อินดิเทกซ์ : ยักษ์ใหญ่วงการเสื้อผ้า

อินดิเทกซ์ : ยักษ์ใหญ่วงการเสื้อผ้า

สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันจะพาไปรู้จักกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อบริษัทอินดิเทกซ์ (INDITEX) โดยมีชื่อเต็มว่า




สวัสดีค่ะ วันนี้ดิฉันจะพาไปรู้จักกับบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ชื่อบริษัทอินดิเทกซ์ (INDITEX) โดยมีชื่อเต็มว่า

Industria de Diseño Textil, S.A.(อินดุสเตรีย เด ดิเซโญ เตกซ์ตีล) เป็นบริษัทเสื้อผ้าของสเปน มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมือง Arteixo
ชื่อไม่คุ้นใช่ไหมคะ แต่ถ้าบอกว่าเป็นเจ้าของเสื้อผ้าแบรนด์ซาร่า (Zara) จะรู้จักใช่ไหมคะ
อินดิเทกซ์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อในเดือนมิถุนายน ปี 1985 หรือ พ.ศ. 2528 โดยคุณอามันซิโอ ออร์เตกา (Amancio Ortega) ซึ่งเคยทำงานอยู่ในบริษัทผลิตเสื้อเชิ้ตท้องถิ่นในสเปน ต่อมาเริ่มออกแบบเสื้อผ้าเองและให้ภรรยาตัดเย็บที่บ้าน ภายหลังได้เปิดโรงงานเล็กๆและขายสินค้าให้กับที่อื่นๆรวมถึงบริษัทเดิมที่เคยทำงานอยู่ด้วย
ในปี 1975 หรือ พ.ศ. 2518 คุณออร์เตกา และภรรยา เปิดร้านขายเสื้อผ้าซาร่า (Zara) ร้านแรกใน ลา คอรูญา (La Coruña) โดยมีแนวคิดทำร้านที่ขายเสื้อแฟชั่นที่นิยมโดยมีราคาถูก หลังจากที่ทำร้านก็มีการขยายธุรกิจมากขึ้น จึงจ้างอาจารย์มาช่วยดูเรื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท ซึ่งภายหลังอาจารย์ท่านนี้กลายมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทในปี 1984
บริษัทอินดิเทกซ์ตั้งขึ้นในปี 2528 เป็นบริษัทโฮลดิ้งมาถือหุ้นในซาร่า และขยายกิจการไปต่างประเทศครั้งแรกในปี 2531 โดยไปเปิดร้านสาขาในโปรตุเกสค่ะ และเข้าไปซื้อหุ้นของ Massimo Dutti 65%ในปี 2534 ก่อนที่จะซื้อครบ 100%ในปี 2538
ร้ายซาร่า ขยายเข้าไปในสหรัฐอเมริกาในปี 2532 และในฝรั่งเศสในปี 2533 ชี้ให้เห็นว่าเขามองตลาดใหญ่ก่อนแล้วจึงมองตลาดที่เป็น “เจ้าแห่งแฟชั่น” โดยเข้าตลาด “เจ้าแห่งแฟชั่น” เมื่อคิดว่าตัวเองพร้อมสู้แล้ว
ครั้งหลังสุดที่ดิฉันไปฝรั่งเศสได้มีโอกาสเข้าไปในร้าน Massimo Dutti ยังบอกตัวเองว่า จัดร้านหรูกว่าร้านในเอเชียเยอะ และราคาก็ถูกกว่าเอเชีย ยิ่งตอนลดราคา ยิ่งทึ่งว่า ขายได้อย่างไร
อินดิเทกซ์ เสนอขายหุ้นให้กับประชาชน 26% และเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาดริด ของสเปน ในปี 2544 ใช้ชื่อย่อว่า ITX โดยในตอนนั้นมีมูลค่าตลาด (Market Capitalization) เท่ากับประมาณ 9,000 ล้านยูโร หรือประมาณ 360,000 ล้านบาท
ณ ราคาปิดวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2559 ที่ 32.40 ยูโรต่อหุ้น คิดเป็นมูลค่าตลาดเท่ากับประมาณ 100,979 ล้านยูโร หรือประมาณ 3.84 ล้านล้านบาท หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมาถึง 11.2 เท่า
หลังจากเข้าตลาด อินดิเทกซ์ ได้ขยายธุรกิจออกไปมากขึ้น โดยก่อตั้ง Zara Home ขายของใช้ในบ้านประเภทผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม เครื่องแก้ว มีดทำครัว และของตกแต่งบ้าน ในปี 2546
ปี พ.ศ. 2547 แบรนด์ซาร่า เริ่มเข้ามาสู่ตลาดเอเชีย โดยเริ่มจากร้านในฮ่องกง ซึ่งเป็นร้านที่ 2,000 และร้านในโตเกียว เป็นร้านลำดับที่ 4,000 เปิดในปี 2551
นอกจากแบรนด์ ซาร่า และ มัสสิโม ดุตติ แล้ว อินดิเทกซ์ ยังเป็นเจ้าของแบรนด์ Pull & Bear, Bershka, Oysho, Stradivarius และ Uterque
อินดิเทกซ์ เริ่มมีร้านค้าออนไลน์ ในปี 2550 โดยเริ่มจาก Zara Home และ ซาร่า เริ่มขายของออนไลน์ ในปี 2553
ผู้ก่อตั้งคือ คุณอามันซิโอ ออร์เตกา ยังคงถือหุ้นของอินดิเทกซ์อยู่ 59%ค่ะ แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทแล้วในปีพ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ ซาร่า ขยายกิจการไปออสเตรเลีย เมื่อต้นปี คุณอามันซิโอ ออร์เตกา เคยครองตำแหน่งคนรวยที่สุดในโลกอยู่เป็นเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะตกลงมาเป็นอันดับสอง รองจาก บิลล์ เกตส์
ในปีที่แล้ว คือปี 2558 อินดิเทกซ์ มียอดขายรวม 20,900 ล้านยูโร (ประมาณ 795,000 ล้านบาท) มีพนักงาน 152,854 คน มีกำไรสุทธิ 2,900 ล้านยูโร (ประมาณ 110,200 ล้านบาท) คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 0.93 ยูโร ณ ราคา 32.4 ยูโร คิดเป็นราคา 34.8 เท่าของกำไร (P/E)
ปัจจุบัน อินดิเทกซ์ มีร้านทั่วโลก 7,085 ร้าน ใน 91 ประเทศ และจะขยายธุรกิจ อีคอมเมิร์ซ ไปครบคลุม 40 ประเทศภายในปีนี้
หกเดือนแรกของปี 2559 ยอดขายของอินดิเทกซ์ เพิ่มขึ้น 11% ในขณะที่ยอดขายของคู่แข่งไม่โตเลย และกำไรเพิ่มขึ้น 8% โดยนักวิเคราะห์คาดว่ากำไรในปีนี้จะเท่ากับ 1.032 ยูโร (ข้อมูลจากบลูมเบิร์ก) ดังนั้นค่า P/E ในปีนี้จะลดลงเหลือประมาณ 31.4 เท่า
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้อินดิเทกซ์ ประสบความสำเร็จ มีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 13.87%และมียอดขายที่ยังคงเติบโตอยู่
ดิฉันวิเคราะห์ได้สี่คำตอบ ซึ่งส่วนใหญ่มีความเกี่ยวโยงกัน
คำตอบแรกคือ “ความเร็ว” อินดิเทกซ์ ใช้เวลาออกแบบ ผลิต และส่งถึงร้าน ภายในเวลา 15 วัน ในขณะที่แบรนด์อื่นใช้เวลาคิดแบบและผลิตล่วงหน้าเป็นฤดูกาล ทำให้อินดิเทกซ์ สามารถออกแบบสินค้ามาทดลองตลาด ในจำนวนน้อยๆก่อน และหากขายดีก็สามารถทำเพิ่มได้ในเวลาอันรวดเร็ว หรือหากขายไม่ดี ก็สามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้
คำตอบที่สองคือ “ความหลากหลาย” อินดิเทกซ์ให้อิสระกับนักออกแบบมาก และสร้างวัฒนธรรมของการไม่มี “ดารา” ทุกๆคนมีสิทธิ์เสนอความเห็น ไม่มีใครผิดใครถูก กลุ่มนักออกแบบ 350 คนที่อยู่ในวัย 30 กว่าๆ มาจากหลากหลายทวีป มีพื้นเพแตกต่าง ทำให้สามารถออกแบบได้ถูกใจลูกค้าทั่วโลก
คำตอบที่สามคือ “รับฟัง” อินดิเทกซ์จะมีการประชุมสัปดาห์ละสองครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูล รับฟังความเห็น ดึงแนวคิด ทั้งจากลูกค้า และระดมสมองจาก ฝ่ายจัดซื้อ นักวิเคราะห์ ผู้จัดการร้าน เพื่อให้ได้ “แบบ” ที่ลูกค้าต่างๆต้องการ จึงทำให้สามารถปรับเปลี่ยน แบบและการผลิตได้ตรงความต้องการของตลาด
คำตอบที่สี่คือ “ตรงจุด” อินดิเทกซ์ไม่มีงบโฆษณา นอกจากงบการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย และใช้วิธีการเก็บข้อมูลลูกค้าจากร้านค้าออนไลน์ จึงทราบแนวโน้มและความสนใจของลูกค้า ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้วางแผนการออกแบบ การผลิต และปริมาณสินค้าที่ผลิตได้ จึงไม่ต้องมีสต็อกสินค้าค้างจำนวนมากที่ต้องนำมาขายลดราคา เมื่อหมดฤดูกาล
ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทเสื้อผ้าใหญ่ที่สุดในโลกบริษัทนี้เป็นดาวรุ่งในตลาดค่ะ

หมายเหตุ : ข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัท ข้อมูลเสนอต่อผู้ลงทุน บลูมเบิร์ก และวิกิพีเดีย การลงทุนมีความเสี่ยง บทความนี้เป็นเพียงกรณีศึกษา ไม่มีความประสงค์จะเชิญชวนให้ลงทุนหรือไม่ลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าว