่วนผู้ที่สนใจหรือถนัดด้านอื่นคะแนนก็จะลดหลั่นลงมา หรือหากเรียนไม่ไหวอาจต้องดรอปเรียนวิชานี้ไปก่อน หากกรณีเลวร้ายอาจต้องย้ายสาขา ย้ายคณะหรือแม้กระทั่งที่เรียนเลยก็มีให้เห็นอยู่ต่อเนื่อง 

อีกปัญหาหนึ่งที่พบจากหลักสูตรประเภทนี้คือความเชี่ยวชาญของผู้เรียนจะถูกลดทอนลงมาจากที่มันควรจะเป็น สาเหตุมาจากการเรียนการสอนที่ลูกผสมเกินไป วันนี้เรียนวิชาเขียนโปรแกรม พรุ่งนี้เรียนวิชาวาดรูป วันต่อไปเรียนวิชาประวัติศาสตร์ วันสุดท้ายจบด้วยวิชาการปั้นโมเดล กลายเป็นอยากสร้างเกมให้ได้ทั้งเกมต้องมานั่งจับปลาสองมือ สี่มือ หากผู้เรียนจับได้หมดก็ดีแต่หากไม่ได้ก็หลุดไม่เหลือในมือแม้สักตัวเดียว

ศาสตร์ทางด้านเกมนั้นความรู้ ความเข้าใจและกระบวนการบางอย่างไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการครูพักลักจำ ไม่ได้เกิดจากการท่องจากตำราแล้วทำตาม แต่องค์ความรู้ที่แท้จริงของผู้สร้างเกมเกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมาจากการสร้างโปรดักชันมาอย่างยาวนาน สมมติถ้าผู้อ่านอยากเรียนวิชาเรือเดินสมุทร ผู้อ่านจะเลือกเรียนการเดินเรือจากผู้ที่เฝ้ามองท้องทะเลผ่านเลนส์จากบนบกหรือเลือกเรียนกับผู้ที่เคยเดินเรือท่องไปทั่วท้องมหาสมุทรมาแล้ว แน่นอนเป็นใครถ้าเลือกได้ก็อยากจะเรียนกับผู้ที่เคยท่องไปทั่วท้องมหาสมุทรมาแล้วฉันใด การเรียนสร้างเกมก็ต้องการผู้สอนที่มีองค์ความรู้จากประสบการณ์จริงมาถ่ายทอดฉันนั้น

สุดท้ายถ้าน้องๆมีความตั้งใจที่จะยึดการสร้างเกมเป็นหลักในการหาเลี้ยงชีพแล้ว ก่อนที่จะเดินเข้าสู่การเรียนเป็นผู้สร้างเกมในรั้วมหาวิทยาลัย ไม่ว่าหลักสูตรจากที่ไหนควรเริ่มต้นจากการศึกษารายวิชาที่ต้องเจอในแต่ละชั้นปี ศึกษาประวัติและผลงานของสาขาวิชา ผลงานของอาจารย์ผู้ดูแลหลักสูตร ประจำหลักสูตร และประจำวิชาให้ดีเสียก่อนที่จะตัดสินใจ ไม่เช่นนั้นอาจต้องเสียเวลาเริ่มต้นปีหนึ่งกันใหม่อีกรอบ แต่ถ้าน้องๆตอบตัวเองได้ว่าต้องการเพียงเพื่อใบปริญญาเท่านั้นนั่นก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สวัสดีครับ

**วินนิ่ง คือเกมฟุตบอลที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเมืองไทย มีชื่อเต็มว่า Winning Eleven ผลิตโดยบริษัท Konami

------------

ผศ.ดรอาษา ตั้งจิตสมคิด

ที่ปรึกษาแผนกวิจัยและพัฒนาเกมอาษาโปรดักชัน

[email protected]