divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด ( 55)

divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด ( 55)

คนที่ตามความเป็นไปในโลก เหมือนที่ผู้เขียนตามมาในรอบสองสามทศวรรษ น่าจะอดคิดไม่ได้ว่า

หลายๆ อย่างของเหตุการณ์โลก เราไม่ได้คิดว่ามันจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายเรื่องเป็นเรื่องคาดไม่ถึง ตัวอย่างเช่น การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากตกม้าตาย และเมื่อมันเกิดขึ้น นักวิชาการจำนวนมากมองโลกสดสวยงดงาม เชื่อว่าโลกคงเข้าสู่ยุคของสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง เพราะความขัดแย้งทางอุดมการณ์ซึ่งแบ่งโลกเป็นฝักเป็นฝ่าย เป็นช่วงของสงครามเย็น เป็นช่วงที่ประเทศมหาอำนาจต้องทุ่มเททรัพยากรทางทหารจำนวนมหาศาล ประชาธิปไตยและระบบทุนนิยมโลก น่าจะพัฒนาไปในทิศทางที่ก้าวหน้า และโลกมีระเบียบ ระบบโลกน่าจะลงตัวไม่ว่าจะมองจากในแง่ไหน ซึ่งจะไปเสริมส่วนที่ดีของกระบวนการโลกานุวัฒน์

ในความเป็นจริงเราก็รู้กันดีว่า หลายอย่างไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดไว้ มันมีอะไรที่เราคาดไม่ถึงเยอะแยะ สหรัฐฯกับโซเวียต ยุโรปกับโซเวียต ยังต้องเผชิญกับปัญหาที่ตามมายาวนานพอสมควร ดูได้จากสงครามในย่านบอลข่าน วิกฤติในยูเครน ซึ่งทำให้รัสเซียต้องเข้ายึดไครเมีย ซึ่งนำมาซึ่งความตึงเครียดระหว่างค่ายโลกตะวันตกและรัสเซีย หรือกรณีของ Arab Spring ซึ่งผู้เขียนก็คิดว่าคนจำนวนมากคาดไม่ถึงว่ามันจะเกิดขึ้น แล้วเมื่อเกิดในประเทศหนึ่งก็ขยายไปทั่วตะวันออกกลาง

เช่นเดียวกัน แรกๆ คนก็คิดว่ามันคงเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ในเชิงการเปลี่ยนแปลง หรือ Transformation ที่ดีโดยเฉพาะการพัฒนาประชาธิปไตย เป็นอะไรที่คล้ายๆพลิกแผ่นดิน ถึงวันนี้เราก็ทราบกันดีว่า ไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังแบบนั้น ซ้ำร้ายในหลายสถานการณ์หลายประเทศ หลายอย่างเลวลง ส่งผลที่เราคาดไม่ถึง นำไปสู่สงคราม ความรุนแรง ความแตกแยก ของคนในบ้านเมือง ประชาชนต้องหนีตายแล้วไปกระทบอีกภูมิภาคหนึ่งคือยุโรป อย่างมีนัยสำคัญมหาศาล ถึงขนาดว่ากรณียุโรปมันอาจจะเป็นหนึ่งในสาเหตุที่วันหนึ่งข้างหน้า EU และยูโรโซน ล่มสลายซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราคาดกันไม่ถึง ทั้งในเหตุและผลที่ตามมา

วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินที่ระเบิดฟองสบู่แตกในสหรัฐฯในปี ค.ศ.2007 และลุกลามต่อมาที่ยุโรปในปีสองปีถัดมา มีผู้เชี่ยวชาญคาดเดา โดยเฉพาะในกรณีของสหรัฐฯมาบ้างว่าอเมริกาคงเจอปัญหาแน่ ไม่ช้าก็เร็ว คือฟองสบู่อสังหาฯต้องแตกแน่ๆ

ต้องยอมรับว่า ทุนนิยมของโลกมีปัญหาสะสมมาหลายสิบปี ปัญหาหลายอย่างแก้ยากในสังคมประชาธิปไตย สำหรับประเทศที่เจริญแล้ว กรณีของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นชัดเจนว่าปัญหาของระบบทุนนิยมที่โตช้าลง และการกระจายกระจุก ได้มีผลต่อพัฒนาการของประชาธิปไตย และระบบการเมืองรวมทั้งเสถียรภาพของการเมืองโลกอย่างที่คนจำนวนมากคาดไม่ถึง

มีใครจะคิดว่าการที่อเมริกาได้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีแทนที่จะเป็นฮิลลารี มันถึงขนาดต้องทำให้อาเบะ นายกฯญี่ปุ่นต้องรีบบินไปคุยกับทรัมป์ในไม่กี่วันต่อมา หรือเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีอเมริกาคือ โอบามาที่กำลังจะหมดวาระเป็นห่วงอนาคตโลกถึงกับต้องบินไปพบอังเกลา เมอร์เคิล ที่เยอรมันเหมือนจะสื่อให้โลกรู้ว่ายังมีเยอรมันนะที่เราอาจจะพึ่งได้ ถ้าอเมริกาจะถอนตัวจากโลก อะไรทำนองนั้น แต่โอบามาลืมไปว่า แค่เป็นผู้นำในยุโรปเมอร์เคิลก็ยังมีปัญหาจากวิธีที่เยอรมันแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ และผู้อพยพเข้ายุโรป

ในกรณีของยุโรป ก็คล้ายๆ กับของอเมริกา เราได้เห็นการผงาดขึ้นของกลุ่มและพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดที่กำลังได้รับความนิยมและมีพลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล สิ่งที่เป็นจุดร่วมกันทั้งของยุโรปและสหรัฐฯ ที่เราได้พบเห็นก็คือ ช่องว่างระหว่างรัฐของประเทศนั้นๆ กับสังคมหรือประชาชน ที่มีมากขึ้นโดยเฉพาะตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา คนไม่ไว้ใจรัฐ ไม่ไว้ใจนักการเมือง โดยเฉพาะ establishment คนไปออกเสียงเลือกตั้งลดลงเรื่อยๆ ทั้งในระดับชาติ และในระดับ EU เช่นการเลือกสมาชิกผู้แทนสำหรับรัฐสภายุโรป ขบวนการหรือพรรคขวาจัด สุดขั้วสุดโต่ง มีลักษณะคล้ายกับการเกิดขึ้น ฟาสซิสต์ หรือขบวนการนาซีในทศวรรษ 1920 ในยุโรป เช่นกรณีของพรรค National Front ภายใต้ Marine Le Pen นั้นชูความเป็นชาตินิยมอย่างบ้าคลั่งต่อต้านการรวมตัวของยุโรป มีทัศนะคติรังเกียจมุสลิมอย่างสุดขั้ว เธอเคยพูดว่าทนไม่ได้ที่เห็นมุสลิมมาสวดที่ปารีส เธอเห็นว่าเป็นอันตรายมากกว่าฮิตเลอร์ด้วยซ้ำ

ผู้เขียนคิดว่าการเปลี่ยนแปลงในโลก ล้วนเป็นอนิจจังและเป็นสัจธรรม การเปลี่ยนแปลงซึ่งนำมาในสิ่งที่ดีโดยเฉพาะในกระบวนการประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุน แต่การก่อตัวของขบวนการขวาจัดสุดขั้วในยุโรป รวมทั้งปรากฏการณ์ของทรัมป์มันกำลังทำลายอุดมการณ์ของเสรีนิยม อุดมการณ์ของความเป็นนานาชาติ (Internationalism) แต่จะบ่มเพาะความเป็นชาตินิยมที่คับแคบ อันตราย และเห็นแก่ตัว สร้างความเกลียดชังระหว่างมนุษยชาติซึ่งจะเป็นบ่อเกิดของความรุนแรงของโลกในอนาคต

Brexit ก็ดี Trump phenomenon ก็ดี หรือ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายๆประเทศในยุโรปตั้งแต่อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก จนถึงแม้กระทั่งเยอรมัน สิ่งทีเกิดขึ้นมันเหมือนเป็นปรากฏการณ์การเคลื่อนไหว หรือ Movement ในวงที่กว้างขวาง เริ่มพัฒนาเป็นกระแสหลักในกรณีของ EU และยูโรโซน จุดร่วมของพรรคขวาจัดเหล่านี้คือสนับสนุนการถอนตัว โดยการทำประชามติ ถ้าได้เป็นรัฐบาล ในปี 2017 คือปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในการเลือกตั้งของฝรั่งเศส พรรคขวาจัดของ Marine Le Pen กำลังมาแรง ในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี และการรับรองรัฐธรรมนูญ ในการทำประชามติของอิตาลี นัยสำคัญก็คือ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่าน นายกฯจะลาออก อาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าพรรคขวาจัดของอิตาลีสองพรรคซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน ขึ้นเป็นรัฐบาล และถ้า Marine Le Pen เป็นประธานาธิบดีโอกาสที่อิตาลี และฝรั่งเศสจะถอนตัวจะมีสูงมาก นี่คงเป็นอะไรที่ดูไม่จืดสำหรับอนาคตของ EU หรือของยุโรปก็ว่าได้ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้ทั้งนั้น

ในอดีตประเทศทางใต้ของยุโรป เช่น อิตาลี กรีซ สเปน โปรตุเกส ต้องการรวมตัวกับประชาคมยุโรป มองประชาคมเป็นต้นแบบที่จะมาชดเชย ระบบการเมืองที่เป็นเผด็จการ และฉ้อฉล เช่นเดียวกับอิตาลี วันนี้กรีซซึ่งเจ็บปวดมาก สเปน กับโปรตุเกส ประชาชนยังพอใจที่จะรวมกับ EU ต่อไป แต่อิตาลีได้เปลี่ยนไปแล้ว