กลยุทธ์ “Platform”

กลยุทธ์ “Platform”

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินบริษัทหรือผู้รู้ต่างๆ พูดหรือเขียนเกี่ยวกับกลยุทธ์แบบ

Platform กันมากขึ้น หลายๆ บริษัทพยายามที่จะสร้าง Platform ของตนเองขึ้นมาเพื่อการเติบโต และ Platform Strategy ได้กลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโตและการสร้าง Business Model ใหม่ๆ สำหรับหลายๆ องค์กร

ถ้าท่านผู้อ่านนึกไม่ออกว่าบริษัทไหนบ้างที่ใช้กลยุทธ์แบบ Platform ก็ขอให้นึกถึง Google, Apple, Facebook, Uber, Airbnb, Alibaba, Youtube ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้าง Platform ขึ้นมา สิ่งที่บริษัทเหล่านี้ทำคือ พยายามสร้างระบบนิเวศน์หรือ ecosystem ที่บริษัทหรือบุคคลภายนอกนำสินค้าหรือบริการมาไว้บน Platform ที่ตนเองสร้างขึ้น ดังนั้น เมื่อเทียบระหว่างกลยุทธ์แบบดั้งเดิมที่เน้นขายสินค้าหรือบริการ กับกลยุทธ์แบบ Platform ที่เน้นสร้างตัวกลางให้คนมาซื้อ ขายสินค้าหรือบริการ โอกาสในการเติบโตย่อมแตกต่างกันอย่างชัดเจนครับ

ถ้าจะเปรียบเทียบง่ายๆ Platform ก็เหมือนกับตลาดสด ที่เจ้าของตลาดจัดเตรียมสถานที่ให้ แล้วก็เชิญชวนร้านค้าต่างๆ มาขายสินค้าของตนเองในตลาด โดยเจ้าของตลาดก็เก็บค่าเช่าไป ตลาดไหนที่จัดบริเวณได้ดี ดึงดูดให้คนมาเยอะๆ หาร้านค้าดีๆ มาตั้งขาย ตลาดนั้นก็เจริญรุ่งเรือง ท่านผู้อ่านลองนึกดูครับระหว่างเจ้าของตลาด กับ เจ้าของแผงในตลาด ใครจะมีโอกาสในการเติบโตและสร้างรายได้ ได้มากกว่ากัน?

อาจจะกล่าวได้ว่า Platform Strategy ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่จากพัฒนาการของเทคโนโลยี ทำให้เราเริ่มเห็นการที่บริษัทต่างๆ หันมาใช้และเติบโตด้วยกลยุทธ์ Platform กันมากขึ้น และไม่ใช่แค่การเติบโตอย่างเดียวนะครับ แต่ยัง Disrupt ธุรกิจเดิมที่มีอยู่อีกด้วย ลองนึกถึง ผลกระทบของ Airbnb ที่ส่งผลต่อธุรกิจโรงแรม หรือ Uber ที่ส่งผลต่อธุรกิจแท็กซี่ก็ได้ครับ

ได้มีการศึกษาภายใต้ชื่อ The Rise of the Platform Enterprise: A Global Survey ซึ่งได้ศึกษา Platform จำนวน 176 บริษัททั่วโลก โดยแต่ละบริษัทที่ศึกษานั้นจะต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจากการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาได้แบ่งประเภทของ Platform ที่มีอยู่ในโลกนี้ออกเป็นสี่ประเภท

ประเภทแรก Innovation platform โดยมีลักษณะเป็น Platform ที่เปิดโอกาสให้บริษัทหรือบุคคลอื่นได้พัฒนาสินค้าหรือบริการใหม่ๆ แล้วนำมาวางไว้ใน Platform ของตนเอง ทำให้เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ต่อยอดกันไปเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนสุดคือ Apple iOS หรือ Google Android ที่เป็นระบบปฏิบัติการที่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้พัฒนาแอพแล้วนำมาวางไว้หรือให้ลูกค้าได้ใช้ผ่าน Platform ตนเอง

ประเภทที่สอง Transaction platform เป็นลักษณะคล้ายๆ ตลาด ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายมาเจอกันและเกิดการซื้อขายสินค้าหรือบริการขึ้น Platform ในลักษณะนี้เป็นตัวกระตุ้นที่นำไปสู่ Sharing Economy ในหลายๆ อุตสาหกรรม เช่น กรณีของ Uber หรือ Airbnb ก็เป็นเสมือนตลาดกลางที่ช่วยให้ผู้ซื้อหรือผู้ขายได้มีโอกาสเจอและจับคู่กันมากขึ้น

ประเภทที่สาม Integration platform เป็นพวกบริษัทใหญ่ๆ ที่มีทั้งแบบ innovation และ transaction platform รวมกัน เช่น Apple กับ Google เน้นนวัตกรรม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตลาดกลางให้ผู้ซื้อผู้ขายมาเจอกัน

ประเภทสุดท้าย Investment platform เป็นพวกบริษัทหรือนักลงทุนที่เน้นการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ใช้ platform หลายๆ บริษัท เช่น Priceline Group ที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวและเดินทางก็เข้าไปลงทุนทั้งใน Priceline, Kayak, Open Table เป็นต้น

มองกันว่าบริษัทที่ใช้กลยุทธ์แบบ Platform นั้นเป็นตัวที่กระตุ้นและขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมและการเติบโตของเศรษฐกิจ คำถามที่น่าคิดต่อไปคือแล้วบริษัทดั้งเดิมที่ทำธุรกิจมาแต่โบราณจะทำอย่างไร? จะเริ่มทำ platform ของตนเอง หรือ จะเข้าไปซื้อ platform ที่มีอยู่? ก็ล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่ท้าทายและน่าคิดต่อครับ