ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ : งานท้าทายที่รออยู่

ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ : งานท้าทายที่รออยู่

แม้ทราบผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาผ่านพ้นไปแล้วกว่า 2 สัปดาห์

แต่ควันหลงจากการเลือกตั้งที่ตามมายังมีอีกนานับประการ ยังผลกระทบต่อตลาดเงินตลาดทุน ราคาทองคำ น้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความผันผวนขึ้นลงสูง ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละวันจะหยิบยกประเด็นนโยบายใดของว่าที่ประธานาธิบดีขึ้นมาวิเคราะห์ ก็เป็นที่เข้าใจกันได้เนื่องจากว่ามีหลายนโยบายที่มีปัญหา และตัวนายโดนัล ทรัมป์เองก็ยังไม่ได้เข้าบริหารประเทศ่จนกว่าวันที่ 20 มกราคม พ.ศ.2560 ภายหลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง จึงจะมีอำนาจเข้าบริหารประเทศ ซึ่งโลกกำลังจับตามองประธานาธิบดีคนใหม่จะเร่งรัดนโยบายใดก่อน ในระหว่างนี้นายทรัมป์ อยู่ในระหว่างการคัดเลือกทีมงาน ไม่ว่าเจ้าหน้าที่สำคัญประจำทำเนียบขาว คณะรัฐมนตรี หรือคณะทำงานในช่วงการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการปกครอง

ในประเด็นของนโยบายที่ต้องผ่านกฏหมายหรือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภานั้น ไม่น่าจะมีปัญหามากนักเนื่องจากพรรครีพับลีกัลมีเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาอยู่แล้ว จึงนับว่าเป็นโชคดีของประธานาธิบดีคนใหม่ ประเด็นท้าทายหลักจึงอยู่ที่ปัญหาความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมชาวอเมริกัน ที่เกิดขึ้นภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง มีการประท้วงต่อต้านที่ไม่ยอมรับในตัวของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ ที่เกิดขึ้นในกว่า 10 เมืองใหญ่ รวมไปถึงมหานครนิวยอร์ค และล่าสุดคือในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่มีข่าวว่ากำลังมีการรวบรวมประชาชน ในการจะขอแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกา

การที่แคลิฟอร์เนียมีเป้าหมายจะขอแยกตัวออกจากสหรัฐอเมริกานั้น เพราะเป็นรัฐที่ใหญ่มากขนาดใกล้เคียงกับประเทศไทยทีเดียว และอีกหลายประการคือ เป็นรัฐที่น่าจะถูกกระทบโดยตรงจากนโยบายการส่งกลับแรงงานต่างด้าวของประธานาธิบดี แคลิฟอร์เนียนั้นเป็นรัฐที่มีแรงงานต่างชาติและประชาชนที่อพยพจากชาติต่างๆ มากที่สุด ทั้งชาวเอเชียที่รวมถึงชาวไทยที่อาศัยอยู่ในเมือง ลอส เอลเจลลิส อิสปานิก (หรือพวกลาตินอเมริกา) เมกซิโก และอื่นๆ ซึ่งหากมีการเข้มงวดเอาจริงในการส่งกลับแรงงานต่างชาติเหล่านี้แล้ว ธุรกิจในแคลิฟอร์เนียเองก็จะถูกกระทบอย่างชัดเจน

นโยบายส่งกลับคนต่างชาติที่เข้าเมืองโดยผิดกฏหมายหรือแรงงานต่างด้าว ได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนสัญชาติอื่นหรือชาวต่างชาติที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน รวมไปถึงคนผิวสี ที่ก่อตัวขึ้นภายใต้ธงของว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ที่ต้องการทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง และเป็นที่น่าสังเกตว่าภายหลังที่ได้เป็นประธานาธิบดีที่ได้รับชัยชนะการเลือกตั้งแล้ว ท่าทีความแข็งกร้าวของนายโดนัล ทรัมป์ได้ลดลงอย่างชัดเจน แตกต่างไปจากในช่วงการหาเสียงโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกนโยบายการรักษาพยาบาลของประธานาธิบดี โอบานา (Obama Care) มาเป็นการทบทวนนโยบาย และหรือล่าสุดที่ประกาศว่าจะยกเลิกการดำเนินคดีทางอาญา กับคู่แข่งขัน (นางฮิลลารี คลินตัน)

กรณีการใช้อีเมลส่วนตัวในการดำเนินงาน ในช่วงการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้วยเหตผลว่า เธอได้รัฐความเจ็บปวดและความสูญเสียมากแล้วในการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง ซึ่งในประเด็นนี้ไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งเพราะหากเป็นคดีอาญาแล้ว ก็ควรที่จะดำเนินการสอบสวนต่อไป เพราะไม่เช่นนั้นความศักดิ์สิทธ์ของกฏหมายก็จะเสื่อมไป เสียหลักการความยุติธรรมที่กฏหมายจะต้องให้ความเท่าเทียมกันของประชาชน

อีกเรื่องที่เกี่ยวพันกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก คือ ประเด็นนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกามาก่อน ที่จะไม่สนับสนุนการค้าเสรีของว่าที่ประธานาธิบดี ที่เคยประกาศว่าจะยกเลิกเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาเหนือ (ระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และ เมกซิโก) หรือยกเลิกข้อตกลงความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิก (Tran Pacific Partmership) ที่เป็นความริเริ่มของประธานาธิบดี โอบามา ในการก่อตั้งเขตเศรษฐกิจใหม่ ในการที่จะทำให้สหรัฐอเมริกามีบทบาทมากขึ้นในเวทีเศรษฐกิจโลก ในการช่วงชิงความสำคัญกับประเทศจีน ซึ่งยังไม่มีท่าทีที่ชัดของของนาย โดนัล ทรัมป์ ในเรื่องนี้ แต่เรื่องการยกเลิก TPP นี้น่าจะเป็นผลดีกับประเทศไทยที่ยังไม่ได้ตกลงใจในการเข้าร่วมในข้อตกลงนี้ และจะได้ไม่ต้องถูกกดดันให้เข้าร่วมกับเขตการค้านี้ (ประเทศไทยมีร่วมอยู่ในการรวมกันของเขตการค้าเสรีทั้งในระดับพหุภาคีและ ทวิภาคีออยู่เป็นจำนวนมากที่เพียงพอ เช่น เขตการค้าเสรีอาเซียน เอเปค หรืออาเซียน-ยูโร)

เป้าหมายหลักของสหรัฐอเมริกาในเรื่องของการค้า ก็คือประเทศจีน ที่เป็นมหาเศรษฐกิจลำดับที่สองของโลกทั้งยังกำลังมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น และเป็นประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากที่สุด ที่นายโดนัล ทรัมป์ ได้ประกาศในช่วงการหาเสียงว่า เป็นประเทศที่ใช้นโยบายอัตราแลกเปลียน (ต่ำกว่าความเป็นจริง) ในการส่งสินค้าเข้าไปขายในตลาดสหรัฐอเมริกา หรือการเป็นประเทศที่นักธุรกิจชาวอเมริกันย้ายฐานการผลิตมากที่สุด (เป็นการแย่งงานของชาวอเมริกัน)

ประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบจากการจำกัดความร่วมมือการค้าเสรีนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไตัหวัน ส่วนประเทศไทยที่มีสัดส่วนการส่งออกไปประเทศสหรัฐอเมริกาเพียงร้อยละ 10 ของการส่งออกรวมน่าจะได้รับผลกระทบทางตรงน้อย แต่น่าจะได้รับผลกระทบทางอ้อมผ่านการค้าของโลกที่จะชะลอตัวตามนโยบายกีดกันทางค้าของสหรัฐ เพราะประเทศไทยส่งออกไปยังจีน (บวก ฮ่องกง ไต้หวัน) คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 ของการส่งออกรวม