"ผลิตภาพแรงงาน” ปัจจัยกำหนดรายได้ที่ยั่งยืน

"ผลิตภาพแรงงาน” ปัจจัยกำหนดรายได้ที่ยั่งยืน

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาคณะกรรมการค่าจ้าง ได้มีมติพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้าง

ขั้นต่ำประจำปี 2560 โดยนำ 10 รายการสูตรใหม่มาพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง5-8-10 บาท ใน 69 จังหวัดและผลิตภาพแรงงานคือหนึ่งในรายการที่ถูกนำมาพิจารณา ดังนั้นแล้ว ผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญจำเป็นต่อเรื่องค่าจ้างอย่างไร

ก่อนตอบคำถาม ขอย้อนไปตั้งแต่ที่เริ่มมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละ 300 บาท โดยบังคับใช้ในพื้นที่ 77 จังหวัด เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2556 ด้วยเจตนารมณ์ที่ต้องการจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานให้ดีขึ้น ช่วยเสริมสภาพคล่องต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงาน และสร้างการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมให้มากขึ้นแต่ต่อมาในช่วงต้นปี 2559 ผู้แทนของแรงงานโดยเฉพาะจากกลุ่มสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ออกมาเรียกร้องให้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง ด้วยเหตุผลว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เมื่อ 3 ปีก่อน ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงานในปัจจุบัน จึงต้องมีการเรียกร้องขอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอย่างน้อย 360 บาทต่อวัน

ล่าสุด มติคณะกรรมการค่าจ้าง จึงได้พิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2560 เตรียมเสนอครม.พิจารณาก่อนประกาศบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2560 ส่งผลให้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดของประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 310 บาท ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยชี้วัดทางเศรษฐกิจรวม 10 รายการ ได้แก่ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านและผลิตภาพแรงงาน ดังที่กล่าวมา

สอดคล้องกับข้อเสนอในบทความกรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 คอลัมน์วาระทีดีอาร์ไอ : ค่าจ้างขั้นต่ำช่วยแรงงานจริงหรือ? ที่ผู้เขียนได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผลิตภาพแรงงานแล้วว่า ผลิตภาพแรงงาน” หรือความสามารถในการทำงานเป็นปัจจัยที่กำหนดว่าแรงงานแต่ละคนควรจะได้รับค่าจ้างในอัตราเท่าใด และยังเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงานของแรงงานที่แท้จริงซึ่งครั้งนี้จะขอขยายความต่อว่า ผลิตภาพแรงงานมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับปัจจัยอีก 9 รายการอย่างไร

“ผลิตภาพแรงงาน” คือ ความสามารถในการทำงานที่สามารถพัฒนาหรือเพิ่มศักยภาพให้สูงขึ้นได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานโดยให้แรงงานทำงานกับเครื่องจักรมากขึ้น การฝึกอบรมแรงงานทั้งก่อนหรือขณะปฏิบัติงานเพื่อให้มีความเข้าใจและมีทักษะที่ถูกต้อง การส่งเสริมให้แรงงานมีการศึกษาสูงขึ้นการปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น

เมื่อแรงงานได้ผ่านกระบวนการพัฒนาผลิตภาพแรงงาน ทำให้แรงงานมีความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหมายถึง ทำให้การผลิตนั้นผลิตด้วยต้นทุนที่ลดลง เมื่อมีสินค้าและบริการจำนวนมาก เท่ากับว่า อุปทานของสินค้าและบริการที่สูงขึ้นนั้น จะส่งผลทำให้ราคาสินค้าลดลงตามกลไกของตลาด ประชาชนรวมถึงแรงงานในฐานะผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง สินค้าและบริการถูกจับจ่ายไปในจำนวนที่มากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการหรืออุตสาหกรรมสามารถรักษาความสามารถของการแข่งขันทางธุรกิจไว้ได้การลงุทนภาคเอกชนจึงเติบโต ส่งผลต่อการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และค่าจ้างแรงงานปรับตัวสูงขึ้น

ดังนั้น กลไกการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน นอกจากจะทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงขึ้นเนื่องจากเป็นการลดต้นทุนการผลิต ลดราคาสินค้าและบริการ เพิ่มความสามารถของธุรกิจลดอัตราเงินเฟ้อแล้ว ในระยะยาวนั้น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานยังส่งผลต่อการรักษาระดับดัชนีค่าครองชีพ เพิ่มมาตรฐานการครองชีพ เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) และส่งผลดีต่อสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอีกด้วย ดังนั้นถ้าหากเราสามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้ก็จะส่งผลให้ปัจจัยที่เหลือทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกลไกของระบบเศรษฐกิจในทิศทางที่ดีขึ้น

ผู้เขียนขอย้ำว่า การเพิ่มผลิตภาพแรงงานคือกลไลสำคัญอย่างยิ่งที่ส่งผลต่อแรงงานและการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว ดังนั้น นอกจากเจตนาที่ดีของรัฐบาลที่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว การวางแนวทางและดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานหรือผลิตภาพแรงงานอย่างเป็นรูปธรรมควบคู่กัน โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานที่มีต้นทุนต่ำรวมทั้งกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจ และอุตสาหกรรมมีมาตรการในการเพิ่มศักยภาพในการทำงานของแรงงาน จะทำให้เกิดการพัฒนาแรงงาน พัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ทำให้แรงงานได้รับค่าจ้างสูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริง

--------------------

ศศิวิมล ตันติวุฒิ

ทั้งหมดนี้เป็นความเห็นส่วนตัวผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กร