สะดวกทำธุรกิจ

สะดวกทำธุรกิจ

รายงานผลการวิจัย ประเทศที่มีความสะดวกการเข้าไปประกอบธุรกิจ (Doing Business 2017)

 ซึ่งเป็นการสำรวจความยากง่ายการประกอบธุรกิจ ของประเทศสมาชิกของธนาคารโลกจำนวน 190 ประเทศ ปรากฏว่า “ไทย” ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่ 46 จากปีก่อนที่อันดับ 49 ปรับดีขึ้น 3 อันดับ คะแนนรวมทุกด้าน 72.53 คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ได้ 71.65 คะแนน ถือว่ามีคะแนนขยับเข้าใกล้กลุ่มประเทศ ที่มีความสะดวกในการทำธุรกิจมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) มากขึ้น

ธนาคารโลก ระบุว่า ไทยมีผลจัดอันดับดีขึ้นใน 5 ด้าน ได้แก่ การเริ่มต้นธุรกิจ จากอันดับที่ 96 เป็นอันดับที่ 78 ด้านการได้รับสินเชื่อ จากอันดับที่ 97 มาเป็นอันดับที่ 82 ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนจากอันดับที่ 36 มาเป็นอันดับที่ 27 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลงจากอันดับที่ 57 มาเป็นอันดับที่ 51 และด้านแก้ไขปัญหาล้มละลายจากอันดับที่ 49 มาเป็นอันดับที่ 23 ซึ่งการปรับปรุงบริการภาครัฐของไทยที่ธนาคารโลกมองว่าเป็นการปฏิรูปที่สำคัญมี 3 ด้าน คือ เริ่มต้นธุรกิจซึ่งใช้ระบบออนไลน์ยื่นจดทะเบียนธุรกิจอย่างเป็นระบบ การได้รับสินเชื่อที่ใช้ระบบประเมินคะแนนเครดิตบูโร ทำให้ธนาคารพาณิชย์ตัดสินใจให้สินเชื่อง่ายขึ้น และการแก้ปัญหาล้มละลาย ที่ชัดเจนเรื่องการออกกฎหมายเพื่อให้ความมั่นใจแก่นักลงทุน การได้รับเงินคืนหลังการฟ้องร้อง รวมทั้งลดขั้นตอนฟ้องร้อง ซึ่งขณะนี้ไทยได้คะแนนแก้ไขปัญหา และกฎหมายล้มละลายของธุรกิจสูงสุดในอาเซียน คือ อันดับที่ 23 ถือเป็นการพัฒนาก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตาม ไทยมีเป้าหมายขยับอันดับจาก 49 ขึ้นไปอยู่ที่ 30 กว่า หรือเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีก 7 อันดับ เรื่องนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดูแลขับเคลื่อนงาน Doing Business จะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหารือถึงแนวทางยกระดับการให้บริการภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจให้ได้มากขึ้น และมีเป้าหมายกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีว่า ต้องขยับไปอยู่ที่ 2 ของอาเซียนภายในปี 2564 จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย

ขณะที่ ธนาคารโลกแนะไทยว่า หากต้องการขยับอันดับขึ้น ควรต้องแก้ไข 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1.ปรับปรุงระบบภาษี ซึ่งยังซ้ำซ้อน ใช้เวลาขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลานาน 2.พัฒนาระบบวัน สต็อป เซอร์วิส ตั้งศูนย์คำขออนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อรับเรื่องการขอจัดตั้งธุรกิจ พัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานราชการต่างๆ ให้ใช้งานได้จริง 3. แก้ปัญหาขออนุญาตก่อสร้าง และขออนุญาตใช้ไฟฟ้าที่ปัจจุบันยังคงล่าช้าใช้เวลาติดตั้งมิเตอร์ 37 วัน และมีต้นทุนดำเนินการสูงกว่าประเทศอื่น

ดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่ดี ส่งผลโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ ที่เมื่อมีความคล่องตัวทำธุรกิจเพิ่ม ก็น่าจะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องมองให้รอบด้านครอบคลุม โดยเฉพาะไม่ควรลืมผู้ประกอบการในไทย ที่ยังต้องการความคล่องตัวในการทำธุรกิจเหมือนกัน และควรได้รับอย่างทัดเทียมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านักลงทุนต่างชาติ เพราะสิ่งที่ยังเป็นปัญหา เป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการในไทยหลายเรื่องยังรอการแก้ไข ซึ่งปัญหาก็ไม่ต่างจากที่นักลงทุนต่างชาติต้องเจอ.....  

 ..............................

[email protected]