ดีเบตแห่งศตวรรษ: ตลาด vs รัฐ

ดีเบตแห่งศตวรรษ: ตลาด vs รัฐ

เมื่อวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา ที่ ม.ปักกิ่ง ได้มีการจัดเวทีดีเบตในหัวข้อ “เอาไม่เอา

ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม” ระหว่างนักเศรษฐศาสตร์จีนชื่อดังสองท่าน คือ ศ.หลินอี้ฟู อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโลก ซึ่งสนับสนุนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมของรัฐบาลจีน และ ศ.จางเหวยหยิง ศาสตราจารย์ประจำ ม.ปักกิ่ง ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลจีน ยกเลิกยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมทั้งหมด!!

ก่อนหน้านี้ ทั้งสองฝ่ายได้เขียนบทความโต้ตอบกันในหน้าหนังสือพิมพ์ จนเกิดเป็นกระแสโด่งดังในโลกออนไลน์ การดีเบตสดครั้งนี้กินเวลายาวนานถึง 3 ชั่วโมงเศษ คลิปวิดีโอการดีเบตมีผู้ชมในโลกออนไลน์มากกว่า 1 ล้านคน หลายคนเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือนกับดีเบตระหว่าง Keynes vs Hayek ในวงวิชาการตะวันตกสื่อมวลชนจีนขนานนามว่าเป็นดีเบตวิชาการแห่งศตวรรษของจีน” ซึ่งอาจส่งอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ที่กำลังจะจัดประชุมใหญ่ในปีหน้า

ผมขอสรุปประเด็นสำคัญของนักวิชาการทั้งสองท่าน และผมจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในตอนท้าย

ศ.หลินอี้ฟู ชี้ว่า จีนจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์อุตสาหกรรม จึงจะประสบความสำเร็จ โดยเขาเสนอว่า

  • คำถามที่ถูกต้องไม่ใช่เอาไม่เอายุทธศาสตร์อุตสาหกรรม แต่เป็น ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่ดีควรเป็นอย่างไร?”
  • หัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ คือ การพัฒนาเทคโนโลยีและยกระดับอุตสาหกรรมแต่ปัญหาคือ ผู้ประกอบการที่จะบุกเบิกการใช้เทคโนโลยีใหม่หรือเข้าสู่อุตสาหกรรมใหม่มักต้องแบกรับความเสี่ยงสูงมาก เพราะจะต้องรับต้นทุนที่สูงในช่วงแรก ขณะที่หากประสบความสำเร็จ กลับจะมีคนตามกระแสเข้ามาแข่งขันด้วยเป็นจำนวนมาก ซึ่งย่อมทำให้กำไรลดลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงย่อมไม่คุ้มที่จะเสี่ยงลงทุนก่อนในตอนแรก ทุกคนย่อมจะเลือกอยู่เฉยๆ รอดูโอกาส สรุปก็คือจะไม่มีผู้ประกอบการที่กล้าเสี่ยงเพื่อบุกเบิกเทคโนโลยีใหม่หรืออุตสาหกรรมใหม่เลย ถ้าเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจก็จะติดกับดักรายได้ปานกลาง ไปไหนไม่ได้
  • ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม จะช่วยอุดหนุนผู้ประกอบการชุดแรกที่กล้าเข้าไปเสี่ยงในภาคอุตสาหกรรมใหม่ เช่น การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ฯลฯ นอกจากนั้น รัฐบาลยังต้องช่วยสนับสนุนและประสานให้เกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน (เช่น การสร้างนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน) และนำเข้าความรู้ทางเทคโนโลยีที่จำเป็น เพราะผู้ประกอบการชุดแรกย่อมไม่มีกำลังเพียงพอจะทำสิ่งเหล่านี้
  • ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่ล้มเหลวในอดีต เป็นเพราะไปส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ไม่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ (ไม่ดูว่าประเทศเก่งอะไร) เช่น พยายามพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในทันที ทั้งๆ ที่ประเทศตนยังยากจนและไม่มีทุนเพียงพอ ดังนั้น การยกระดับอุตสาหกรรมต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน ไม่ใช่จาก 1.0 จะไป 4.0 ในทันที

ส่วนศ.จางเหวยหยิงกลับมองว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมนี่แหละที่จะพาประเทศจีนลงเหว!! โดยเขาอธิบายว่า

  • ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมมีแต่จะล้มเหลว เพราะ 1) ความไม่รู้ของคน กล่าวคือ ข้าราชการผู้กำหนดยุทธศาสตร์ไม่มีทางรู้หรือคาดคิดได้เลยว่า เทคโนโลยีหรือภาคอุตสาหกรรมใดเหมาะสมจริงๆ 2)ความขี้โกงของคนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมทำให้แรงจูงใจของคนบิดเบี้ยว นักธุรกิจกับข้าราชการอาจเอื้อประโยชน์กันแสวงค่าเช่าทางเศรษฐกิจกลายเป็นทุนนิยมพวกพ้อง
  • ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้จริงๆ ว่าเทคโนโลยีหรือภาคอุตสาหกรรมขั้นต่อไปควรเป็นอะไร นั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่มีทางรู้ว่าใครจะเป็นผู้ประกอบการชุดแรกที่เข้าไปเสี่ยงในสิ่งใหม่ๆ (เพราะรัฐบาลไม่มีทางรู้ตั้งแต่แรกว่าสิ่งใหม่ที่เหมาะสมนั้นคืออะไร)
  • ถ้ารัฐบาลประกาศจะสนับสนุนผู้ประกอบการชุดแรกในอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นพิเศษ สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ จะมีผู้ประกอบการจำนวนมากแกล้งทำเป็นสนใจและเข้าร่วม เพียงเพื่อต้องการจะตักตวงเอาสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลผลคือ จะนำไปสู่การผลิตเกินตัว ยิ่งเมื่อใดก็ตามที่เลือกส่งเสริมผิดอุตสาหกรรม ธุรกิจจะไม่มีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริง หากรัฐบาลเลิกอุดหนุนเมื่อไร ก็คงล้มกันระเนระนาด รัฐบาลก็ยิ่งจะต้องทำการอุดหนุนหนักเข้าไปอีก ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายภาคอุตสาหกรรมของจีนที่ได้รับการสนับสนุนในปัจจุบัน
  • ศ.หลิน ไม่เข้าใจว่า ความกล้าเสี่ยงเป็นจิตวิญญาณของผู้ประกอบการในระบบที่มีการแข่งขันไม่จำเป็นต้องมีใครเอาอะไรมาล่อขอแค่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็งก็เพียงพอแล้ว
  • ศ.หลิน มองการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเส้นตรง มีความชัดเจนแน่นอนว่าแต่ละก้าวคืออะไร ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงก็คงกำหนดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมได้ แต่เนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่รวดเร็วและโลกาภิวัฒน์ การพัฒนาในยุคปัจจุบันไม่ได้เป็นเส้นตรง แต่ละพื้นที่ในประเทศจีนก็มีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบแตกต่างกัน ภายในจีนเองก็มีทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ล้าหลังและก้าวหน้า คนที่รู้จักความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบดีที่สุดคือ ตัวผู้ประกอบการเอง ที่รู้ว่าต้องบุกเบิกสิ่งใหม่ใดจึงจะทำกำไรได้

สนุกไหมครับ!!ของจริงสามชั่วโมงมีรายละเอียดและมันกว่านี้อีกครับ!! แต่ในเบื้องต้น ผมอยากให้ข้อสังเกต ดังนี้ครับ

หนึ่งศ.หลินอี้ฟู เน้นมองจากมุมความล้มเหลวของตลาด ส่วน ศ.จางเหวยหยิง เน้นมองจากมุมความล้มเหลวของรัฐ แต่ทั้งสองฝ่ายไม่ได้คิดว่ารัฐหรือตลาดวิเศษแต่เพียงอย่างเดียว ศ.หลินอี้ฟู เห็นว่า ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมจะล้มเหลวถ้าทำไม่สอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศ (เช่น ในภาคอุตสาหกรรมหนึ่งจะขยับจาก 1.0ไป 4.0 ในทันที) ขณะที่ ศ.จางเหวยหยิง คัดค้านยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่เลือกอุดหนุนภาคอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ไม่ได้คัดค้านบทบาทของรัฐในการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งในการกำกับดูแลให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด

สอง ผู้ประกอบการจะมีแรงจูงใจที่จะพัฒนาเทคโนโลยีหรือยกระดับอุตสาหกรรมด้วยตนเองหรือไม่ อยู่ที่ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมหลายประการ เช่น วัฒนธรรมผู้ประกอบการ (ความกล้าเสี่ยง) ในหมู่คนรุ่นใหม่ หรือพัฒนาการของระบบการเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ ฯลฯ

สามการยกระดับอุตสาหกรรม กับ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่อาจต้องใช้วิธีคิดที่แตกต่างกัน ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมในมุมของ ศ.หลินอี้ฟู เน้นที่การยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศกำลังพัฒนา โดยมีตัวอย่างที่ชัดเจนจากประเทศที่พัฒนามากกว่าว่าเทคโนโลยีในขั้นต่อไปควรจะเป็นอย่างไร ส่วน ศ.จางเหว่ยหยิง มองว่า นวัตกรรมใหม่ทั้งหลายที่ก้าวหน้าและยึดครองตลาดโลก ล้วนเกิดจากความริเริ่มสร้างสรรค์และความกล้าเสี่ยงของผู้ประกอบการทั้งสิ้น สิ่งสำคัญคือ ต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ผู้ประกอบการกล้าเสี่ยงที่จะริเริ่มอะไรใหม่ๆ โดยไม่ต้องพึงพิงสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลในสิ่งที่รัฐบาลคิดเองเออเองว่าจะเป็นอนาคต

สาเหตุที่การดีเบตครั้งนี้ร้อนแรงมาก ก็เนื่องจากจีนกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ ในหลายภาคอุตสาหกรรมล้วนไม่มีความชัดเจนว่าขั้นต่อไปควรจะเป็นอย่างไร และมีความเห็นตรงกันว่าจีนยังขาดผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนั้น ความล้มเหลวของนโยบายอุตสาหกรรมของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ยังทำให้มีการผลิตเกินตัวและความไม่เท่าเทียมผลคือเศรษฐกิจจีนเติบโตช้ากว่าแต่ก่อน จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์หัวก้าวหน้าอันมี ศ.จางเหวยหยิงเป็นผู้นำ ออกมาเรียกร้องว่าถึงเวลาที่จะต้องปฏิรูปโดยปลดหรือจำกัด “รัฐ” ออกจากตลาดเสียที