ความจริงที่เฟดเอง.. ก็ยังไม่รู้

ความจริงที่เฟดเอง.. ก็ยังไม่รู้

ไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะเห็นประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด นางเจเน็ต เยลเลน ออกมากล่าวสุนทรพจน์แบบบอกตามตรงเลยว่า

ตัวเธอรวมถึงตัวเฟดเอง มีสิ่งที่ยังไม่แน่ใจในตัวเศรษฐกิจสหรัฐอยู่อย่างน้อย 3 ประการ ดังนี้

หนึ่ง อย่างที่ทราบกันดีว่า ในตอนนี้ ระดับผลผลิตที่เศรษฐกิจสหรัฐสามารถเติบโตได้แบบเต็มศักยภาพหรือที่เรียกว่า Potential Output ต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤตซับไพร์มอยู่กว่าร้อยละ 7 โดยกูรูทั้งหลายพากันหาคำอธิบายกันอย่างหลากหลายบ้างก็ว่ามาจากการที่เศรษฐกิจสหรัฐยังเมาหมัดมาจากตอนที่เศรษฐกิจทรุดแบบหนักสุดในช่วงปี 2009 จึงทำเกิดอาการแฮงก์ไม่เลิก บ้างก็ว่ามาจากการที่แรงงานชาวสหรัฐไม่นิยมเข้ามาในตลาดแรงงานเนื่องจากติดชีวิตแบบชิวๆ รับแต่เงินสวัสดิการและหาอะไรทำแบบเล็กๆน้อยๆไปเรื่อย ไม่เน้นทำงานประจำสไตล์ฟรีแลนซ์แบบติสต์ ถึงขนาดมีหนังสือที่แนะนำโดยนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรมว.คลังสหรัฐ ชื่อ ‘Men without Work’ เขียนทำนองว่าชาวอเมริกันวัยทำงานจำนวนเยอะมากมีไลฟ์สไตล์แนวนี้ จนอาจมีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างในระยะยาวก็เป็นได้

ทีนี้ นางเยลเลนเห็นท่าไม่ดีแน่ หากยังไม่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้แรงงานสหรัฐเลิกชิวแล้วหันกลับมาทำงานในตลาดแรงงานแบบจริงจัง จึงตั้งใจจะสร้างเศรษฐกิจที่เรียกกันว่า ‘High Pressure Economy’โดยแนวคิดนี้คือต้องกระตุ้นระดับอุปสงค์ของสินค้าและบริการของสหรัฐให้มีสูงมากๆ เพื่อกระตุกให้ยอดขายของร้านค้าต่างๆเติบโตอย่างรวดเร็ว จนตลาดแรงงานในสหรัฐเกิดภาวะขาดผู้ใช้แรงงานมากๆ จนต้องเพิ่มเงินเดือนให้ล่อแรงงานรายใหม่ๆเข้ามาในตลาด ซึ่งจะทำให้ระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจสูงขึ้นอีกทั้งการที่อุปสงค์สูงมากๆ นางเยลเลนหวังว่าจะไปกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนาของบริษัทในภาคเอกชนได้ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับผลผลิตเติบโตทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ ทว่า นางเยลเลนก็ยังไม่รู้ว่าตรรกะตามแนวทางนี้ จะเกิดเป็นจริงแบบเป็นรูปธรรรมหรือไม่

สอง หากใครเคยเรียนปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ โดยที่ทำวิทยานิพนธ์เน้นไปทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเชิงปริมาณ หัวข้อหนึ่งที่แทบทุกคนหลีกเลี่ยง ได้แก่การประยุกต์ความหลากหลายของโปรไฟล์ของผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภค(Heterogeneity) เพื่อมาสร้างแบบจำลองทางเศรษฐกิจ เนื่องจากต้องบอกตามตรงว่าโอกาสไม่จบการศึกษาสูงมาก เพราะถือว่ายากมากในการทำให้ได้ผลลัพธ์ที่สามารถอธิบายโลกเศรษฐกิจในความจริง ตัวผู้เขียนเองยอมรับเลยว่า เป็นคนหนึ่งสมัยเรียนท่ีหาญกล้าลองไปทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อนี้อยู่หลายเดือน แต่ก็ต้องยอมเปลี่ยนหัวข้อใหม่ เนื่องจากเห็นทางข้างหน้าแล้วไม่สดใส ความจริงข้อนี้ เป็นสิ่งที่นางเยลเลนพูดถึงเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือไม่มีใครอยากทำวิจัยในหัวข้อที่กล่าวถึงนี้ จนทำให้ความรู้ตรงจุดนี้หยุดอยู่นิ่งมาเกือบ 20 ปี จนนักวิชาการทั้งหลายไม่สามารถประเมินเศรษฐกิจได้ดีเท่าไรนัก ที่เป็นตัวอย่างชัดๆ ซึ่งนางเยลเลนชี้ให้เห็นคือในปัจจุบัน ชาวอเมริกันมีระดับความไม่กล้าใช้จ่ายมากกว่าตามที่แบบจำลองทางเศรษฐกิจของนักวิชาการประเมินไว้ เพราะในโลกแห่งความจริง การที่ราคาบ้านลดลงจากเดิมมาก ทำให้ชาวอเมริกันมีมูลค่าบ้านที่เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการกู้เงินซื้อบ้านต่ำกว่ามูลหนี้ ซึ่งตรงนี้ทำให้ชาวอเมริกันลดการใช้จ่ายมากกว่าที่นักวิชาการคาดการณ์ไว้

สาม นางเยลเลนบอกกล่าวแบบดื้อๆเลยว่าแม้แต่เฟดเอง ถึงตรงนี้ ก็ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นตัวกำหนดอัตราเงินเฟ้อ แม้จะเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดสำหรับธนาคารกลางก็ตาม สิ่งที่นางเยลเลนบอกว่าไม่เข้าใจจริงๆคือว่าทำไมในช่วง 2-3 ปีนี้ อัตราเงินเฟ้อจึงขยับขึ้นและลงเป็นช่วงที่แคบมากๆแบบไม่ไปไหนไกล ซึ่งตัวเธอเองได้แต่ตั้งสมมติฐานว่ามาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง อาทิ บทบาทของโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้การขึ้นราคาของพ่อค้าทำได้ยากขึ้นเพราะผู้ซื้อสามารถหาซื้อได้จากร้านค้าต่างๆทั่วโลกทางอินเตอร์เน็ต หรืออย่างบทบาทของแบรนด์ต่างๆซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ ทำให้ผู้ขายไม่สามารถขึ้นราคาได้ตามชอบใจ ดูอย่างไอโฟนรุ่นใหม่ที่ราคาเท่ากับรุ่นเก่าแต่ความจุเยอะกว่า จนทำให้อำนาจการขึ้นลงราคาที่สะท้อนตามสภาพตลาดว่าขายดีหรือไม่ สามารถทำได้ยากมากในยุคนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้นางเยลเลนก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้อย่างชัดเจนอยู่เช่นกัน

โดยสรุป คือ ความรู้ที่ดีที่สุด คือ การที่รู้ตัวว่าตัวเองยังไม่รู้อะไรบ้าง รวมถึงควรดำเนินวิถีชีวิตด้วยปรัชญาเศรษฐกิจแบบพอเพียงตามรอยพ่อหลวงของแผ่นดินไทยครับ