ผลประโยชน์จากปิโตรเลียม

ผลประโยชน์จากปิโตรเลียม

มีผู้กล่าวว่ารัฐควรเก็บผลประโยชน์จากปิโตรเลียมให้มากขึ้น ผู้เขียนเลยอยากจะเขียนเกี่ยวกับการเก็บผลประโยชน์

จากปิโตรเลียม หรือที่จริงแล้วคือจากบริษัทที่ผลิตปิโตรเลียม ว่าต่างจากการเก็บผลประโยชน์จากบริษัททั่วไปอย่างไร และจะวิเคราะห์ต่อว่า การเก็บให้มากขึ้นมีแต่ผลดีอย่างเดียวหรือมีผลเสียด้วย

ผลประโยชน์ที่รัฐเก็บจากบริษัทน้ำมันเมื่อมีการผลิตคือ 1. ค่าภาคหลวง(Royalty) 2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Income Tax) และ 3. ภาษีพิเศษต่างๆ (Special Remuneratory Benefits) โดยค่าภาคหลวงรัฐเก็บเป็นร้อยละของรายได้จากการขายปิโตรเลียม ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคลรัฐเก็บเป็นร้อยละของกำไร และภาษีพิเศษต่างๆ นั้น รัฐเก็บเป็นร้อยละของกำไร 

ภาษีพิเศษนี้คือภาษีต่างๆ นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลในระบบสัมปทาน ส่วนระบบสัญญาแบ่งผลผลิตนั้น ภาษีพิเศษนี้ก็คือ สัดส่วนของรัฐที่ได้จากการแบ่งกำไร ระหว่างรัฐและเอกชน (ขอให้สังเกตว่า ส่วนแบ่งของรัฐนี้ คิดเป็นร้อยละของกำไร ซึ่งก็เหมือนการเก็บภาษีนั่นเอง อาจจะมีความแตกต่างว่า ส่วนแบ่งของรัฐอาจเก็บเป็นปิโตรเลียมแทนที่จะเป็นตัวเงิน ในขณะที่ภาษีจะเก็บเป็นตัวเงิน แต่ก็มีหลายประเทศที่ใช้ระบบสัญญาแบ่งผลผลิตกำหนดให้บริษัทน้ำมันส่งส่วนแบ่งของรัฐเป็นตัวเงิน)

แล้วสำหรับบริษัททั่วไป รัฐได้ผลประโยชน์อะไรบ้าง ผลประโยชน์ที่รัฐได้จากบริษัททั่วไปคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งคิดเป็นร้อยละของกำไรของบริษัท

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า รัฐได้ผลประโยชน์จากบริษัทน้ำมันมากกว่าบริษัททั่วไปอยู่ 2 รายการ คือ ค่าภาคหลวงและภาษีพิเศษต่างๆ

ทำไมรัฐจึงสามารถเก็บผลประโยชน์เหล่านี้ได้ และบริษัทน้ำมันก็ยอมที่จะจ่ายด้วย เหตุผลก็คือ รัฐเป็นเจ้าของปิโตรเลียม (ตามกฎหมาย) และหากไม่มีทรัพยากรปิโตรเลียมบริษัทน้ำมัน ก็ไม่สามารถจะดำเนินการและทำกำไรได้ ซึ่งต่างจากบริษัททั่วไปซึ่งเขาสามารถหากำไรได้ด้วยการทำกิจการของเขาเองไม่ต้องพึ่งทรัพยากรของรัฐ

เมื่อรัฐสามารถเก็บผลประโยชน์จากบริษัทน้ำมันได้มากกว่าบริษัททั่วไปแล้ว คำถามต่อไปก็คือ รัฐควรจะเก็บผลประโยชน์เป็นสัดส่วนเท่าใด

เพื่อตอบคำถามนี้ แรกสุดต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “สัดส่วน” ที่กล่าวข้างต้นเป็นสัดส่วนของอะไร มีบางคนกล่าวว่าควรเป็นสัดส่วนของรายได้จากการขายปิโตรเลียมแต่บางคนกล่าวว่าควรเป็นสัดส่วนของกำไร (คือรายได้จากการขายหักด้วยค่าใช้จ่าย) เราควรจะเลือกแบบไหนดี

มีบทความหนึ่งกล่าวว่ามีประเทศหนึ่ง รัฐเก็บผลประโยชน์ 90% ของรายได้ ที่เหลืออีก 10% เป็นของบริษัทน้ำมัน (ผู้เขียนขอไม่เอ่ยถึงชื่อของผู้เขียนบทความ) ถ้าเป็นจริงตามนี้ บริษัทน้ำมันอาจยังได้กำไรอยู่หากค่าใช้จ่ายไม่ถึง 10% ของรายได้ ส่วนจะได้กำไรพอที่จะดึงดูดบริษัทน้ำมันให้มาลงทุนหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่ถ้าหากค่าใช้จ่ายเป็น 20% หรือ 30% ของรายได้ หรือสูงกว่านั้น ก็คงบอกได้ทันทีว่าคงไม่มีบริษัทน้ำมันไหนมาลงทุน ประเด็นหลักตรงนี้คือ ค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นเป็นเรื่องของอนาคต ไม่มีใครตอบได้ว่าจะเป็นเท่าใด จนกว่าจะมีการใช้จ่ายจริง

ดังนั้น การไปกำหนดว่า รัฐควรจะได้ผลประโยชน์เป็นสัดส่วนคงที่ของรายได้ โดยยังไม่ทราบค่าใช้จ่าย ก็จะทำให้รัฐเสียผลประโยชน์สถานเดียว เพราะถ้ากำหนดให้สัดส่วนต่ำเกินไป รัฐก็ได้ผลประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หรือหากกำหนดให้สัดส่วนสูงเกินไป ก็จะไม่เกิดการลงทุนเพราะบริษัทน้ำมันเห็นว่าไม่คุ้มค่าการลงทุน ซึ่งก็จะทำให้รัฐไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลยเพราะไม่มีการผลิต ดังนั้น จึงไม่ควรกำหนดผลประโยชน์ของรัฐเป็นสัดส่วนของรายได้

เมื่อไม่ควรกำหนดผลประโยชน์ของรัฐเป็นสัดส่วนของรายได้ ก็เหลืออยู่ทางเลือกเดียวคือกำหนดเป็นสัดส่วนของกำไร แต่การกำหนดผลประโยชน์ของรัฐเป็นสัดส่วนของกำไร (การเรียกเก็บภาษี) ก็ควรจะกำหนดให้มีความยืดหยุ่น เพราะหากกำหนดให้ผลประโยชน์ของรัฐเป็นสัดส่วนคงที่ของกำไร อาจทำให้บริษัทไม่ได้กำไรอย่างที่ต้องการ ก็จะไปลงทุนที่อื่นแทน รัฐก็ไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย หรือรัฐได้ผลประโยชน์น้อยกว่าที่ควรจะเป็นการกำหนดให้สัดส่วนผลประโยชน์ของรัฐ (เมื่อเทียบกับกำไร) ยืดหยุ่น จะทำให้ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ทั้งกรณีที่เป็นแหล่งปิโตรเลียมที่ทำยาก ซึ่งหมายถึงมีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยของปิโตรเลียมที่ผลิตได้สูง ทำให้กำไรต่อหน่วยน้อย หรือกรณีที่เป็นแหล่งที่ทำง่าย ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยต่ำ

ผู้เขียนขอให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับค่าภาคหลวงซึ่งเก็บเป็นร้อยละของรายได้ และรัฐบาลประเทศต่างๆ ยังใช้อยู่ ทั้งนี้ เพราะเป็นการประกันว่ารัฐจะมีรายได้แน่ๆ เมื่อมีการผลิต แต่รัฐส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เก็บในอัตราที่สูง และเมื่อนำรายได้จากค่าภาคหลวงของรัฐไปรวมกับภาษีต่างๆ แล้วเทียบกับกำไร ก็ยังอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ทำให้เสียบรรยากาศการลงทุน

จากที่กล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าการเก็บผลประโยชน์ของรัฐจะเก็บมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสถานภาพของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม ไม่อาจกำหนดได้ตามอำเภอใจ เพราะหากอยากจะเก็บมากอย่างเดียวแต่ไม่มีแหล่งปิโตรเลียมที่เหมาะสมให้เก็บมากได้ ก็จะทำให้ไม่การลงทุนเพื่อผลิต รัฐก็จะไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย

จึงสรุปได้ว่า ปัจจุบันทุกประเทศรวมทั้งประเทศไทย มีวิธีเก็บผลประโยชน์จากบริษัทน้ำมันอย่างที่ควรจะเป็นอยู่แล้ว คือเก็บมากกว่าบริษัททั่วไป แต่ทั้งนี้ ควรเก็บเป็นสัดส่วนของกำไร (ไม่ใช่รายได้) โดยเก็บมากหรือน้อยควรให้ยืดหยุ่นตามสภาพของแหล่งปิโตรเลียม

--------------

ดร.โยธิน ทองเป็นใหญ่

นักวิชาการอิสระ