วันที่ AI พลิกโฉมประเทศจีน

วันที่ AI พลิกโฉมประเทศจีน

ในขณะนี้ AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) กลายมาเป็นคำศัพท์ฮอตฮิตที่สุด

เมื่อพูดถึงอนาคตของประเทศจีน!

“AI” หรือแนวคิดที่คอมพิวเตอร์จะฉลาดใกล้เคียงหรือทัดเทียมกับมนุษย์ ใช้กันครั้งแรกในวงการเทคโนโลยีของสหรัฐ เมื่อราว60ปี มาแล้ว แต่ในสมัยนั้น มักมองว่าเป็นความเพ้อฝันในหมู่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็กๆ (รวมถึงนักแต่งนิยายขายฝันเรื่องโลกอนาคต) ยิ่งในกลุ่มนักธุรกิจ ยิ่งไม่มีใครเห็นว่า AI จะเอามาใช้ประโยชน์อะไรในทางธุรกิจได้

แต่ในวันนี้ บริษัทเทคโนโลยีแนวหน้าของโลก ล้วนมีหน่วยวิจัยเรื่อง AI ขนาดมหึมา ไม่ว่าจะเป็น Google, Apple, Samsung, Amazonรวมไปถึง ยักษ์ใหญ่สายพันธ์จีนอย่าง Baiduผู้นำด้าน search engine ของจีนด้วย

Baidu ทุ่มทุนซื้อตัว Andrew Ng อดีตนักวิจัยชื่อดังของ ม.สแตนฟอร์ดและผู้ก่อตั้งทีมวิจัย AI ของ Google นับว่าช็อควงการเทคโนโลยีโลกเลยทีเดียวเมื่อ Andrew ย้ายค่ายมาเป็นหัวหน้าทีมนักวิจัยด้าน AI ของ Baidu เมื่อปี ค.ศ.2014 พร้อมกับประกาศก้องว่า เทคโนโลยี AI คืออนาคตของ Baidu และประเทศจีน

ด้วยการนำทีมของ Andrew ทำให้เทคโนโลยี AI ของ Baidu อยู่ในระดับเดียวกับเทคโนโลยี AI ของ Google และ Apple เลยทีเดียว แถมมีความเป็นไปได้ที่จะรุดหน้าชนิดติดจรวด ด้วยทุนหนา พร้อมกับได้รับการสนับสนุนเต็มที่จากรัฐบาล (ตามนโยบายพัฒนาเทคโนโลยี และสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลจีนกับ Baidu)

Andrew อธิบายว่า ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา เทคโนโลยี AI รุดหน้าไปเร็วมาก เพราะสององค์ประกอบ คือ 1) พลังการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังขึ้นมาก และ 2) Big Data หรือความสามารถในการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลของคนจำนวนมหาศาล

เมื่อใดที่นักวิจัยสามารถคิดรูปแบบและคำสั่งการวิเคราะห์ที่เหมาะสมได้ และให้คอมพิวเตอร์ใช้พลังการประมวลผลชั้นสุดยอดมาจับกับข้อมูลอันมหาศาล ผลก็คือจะทำให้ได้ AI หรือโปรแกรมอัจฉริยะชั้นยอดออกมานั่นเอง

Robert Li เจ้าของ Baidu มองว่า อินเตอร์เน็ตแบ่งเป็น 3 ยุค ยุคแรกเป็นยุคของอินเตอร์เน็ตในคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ ยุคที่สอง (ซึ่งตรงกับช่วงปัจจุบัน) เป็นยุคของอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ คืออินเตอร์เน็ตในสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตขนาดเล็ก ส่วนยุคที่สามที่กำลังจะมาถึง คือยุคอินเตอร์เน็ตที่ใช้เทคโนโลยี AI

เทคโนโลยี AI มีศักยภาพที่จะพลิกโฉมสินค้าเกือบทุกชนิด ตัวอย่างเช่น “The Echo” ลำโพงอัจฉริยะของ Amazon ที่เพิ่งเปิดตัวในสหรัฐฯผู้ใช้งานสามารถพูดให้คำสั่งเจ้าลำโพงนี้ได้ว่าจะให้ทำอะไร ให้ตอบคำถามให้เปิดเพลง หรือให้อ่านหนังสือให้ฟังก็ได้ โดยไม่ต้องใช้นิ้วมือจิ้มรีโมตอีกต่อไป ไม่ต้องใช้พาสเวิร์ดด้วย (เพราะลำโพงอัจฉริยะจำเสียงเจ้าของได้)

ลองคิดดู ถ้าเทคโนโลยี AI สามารถพลิกโฉมลำโพงได้ คงไม่ผิดที่จะกล่าวว่า ในอนาคต ธุรกิจใดจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว อยู่ที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อพลิกโฉมสินค้าของตนได้แค่ไหน ถูกใจผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหนส่วนบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี AI ที่มีประสิทธิภาพ ก็ย่อมทำรายได้มหาศาลในการขายเทคโนโลยีให้กับบริษัทต่างๆ

Baidu มองว่า สำหรับในประเทศจีน เทคโนโลยี AI จะสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ มหาศาล จะเปลี่ยนโฉมหน้าสินค้าเกือบทุกอย่าง นอกจากนั้น ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาหลายอย่างของสังคมจีนได้อีกด้วย

ในปัจจุบัน Baidu มีโครงการ AI ที่สำคัญ 3 โครงการด้วยกัน

โครงการแรก ก็คือ AI ขับรถได้เอง หรือก็คือ รถที่ไม่ใช้คนขับ แนวคิดเดียวกับ Self-Driving Car ของ Google แต่ตัว Baidu ออกมาคุยทับแล้วว่า จีนจะเป็นประเทศแรกที่มีการใช้ Self-Driving Car ได้จริงโดยตอนนี้ได้ร่วมมือกับเมืองอูหู มณฑลอันฮุย จัดโซนพิเศษสำหรับทดสอบเทคโนโลยี “BaiduCar” โดยจะไม่อนุญาตให้มีรถที่มีคนขับเข้าในโซนดังกล่าว เพื่อจะได้ศึกษาปัญหาและความเป็นได้ของแนวคิดรถที่ไม่ใช้คนขับอย่างจริงจัง

โครงการที่สองคือ AI รักษาโรคโดยในขั้นแรก Baidu ได้ออก Chatbot(โปรแกรมโต้ตอบอัตโนมัติ) ชื่อว่า “Melody” ที่สามารถซักถามข้อมูลอาการป่วยของคนไข้ผ่านทางโปรแกรม chat โดยรู้ว่าเมื่อคนไข้ตอบอะไรมาแล้ว โปรแกรมจะต้องถามอะไรต่อไป (เช่น ปวดหัวตั้งแต่เมื่อไร ตรงส่วนไหน มีอาการแทรกซ้อนอื่นใดบ้าง ฯลฯ)จากนั้นจะสรุปข้อมูลเบื้องต้น พร้อมแนะนำโรคที่อาจเป็นไปได้ให้กับแพทย์

Melody เป็นส่วนหนึ่งของ App ที่มีบริการทางการแพทย์ครบวงจร ชื่อว่า “Baidu Doctor” ซึ่งผู้ใช้งานสามารถหาข้อมูลแพทย์ในพื้นที่ใกล้เคียง และติดต่อกับแพทย์ผ่านทาง chat เพื่อแจ้งและปรึกษาอาการในเบื้องต้น รวมทั้งนัดแพทย์ผ่าน App ได้เลยหากมีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติม

ในอดีต คำถามที่คนไข้ถามแพทย์ผ่าน chat ใน App มักมีข้อมูลไม่เพียงพอให้แพทย์วินิจฉัย ซึ่งเสียเวลาแพทย์ต้องมานั่งคิดและพิมพ์ซักถามประวัติและอาการของคนไข้เพิ่มเติม แต่ในวันนี้ AI อย่าง Melody สามารถโต้ตอบกับคนไข้ได้เองโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากขึ้นและครบถ้วนตั้งแต่เริ่มแรก ช่วยให้แพทย์ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นมาก

ที่พูดมานี้เป็นพัฒนาการขั้นแรกของ AI แต่ Robert Li บอกว่าขั้นสุดยอดในอนาคต คือการพัฒนาให้ AI มีระดับความอัจฉริยะจนสามารถวินิจฉัยแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลได้ เช่น ในวิชาแพทย์ เราอาจรู้ว่า การทำคีโมในมะเร็งชนิดนี้จะได้ผลกับคน 10% ถ้าต่อไปเรามีข้อมูลผู้ป่วยมหาศาล และสามารถประมวลและวิเคราะห์ผลข้อมูลมหาศาลนี้ได้ เราก็จะพอรู้ว่า 10% นั้น มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ป่วยที่มีลักษณะยีนส์อย่างไรหรือมีปัจจัยแวดล้อมอย่างไร AI ก็จะสามารถแนะนำการทำคีโมให้กับกลุ่มผู้ป่วยที่เหมาะกับการทำคีโมจริงๆ

โครงการสุดท้าย คือ การพัฒนาให้ AI สามารถแยกแยะและเลียนเสียง หน้า และท่าทางคนได้โดยสร้างระบบให้ AI เรียนรู้ ประมวลและวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะเสียง หน้า และท่าทางมหาศาลของมนุษย์ ถ้าเทคโนโลยีด้านนี้รุดหน้า ก็จะพลิกโฉมวงการบันเทิงได้เลยทีเดียว ในอนาคตถ้าต้องการจ้างดาราสักคนมาเล่นหนัง ก็ไม่จำเป็นต้องพาไปเก็บตัวถ่ายหนังอีกต่อไปขอแค่ให้ดาราคนนั้นอนุญาตให้ผู้สร้างใช้เสียงและหน้าของเขา ที่เหลือเทคโนโลยี AI ก็สามารถสร้างหนังได้เองโดยอัตโนมัติ โดยทำให้เกิดภาพท่าทางต่างๆ ของดาราคนนั้น ประกอบกับเสียงของตัวดาราคนนั้น

แน่นอนครับว่า เทคโนโลยี AI ย่อมจะทำให้เกิดปัญหาที่น่าคิดเกี่ยวกับกฎหมายและนโยบายมากมาย เช่น รถที่ไม่มีคนขับเกิดอุบัติเหตุแล้วใครจะรับผิดชอบ? จะรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลคนไข้ที่พูดคุยกับ AI ได้อย่างไร? ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทเทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบจะต้องคิดหาแนวทางร่วมกับรัฐบาลด้วย

มีคนกล่าวว่า สงครามเย็นยุคเก่าคือการแข่งขันระหว่างโซเวียตกับสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ แต่สงครามเย็นยุคใหม่เป็นการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในเรื่องเทคโนโลยี AI เพราะเดิมพันมันสูงนะครับ ถ้า AI หมายถึงโฉมหน้าของอนาคตจริง ประเทศแรกที่พลิกโฉมได้สำเร็จย่อมจะเป็นผู้กำหนดรูปแบบว่า จะเอา AI มาใช้อย่างไร จะออกกฎและนโยบายควบคุม AI อย่างไร และถ้า AI กลายมาเป็นระเบียบเศรษฐกิจโลกใหม่จริง เดิมพันยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะใครชนะศึกนี้ไม่เพียงจะพลิกโฉมประเทศตัวเอง แต่ย่อมจะเป็นผู้พลิกโฉมโลกทั้งใบอีกด้วย