ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

วันที่ 25 ก.ย.ปี2558 เป็นวันที่ผู้นำประเทศ 193 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ลงนามรองรับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน2030 หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเป็นวาระการพัฒนาที่จะสิ้นสุดในอีก 15 ปีนับจากนี้ใน พ.ศ. 2573 เป็นเรื่องที่ยินดีว่าประเทศไทยมีความจริงจังกับการบรรลุ SDGs มากพอสมควร ทั้งแสดงบทบาทหลักเป็นผู้นำกลุ่ม G77 ในการขับเคลื่อน SDGs ระดับโลกและการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยอย่างแข็งขันผ่านคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.)

สิ่งหนึ่งที่รัฐบาลไทยพยายามส่งเสริมและเผยแพร่ในกระบวนการขับเคลื่อน SDGs ก็คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คำถามหนึ่งที่ตามมาก็คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับ SDGs มีความสัมพันธ์กันอย่างไร?

บทความนี้เสนอว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับ SDGs มีความเชื่อมโยงและเกื้อหนุนกันแต่ทำหน้าที่ต่างกันในกระบวนการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวคือ SDGs เป็นเป้าหมาย เป็นภาพฝันของโลกที่ผู้คนในโลกอยากเห็น ในขณะที่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักคิดที่จะช่วยให้กระบวนการขับเคลื่อน SDGs ไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ SDGs คือ “เป้าหมาย” ของการพัฒนาที่ยั่งยืนส่วนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือ วิธีคิดที่จะช่วยให้ กระบวนการขับเคลื่อน SDGs เป็นไปอย่างยั่งยืน

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้หลักคิดว่า ในการดำเนินกิจกรรมใด ๆ นั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ และอยู่ในกรอบของคุณธรรม คือ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น การวางแผนและลงมือกระทำสิ่งใดก็ให้อยู่บนหลักเหตุผล ใช้ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างพอประมาณ และควรคิดถึงแผนสำรองหรือแผนรับมือกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นระหว่างทางเอาไว้ด้วย คือ มีภูมิคุ้มกันนั่นเอง หลักคิดนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้ในการดำเนินชีวิตและการดำเนินการของทุกภาคส่วน มิใช่แต่ภาคเกษตรเท่านั้น

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) คือ ภาพฝันของโลกที่คนในโลกอยากเห็น เป็นโลกที่ปราศจากความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ โลกที่ไม่มีคนหิวโหยและมีระบบการเกษตรกรรมและการผลิตอาหารที่ยั่งยืน โลกที่คนมีหลักประกันว่าจะมีสุขภาพดีในทุกช่วงวัย โลกที่คนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ครอบคลุม เท่าเทียม และมีโอกาสเรียนรู้ตลอดชีวิต โลกที่มีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ โลกที่ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มน้ำใช้ที่สะอาดและปลอดภัยและมีระบบการขับถ่ายที่ถูกสุขอนามัย โลกที่ทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่เป็นธรรม โลกที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน มีการจ้างงานเต็มที่ มีงานที่เหมาะสมกับทุกคน มีโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคมที่ทนทานทั่วถึง มีอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน มีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง

โลกที่ความไม่เสมอภาคในด้านต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศ โลกที่คนทุกคนได้อยู่อาศัยในเมืองหรือชุมชนที่ปลอดภัย ยั่งยืน และมีภูมิต้านทานต่อภัยพิบัติโลกที่รูปแบบการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โลกที่ทุกคนร่วมมือกันต่อสู้และตั้งรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสโลกที่อนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากมหาสมุทรและระบบนิเวศบนบก โลกที่มีสันติภาพ มีสถาบันที่เข้มแข็งในทุกระดับ และผู้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้ โลกที่ทุกภาคส่วนและทุกประเทศในโลกช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อบรรลุภาพฝันนี้

บางคนอาจแย้งว่า ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็สามารถเป็นเป้าหมายในการพัฒนาได้ ซึ่งก็เป็นความจริงที่หลักคิดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นสามารถพัฒนาต่อไปเป็นภาพฝันของสังคมที่ดีบนฐานของปรัชญานั้นได้เช่นกัน ตัวอย่างที่สำคัญก็คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ อันเป็นการประยุกต์ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตร แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่ปฏิเสธได้ยากก็คือ SDGs นั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนทุกระดับตั้งแต่ผู้นำประเทศ นักวิชาการ นักธุรกิจ ภาคประชาสังคมไปจนถึงคนชายขอบ ฉะนั้น SDGs จึงเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่มีรายละเอียดครอบคลุมความต้องการของคนทุกกลุ่มที่สุดที่มีตอนนี้ และเป้าหมายเหล่านี้ก็มิได้ขัดกับภาพฝันของสังคมที่ดีบนฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด ฉะนั้นการใช้ SDGs เป็นเป้าหมายหากบรรลุได้ก็น่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับคนทุกกลุ่ม

นัยยะในเชิงการขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงก็คือ ทุกภาคส่วน มิใช่เพียงแต่ภาครัฐเท่านั้นแต่รวมถึงภาคเอกชนและภาคประชาสังคม จะต้องให้ความสำคัญกับการใช้ความรู้และข้อมูลในการขับเคลื่อนนโยบาย และมีคุณธรรมกำกับคือการพัฒนานั้นจะต้องโปร่งใส ไม่ทุจริตคอรัปชัน และไม่เบียดเบียนคนเล็กคนน้อยอย่างที่เคยเป็นมา ใช้ทรัพยากรอย่างพอประมาณ เปิดให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมใช้เหตุใช้ผลร่วมกันในการขับเคลื่อนและต้องวางแผนให้กระบวนการขับเคลื่อนSDGs สามารถรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศและระดับโลกได้

 ---------------------

อ.ชล บุนนาค

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) สกว.